xs
xsm
sm
md
lg

เอ็มเทคหนุนตั้ง "สถาบันพลาสติกไทย" เปิดแล็บวิเคราะห์สินค้าก่อนส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอ็มเทคเตรียมประสาน 3 สมาคมพลาสติกไทย ฟอร์มทีม "สถาบันพลาสติกไทย" เป็นแกนกลางอุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศ ประชันการแข่งขันตลาดโลก เชื่อปีนี้น่าจะแล้วเสร็จหลังของบรัฐ 40 -50 ล้านตั้งสถาบัน แจงพร้อมเต็มที่เพื่อเป็นศูนย์วิเคราะห์ทดสอบในเบื้องต้น ก่อนหารือเพื่อขยับไปสู่การพัฒนากำลังคน และจัดทำฐานข้อมูลการแข่งขันระดับสากลในอนาคต

ดร.กฤษฎา สุชีวะ รองผอ.ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 ก.พ.51 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กรุงเทพฯ ว่า เอ็มเทคกำลังให้การสนับสนุนในการจัดตั้งสถาบันพลาสติกไทยขึ้น โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย และสมาคมพลาสติกชีวภาพเป็นแกนหลักของสถาบัน คาดว่าจะก่อตั้งได้แล้วเสร็จภายในปี 51 นี้

ดร.กฤษฎา ชี้ว่า การจัดตั้งสถาบันดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้มีการพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศไทยมากขึ้น มีการจัดทำฐานข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ซึ่งไทยมีตลาดส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ต้องพึ่งพาพลาสติกจำนวนมาก

นอกจากนั้น จากการที่รัฐบาลส่งเสริมการผลิตอีโค-คาร์ ก็ทำให้ผู้ประกอบการต่างให้ความสนใจการใช้พลาสติกผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สูงขึ้น อีกทั้งไทยยังมีอุตสาหกรรมพลาสติกเพื่อผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการส่งออกจำนวนมหาศาลต่อปี และกระแสการใช้บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ที่สหภาพยุโรปกำลังเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นใน 1-2 ปีนี้

ดร.กฤษฎา มองด้วยว่า กระแสเติบโตของอุตสาหกรรมพลาสติกจะคงมีมากขึ้นต่อไปเรื่อยๆ นับสิบปีต่อจากนี้ ซึ่งการจัดตั้งสถาบันดังกล่าวจะต้องมีหารือเรื่องหน่วยงานกลาง และจะต้องประสานไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในกระทวงอุตสาหกรรมด้วย เชื่อว่าอาจต้องขอรับการสนับสนุนจากรัฐราว 40 -50 ล้านบาทเพื่อจัดตั้งสถาบัน

เบื้องต้น เอ็มเทคได้เสนอความร่วมมือในด้านการจัดทำห้องแล็บวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานสินค้า ซึ่งเอ็มเทคถือเป็นหน่วยงานที่มีเป้าหมายและความพร้อมในด้านดังกล่าวมากที่สุดของประเทศ ที่ผ่านมาได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการประกอบชิ้นส่วนนำเข้าเพื่อประกอบเป็นเครื่องจักรฉีดพลาสติกแบบใช้แก๊สและน้ำเพื่อลดต้นทุนแก่ผู้ประกอบแล้ว โดยประหยัดกว่าการนำเข้าเครื่องละ 10 -15 ล้านบาทได้มากกว่าครึ่ง

อย่างไรก็ตาม ดร.กฤษฎา ชี้ว่า เทคโนโลยีดังกล่าวของไทยจะยังไม่ถึงขั้นการวิจัยพัฒนาเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมพลาสติกขึ้นใช้เอง เพราะขาดทั้งเทคโนโลยี บุคลากร และวัตถุดิบการผลิต โดยอุตสาหกรรมพลาสติกไทยยังพัฒนาได้เพียงเครื่องจักรกลขนาดเล็กเท่านั้น ที่ผ่านมาประเทศไทยจึงอยู่ในฐานะผู้นำเข้าเทคโนโลยีมาใช้ โดยยังห่างชั้นกับประเทศผู้ผลิตรายสำคัญคือเยอรมนีและญี่ปุ่นมาก

แต่เมื่อมีการจัดตั้งสถาบันขึ้น เอ็มเทคก็สามารถเข้าไปเป็นตัวกลางระหว่างบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีจากต่างชาติและภาคเอกชนของไทยที่ซื้อเครื่องจักรมาใช้เพื่อให้เกิดการใช้งานเครื่องจักรนำเข้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุดต่อไป

ทว่า ในส่วนของงานวิจัยพัฒนาพลาสติกของเอ็มเทคหลังการเปลี่ยนรัฐบาลนั้น เอ็มเทคยังไม่ได้รับนโยบายหรือแนวทางการทำวิจัยใดๆ จากเจ้ากระทรวงคนใหม่ คือ นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง เลย

ทั้งนี้ ในวันที่ 5 มี.ค.51 เอ็มเทคจะร่วมกับ บ.รี้ด เทรดเด็กซ์ สถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทางอุตสาหกรรม และวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการสัมมนา "อินเตอร์พลาส ฟอรัม ครั้งที่ 4" ขึ้น ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ เพื่อยกประสิทธิภาพกระบวนการผลิตพลาสติกไทยเพื่อการแข่งขันอย่างยั่งยืนในตลาดโลกด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น