xs
xsm
sm
md
lg

ไทยร่วมมือเยอรมัน ติวเข้มบัณฑิตใหม่ป้อนโรงงานแป้งมันสำปะหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน (ขวา) และ มร.เดวิด โอเบอร์ฮูเบอร์ จับมือกันเป็นสัญญาณของความร่วมมือกันภายหลังลงนามความร่วมมือโครงการ พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านพลังงานและทรัพยากรสำหรับอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง ระหว่าง สวทช. และ GTZ
สวทช. ร่วมมือกับ GTZ ทุ่มงบ 10 ล้านบาท ติวเข้มบัณฑิตใหม่ นักวิจัย และผู้ประกอบการโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง หวังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการสูญเสียทรัพยากร รองรับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพที่จะเฟื่องฟูในอนาคต ตั้งเป้าดึงแป้งออกจากหัวมันให้ได้เพิ่มขึ้น 5% ส่งผลโรงงานมีรายได้กลับคืนหลายสิบล้าน ยิ่งเพิ่มราคารับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกร

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนามความร่วมมือในโครงการ "พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านพลังงานและทรัพยากรสำหรับอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง" กับ มร.เดวิด โอเบอร์ฮูเบอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน หรือจีทีแซด (GTZ) ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 28 เม.ย.52 ที่ผ่านมา

"โครงการความร่วมมือนี้มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้การใช้พลังงานและทรัพยากรในกระบวนการผลิตได้อย่างอย่างคุ้มค่าและลดการสูญเสีย ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนการผลิตได้ ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศในตลาดโลก และช่วยเพิ่มศักยภาพของบุคลากรแรงงานในประเทศไทยให้มีทักษะในวิชาชีพและทักษะเชิงวิชาการมากยิ่งขึ้น สามารถพัฒนาตนเองไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือพัฒนาไปสู่ภาคธุรกิจอื่นๆ และช่วยลดปัญหาการว่างงานได้" รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าว

ด้าน ดร.วรินธร สงคศิริ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ซึ่งร่วมดำเนินงานในโครงการนี้ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า ประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งในด้านการผลิตและส่งออกแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อาหารสัตว์ พลังงาน รวมถึงสามารถใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพที่จะมีความต้องการมากขึ้นในอนาคตด้วย ฉะนั้นเราจึงต้องทำให้มีคุณภาพดีตั้งแต่กระบวนการผลิตวัตถุดิบเริ่มต้นด้วยการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวต่ออุตสาหกรรมนี้

"ปัจจุบันในไทยมีโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังประมาณ 60-70 โรงงาน โดยส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลางที่มีกำลังการผลิตราว 150-200 ตันต่อวัน และมีโรงงานขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง โดยเฉลี่ยแล้วโรงงานจะสามารถผลิตแป้งมันสำปะหลังได้ราว 80% ของวัตถุดิบ แต่หากเราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของโรงงานให้สามารถดึงเอาแป้งมันออกมาจากมันสำปะหลังได้เพิ่มขึ้นเป็น 85% จะช่วยลดการสูญเสียของโรงงานได้ และเพิ่มมูลค่ากลับคืนมาได้ถึง 21 ล้านบาทต่อปี สำหรับโรงงานที่มีกำลังการผลิต 200 ตันต่อวัน" ดร.วรินธร ให้รายละเอียด

นักวิจัยอาวุโสของไบโอเทคให้ข้อมูลอีกว่า ขณะนี้โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังหลายแห่งมีการนำน้ำเสียในโรงงานมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานใช้ในโรงงานอีกด้วย ซึ่งเมื่อโรงงานสามารถลดต้นทุนการผลิตได้และมีกำไรเพิ่มเติม จะทำให้สามารถรับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกรได้ในราคาสูงขึ้นด้วย ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เพราะในปัจจุบันมีการแข่งขันของโรงงานในการรับซื้อมันสำปะหลังค่อนข้างสูง โรงงานไหนที่ให้ราคาสูงกว่าก็จะมีโอกาสได้วัตถุดิบไปมากกว่า

ทั้งนี้ สวทช. และ จีทีแซด ร่วมกันสนับสนุนงบประมาณให้โครงการนี้รวม 10 ล้านบาท ในระยะเวลาดำเนินงาน 2 ปี และจีทีแซดจะให้การสนับสนุนเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญในการจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับบุคลากร 3 กลุ่ม ได้แก่ อาจารย์หรือนักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง จำนวน 80 คน เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญสำหรับทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการ

บุคลากรจากโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง จำนวน 30 โรงงาน โรงงานละ 5 คน และบัณฑิตใหม่หรือกลุ่มผู้ว่างงาน จำนวน 80 คน เพื่อสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง โดยหลักสูตรการอบรมของแต่ละกลุ่มมีระยะเวลา 6 เดือน เมื่อจบหลักสูตร ผู้เข้าอบรมในแต่ละกลุ่มจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป.
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน
มร.เดวิด โอเบอร์ฮูเบอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น