ผู้ประกอบการวอนภาครัฐช่วยเหลือ ให้มีมาตรการยกเว้นภาษีนำเข้าเม็ดไบโอพลาสติกจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็เร่งวิจัยผลิตวัตถุดิบได้เอง พร้อมกับส่งเสริมให้ประชาชน หันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพกันมากขึ้น จะได้ผลิตได้ในราคาถูกลง และลดขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ทั่วโลก
เวที "คุยกัน...ฉันท์วิทย์" เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.51 ที่ผ่านมา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) หยิบเอาเรื่องพลาสติกชีวภาพมาคุยกันในหัวข้อ "ไบโอพลาสติก...นวัตกรรมล้ำสมัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม" โดยมี รศ.ดร.สุวบุญ จิรชาญชัย รองผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.ธีรวัฒน์ ธีรภัทรพรชัย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แอดวานซ์ แพคเกจจิ้ง จำกัด ร่วมพูดคุย และมีนายวิเทียน นิลดำ รองประธานสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ก็เข้าร่วมฟังการเสวนาด้วย
ดร.สุวบุญ ให้รายละเอียดว่า พลาสติกชีวภาพหรือไบโอพลาสติก (bioplastic) เป็นพลาสติกที่ผลิตมาจากวัตถุดิบที่หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และย่อยสลายได้ง่ายกว่าพลาสติกทั่วไปที่ผลิตมาจากปิโตรเลียม ซึ่งย่อยสลายยากมาก จึงก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมามากมาย
ดร.ธีรวัฒน์ ให้ข้อมูลเสริมว่า ขณะนี้ปริมาณการใช้พลาสติกทั่วโลก มีมากกว่า 2 หมื่นล้านตันต่อวัน และก่อให้เกิดขยะพลาสติกจำนวนมาก โดยขยะพลาสติกกว่า 20% มาจากพลาสติกจำพวกบรรจุภัณฑ์ต่างๆ แค่เฉพาะประเทศไทยในแต่ละวันก็มีขยะพลาสติกมากถึง 15 ล้านตันแล้ว ซึ่งส่งผลให้มีปัญหาในเรื่องการกำจัดขยะตามมา ซึ่งวิธีการกำจัดขยะที่ใช้กันนั้นมี 3 วิธี คือ นำกลับมาใช้ใหม่ (reuse) คิดเป็น 12%, การเผา 8% และการฝังกลบ 80%
"แต่การนำกลับมาใช้ใหม่ต้องมีการคัดแยกขยะ ซึ่งต้องใช้ทุนสูง ส่วนการเผาก็ต้องคำนึงด้วยว่าต้องใช้เตาเผาแบบไหน ใช้พลังงานเท่าไหร่จึงจะกำจัดขยะได้หมดไป และอาจก่อให้เกิดมลพิษตามมาได้อีก ขณะที่การฝังกลบก็ต้องใช้พื้นที่ เมื่อพื้นที่มีจำกัด ก็เกิดปัญหาตามมา และอาจกลายเป็นแหล่งเพราะเชื้อโรคด้วย" ดร.ธีรวัฒน์ แจง
จากปัญหาขยะพลาสติกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้นักวิทยาศาสตร์พยายามค้นคว้าหานวัตกรรมใหม่ขึ้นมาใช้ทดแทน จนเกิดเป็นพลาสติกชีวภาพ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เหมือนพลาสติกทั่วไป แต่ย่อยสลายในธรรมชาติได้ในเวลาไม่กี่เดือน เมื่อเทียบกับพลาสติกจากปิโตรเลียมที่ต้องใช้เวลานานถึง 400 ปี
หลายประเทศก็ให้ความสนใจและกำลังตื่นตัวในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น และบางประเทศก็ประสบความสำเร็จในด้านเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกชีวภาพแล้วตั้งแต่งานวิจัยพื้นฐานไปจนถึงการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จำหน่ายแก่ผู้บริโภค
รศ.ดร.สุวบุญ แจกแจงตัวอย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่มีการผลิตแล้วในต่างประเทศ ได้แก่ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน ส้อม, บรรจุภัณฑ์อาหารประเภทต่างๆ, ถุงพลาสติกใส่ของ, ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย รศ.ดร.สุวบุญ เปิดเผยว่า ขณะนี้ก็มีนักวิจัยในหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทยให้ความสนใจและกำลังศึกษาวิจัยถึงเรื่องไบโอพลาสติกอยู่เช่นกัน ทั้งเรื่องของเทคโนโลยีการเตรียมวัตถุดิบทางการเกษตร ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากก็ได้แก่ แป้งมันสำปะหลังและชานอ้อย รวมไปถึงงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีทางเคมีในการผลิตและการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์
ขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการหลายรายของไทย ที่หันมาลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพบ้างแล้ว เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร, ถุงพลาสติกประเภทต่างๆ ทว่ายังต้องนำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพจากต่างประเทศ ทำให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่ได้มีราคาสูงกว่าพลาสติกทั่วไปราว 3-4 เท่า ซึ่ง ดร.ธีรวัฒน์ เผยว่า ด้วยราคาที่สูงกว่าพลาสติกทั่วไปหลายเท่า ทำให้ผู้บริโภคมีอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น
"ภาคอุตสาหกรรมของไทยขณะนี้มีความพร้อมมากในการผลิตพลาสติกชีวภาพ ซึ่งสามารถผลิตได้โดยใช้เครื่องจักรที่มีอยู่แล้ว ในอุตสาหกรรมพลาสติกทั่วไป แต่อาจต้องศึกษาเทคนิคและกระบวนการผลิตเพิ่มเติม" ดร.ธีรวัฒน์กล่าว
"อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพได้เอง จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูงกว่า ขณะที่ตลาดพลาสติกชีวภาพในต่างประเทศใหญ่มาก และมีความต้องการสูง เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งเขาใช้พลาสติกชีวภาพกันมาก ปริมาณการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ จึงมองหาแหล่งผลิตสินค้าแห่งใหม่ ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับความสนใจจากตลาดต่างประเทศมาก"
"จึงอยากให้ภาครัฐมีมาตรการรณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ในเรื่องของพลาสติกชีวภาพ และหันมาใช้พลาสติกชีวภาพแทน ส่งเสริมให้มีมาตรการยกเว้นภาษีนำเข้าพลาสติกชีวภาพสำหรับผู้ประกอบการด้วย ซึ่งจะช่วยให้สามารถผลิตพลาสติกชีวภาพได้ในราคาที่เหมาะสมมากขึ้น"
"ขณะเดียวกันก็เร่งส่งเสริมงานวิจัยให้ประเทศไทยสามารถผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพเองได้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีราคาถูกลงได้" ดร.ธีรวัฒน์กล่าว ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน
ทั้งนี้ รศ.ดร.สุวบุญ กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ไทยมีความพร้อมทั้งวัตถุดิบ, แรงงาน, บุคลากรด้านการวิจัย, ภาคอุตสาหกรรมพลาสติกที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก และมีนโยบายแห่งชาติด้านพลาสติกชีวภาพแล้ว ซึ่งต้องทำให้มีผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่คนทั่วไปสามารถซื้อได้ในราคาถูก ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ได้ด้วย
"สำหรับงานวิจัยที่เราต้องเร่งศึกษาในตอนนี้ก็ได้แก่งานวิจัยพื้นฐานต่างๆ ทั้งการผลิตวัตถุดิบ, การหมัก และการหาตัวเร่งปฏิกิริยาที่เหมาะสมสำหรับเปลี่ยนโมโนเมอร์ให้เป็นพอลิเมอร์ ขณะที่งานวิจัยเกี่ยวกับการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ก็ต้องเร่งศึกษาด้วยเหมือนกัน ต้องการปรับคุณสมบัติบางประการของพลาสติกชีวภาพ หรือผสมกับเรซินเพื่อให้สามารถขึ้นรูปได้ง่าย และหาเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ซ้ำกับเทคโนโลยีของต่างประเทศ เพื่อที่จะได้ส่งออกไปขายในประเทศนั้นได้" รศ.ดร.สุวบุญกล่าว