xs
xsm
sm
md
lg

ไปดู "มาสด้า5" ใช้ไฮโดรเจน-พลาสติกชีวภาพที่งาน EcoInnovAsia 3-5 ต.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มาสด้า5 รถยนต์ใช้ไฮโดรเจน-พลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะนำมาจัดแสดงภายในงาน อีโคอินโนเวเชีย
เตรียมไปดูรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนของมาสด้า ซึ่งตกแต่งภายในด้วยพลาสติกชีวภาพ พร้อมชมผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพที่หลากหลาย อาทิ โทรศัพท์มือถือ แก้วน้ำ ช้อน ส้อม และบัตรเครดิต เป็นต้น

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) แถลงข่าวจัดการประชุมนานาชาติทางด้านเชื้อเพลิงชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ "อีโคอินโนเวเชีย2008" (EcoInnovAsia 2008) ระหว่างวันที่ 3-5 ต.ค. ณ ศูนย์การกระชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุนการจัดงานเข้าร่วมแถลงข่าวที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 13 ส.ค.51

ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวในการแถลงข่าวว่า การประชุมนานาชาติครั้งนี้จะเป็นโอกาสของไทยในการก้าวสู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจทางด้านพลาสติกชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ โดย 4 ปีที่ผ่านมา สนช.ได้พยายามหาข้อมูลด้านพลาสติกชีวภาพและวัสดุชีวภาพ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาในประเทศไทย

การจัดงานครั้งนี้ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ระบุว่า เป็นผลสืบเนื่องจากการจัดนิทรรศการและการประชุมนาวิชาการระดับนานาชาติ "อินโนไบโอพลาสต์ 2006" (InnoBioPlast 2006) ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นงานประชุมนานาชาติทางด้านอุตสากรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำของพลาสติกชีวภาพ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย โดยทั่วโลกมีความต้องการพลังงานโดยเฉพาะเชื้อเพลงิจากชีวมวล และไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการด้านวัตถุดิบชีวมวลที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นพลังงานเพื่อความมั่นคงของประเทศต่อไป

ทางด้าน ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า การประชุมอีโคอินโนเวเชียนี้เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากงานอินโนไบโอพลาสต์ โดยการประชุมนานาชาติครั้งล่าสุดนี้มุ่งหวังให้เกิดการลงทุนใหม่บนธุรกิจฐานความรู้ โดยเฉพาะด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ไอโอเอทานอล ไบโอดีเซล และพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น โดยการประชุมนี้มีวิทยากรจากภาคอุตสาหกรรมและภาควิจัย 35 คน จากทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ เยอรมนี และบราซิล เข้าร่วมบรรยายตั้งแต่ประเด็นการวิจัยและพัฒนา ไปจนถึงการวิเคราะห์โอกาสการตลาดและการลงทุน ที่สำคัญยังมีหัวข้อที่เจาะลึกด้านโอกาสการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับชีวมวลในประเทศไทยด้วย

ส่วน นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย ระบุกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ภายหลังการแถลงข่าวว่า อุปสรรคในการพัฒนาพลาสติกชีวภาพของไทยขณะนี้ คือยังขาดเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนกรดแลคติกซึ่งได้จากผลิตผลทางการเเกษตร ไปเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพ แต่ไทยมีความพร้อมต้งแต่วัตถุดิบที่มีเพียงพอ ไปจนถึงอุตสาหกรรมการแปรรูปพลาสติกอยู่แล้ว

นายกสมาคมพลาสติกชีวภาพยังกล่าวในตอนหนึ่งระหว่างแถลงข่าวว่า งานประชุมนานาชาติที่จะจัดขึ้นนี้ เป็นงานที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาพลาสติกชีวภาพในไทยได้เป็นอย่างดี และให้ต่างชาติได้เห็นว่าไทยก็มีการส่งเสริมพลาสติกชีวภาพด้วย อีกทั้งทางสมาคมพลาสติกชีวภาพไทยจะได้ลงนามความร่วมกับสมาคมพลาสติกชีวภาพญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพอย่างเป็นทางการ

สำหรับนวัตกรรมตัวอย่างซึ่งถือเป็นไฮไลท์ที่จะจัดแสดงภายในงานประชุมทางด้านเชื้อเพลิงชีวภาพและพลาสติกชีวภาพนี้คือ รถยนต์มาสด้า5 ไฮโดรเจน อาร์อี ไฮบริด (Mazda5 Hydrogen RE Hybrid) ของบริษัทมาสด้า มอเตอร์ คอร์เปอเรชัน โดยรถยนต์ดังกล่าวเป็นรถยนต์ที่ใช้ได้ทั้งน้ำมันเฃื้อเพลิงและไฮโดรเจน อีกทั้งภายในยังตกแต่งด้วยพลาสติกชีวภาพ และเส้นใยธรรมชาติที่ผลิตจากพืช 100%

นางสุรีทิพย์ ละอองทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ได้รับการติดต่อให้นำนวัตกรรมเข้าร่วมแสดงภายในการประชุมนานาชาติทางด้านเชื้อเพลิงชีวภาพและพลาสติกชีวภาพนี้ โดยความมุ่งหวังในการมีส่วนร่วมนี้คือ ปลุกกระแสผู้บริโภคว่าการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมไม่ได้ลำบากอย่างที่คิด และเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมก็มีคุณภาพเทียบเท่ากับเทคโนโลยีที่ใช้กับทั่วไป

ทั้งนี้มาสด้าได้พัฒนารถยนต์ไฮบริดตั้งแต่ปี 2534 และสำหรับรถยนต์มาสด้า5 นี้ได้เริ่มทำเชิงพานิชที่ประเทศญี่ปุ่น โดยได้ขายในลักษณะให้เช่าเพื่อการศึกษา เนื่องจากยังไม่มีปั๊มไฮโดรเจนให้บริการอย่างครอบคลุม อย่างไรก็ดีได้มีการตกแต่งภายในรถยนต์ของมาสด้ารุ่นอื่นๆ ด้วยพลาสติกชีวภาพด้วย และกำลังอยู่หว่างการศึกษาเพื่อลดปริมาณการใช้เหล็กให้น้อยลงแต่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น

นอกจากรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนที่เป็นไฮไลท์ของงานแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพอื่นๆ อาทิ โทรศัพท์มือถือจากพลาสติกชีวภาพ ของบริษัท เอ็นอีซี คอร์ปเปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น พลาสติกชีวภาพเพื่อดูดซับน้ำใต้ดินสำหรับเตรียมพื้นที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น สนามบินนานาชาติ โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น จากบริษัท ยูนิชิกะ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงผลิตภัณฑ์จากการสนับสนุนของ สนช. อาทิ แก้วน้ำ ช้อน ส้อม แปรสีฟัน และบัตรเครดิต เป็นต้น

การจัดประชุมนานาชาติทางด้านเชื้อเพลิงชีวภาพและพลาสติกชีวภาพนี้ ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับบเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (Un-ESCAP) สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) องค์การความร่วมมือทางวิชาการเยอรมัน-ไทย (GTZ) เครือซีเมนต์ไทย และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
การแถลงข่าวจัดงาน อีโคอินโนเวเชีย
ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช.
กำลังโหลดความคิดเห็น