xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อสื่อมองเรื่องแปลกว่าเหนือธรรมชาติ จะขัดใจนักวิทยาศาสตร์ขนาดไหน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนวิทยาศาสตร์เปิดวงเสวนาการทำงานของสื่อต่อประเด็นวิทยาศาสตร์ ระบุขยาดโดนสื่อแปลงสาร ชี้ทุกปรากฏการณ์ “แปลก” วิทยาศาสตร์อธิบายได้ ทว่า ผอ.พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติยอมรับข่าวประหลาดมาทุกวันที่ 14 และ 30 บางทีนักวิทย์ต้องปล่อยตามกระแสแล้วค่อยอธิบายทีหลัง ขณะที่แพทย์จากกรมสุขภาพจิตยกกรณี "อุปทานหมู่" ยิ่งเสนอยิ่งเพิ่ม แต่หลังชี้แจงสื่อก็ปรับตัวได้ดี ส่วน ผอ.ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์รับ “นักวิทย์เองก็ยังไม่รู้ร้อน” ทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ รับเป็นตัวกลางแก้ปัญหา

การสื่อสารข่าววิทยาศาสตร์มีความสำคัญอย่างไร?...เป็นเรื่องน่าสนใจพอตัว ในการประชุมประจำปี 2551 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หรือ “NAC2008” ได้มีการอภิปรายหัวข้อ “นักวิทย์คุยข่าว” ขึ้นเมื่อวันที่ 26 มี.ค.51 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ยกตัวอย่างกรณีคลาสสิก “วงจตุคามรามเทพ” บนภาพถ่ายกล้องดิจิทัลที่เคยเป็นข่าวเกรียวกราวว่า เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เจอมากับตัวเองกับการสื่อข่าวของสื่อมวลชนที่ทำให้คำพูดของนักวิทยาศาสตร์เปลี่ยนความหมายไปได้

เช่นการที่เขาอธิบายว่าปรากฏการณ์ที่เห็นเกิดจากปฏิกิริยาของสาร (matter) กับแสง แต่เมื่อมีการเสนอข่าวกลับถูกเปลี่ยนจากคำว่า “สาร” ไปเป็น “มวลสาร” ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะทางในวงการพระเครื่อง เรียกได้ว่าเป็นกรณีที่ “เฮี้ยน” มากๆ

อย่างไรก็ดี ต่อกรณีที่เป็นการขัดแย้งกับความเชื่อส่วนบุคคลนี้ ดร.บัญชาออกตัวว่า ไม่มีเจตนาลบหลู่ความเชื่อใดๆ โดยเขาเพียงนำหลักวิทยาศาสตร์มาอธิบายปรากฏการณ์บางอย่างที่วิทยาศาสตร์อธิบายได้ภายใต้เงื่อนไขที่มีอยู่ ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่ายังมีหลายๆ ปรากฏการณ์ที่วิทยาศาสตร์ยังอธิบายไม่ได้

ในอีกด้านหนึ่ง ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอีกหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับพืชและสัตว์ อาทิ วัวสองหน้า ลูกสุนัขมีงวง ต้นมะม่วงออกลูกเป็นมือคน ต้นปาล์มงอกกิ่งเป็นพญานาค มนุษย์สี่ขา ฯลฯ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ชี้แจงว่าต่างนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายได้

ไม่ว่าจะเป็นการกลายพันธุ์ การป่วยเป็นโรค หรือความพิการแต่กำเนิด ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องที่แปลกแต่ก็มีความเป็นไปได้ ทว่าที่ผ่านมากลับถูกตีความอย่างไม่เป็นวิทยาศาสตร์เท่าที่ควร

เชื่อมโยงกับ ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ ผอ.พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ตั้งข้อสังเกตอย่างอารมณ์ดีว่า สื่อมักเล่นข่าวดังกล่าวใกล้กับวันที่ 14 และ 30 ของเดือนที่จะมีการประกาศผลรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องรอให้ผ่านเวลาดังกล่าวไปก่อนจึงจะให้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์แก่สังคมภายหลัง เพราะมิฉะนั้นจะเกิดกระแสต่อต้านจากผู้ที่เชื่อถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าเป็นการขัดลาภของเขา

ส่วนที่มีคนอ้างว่าได้รับรางวัลสลากกินแบ่งจากความเชื่อเหล่านี้จริง ดร.จารุจินต์ มองว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เพราะมีผู้เชื่อถือมาก ในจำนวนผู้ที่มีความเชื่อนับแสนคน ซึ่งแปลงปรากฏการณ์แปลกๆ ทางธรรมชาติไปเป็นตัวเลขเพื่อซื้อสลากกินย่อมจะมีคนที่ถูกรางวัลบ้างเป็นธรรมดา

ทางด้านมุมมองจากสายตา “คุณหมอ” นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความสำคัญของการสื่อข่าวการเกิดอุปทานหมู่ (Mass hysteria) ในเด็กนักเรียนและวัยรุ่นบ้างว่ามีความสำคัญมาก เพราะเมื่อนำเสนอข่าวออกไปแล้วกลับจะทำให้มีอุปทานหมู่เกิดมากขึ้นเป็นกระแสตามมาหลายครั้งติดต่อกัน

อีกทั้งสื่อมักเชื่อมโยงไปในทิศทางที่โน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่งชัดเจน เช่น การเชื่อมโยงกับเรื่องไสยศาสตร์ ภูต ผี ปิศาจ แล้วค่อยนำเสนอข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์ตามมาภายหลัง ทำให้เกิดการแพร่กระจายของปรากฏการณ์มากขึ้น แต่หากเรื่องไม่มีการเสนอข่าวดังกล่าวและมีการจัดการกับปัญหาอย่างเหมาะสม เช่น การคัดแยกผู้ป่วยรายแรก หรือ “คนเหนี่ยวนำ” ออกจากกลุ่มเพื่อบำบัดรักษาแล้วก็จะลดปัญหาลงได้

อย่างไรก็ดี นพ.ทวีศิลป์ มองว่า เมื่อชี้แจงแก่สื่อมวลชนแล้วก็ได้รับความร่วมมือดี โดยพบอีกว่าสื่อหลายรายปรับตัวได้ดีขึ้น มีการย่อยข่าววิทยาศาสตร์แก่คนชั้นกลางของสังคมในภาษาที่ง่ายแก่การเข้าใจ เป็นการให้การศึกษาแก่คนหมู่มาก ส่งผลถึงการพัฒนาประชาชนในวงกว้างทั้งประเทศได้

สุดท้ายที่นายจุมพล เหมะคีรินทร์ ผอ.ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย หน่วยงานเกิดใหม่ใน สวทช.สรุปว่า จากทิศทางข่าวในสังคมที่มีการเสนอพืชและสัตว์แปลกประหลาดจำนวนมากได้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมไทย ซึ่งที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์มักไม่นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายแก่สังคมเท่าที่ควร

ทั้งนี้เขาวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะโดยส่วนตัวแล้ว นักวิทยาศาสตร์จะไม่เห็นสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องแปลกประหลาดเพราะทราบดีว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการทำหน้าที่ที่ไม่สมบูรณ์ของนักวิทยาศาสตร์ไทยที่ไม่ไขความกระจ่างแก่สังคม ซึ่งศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทยที่ตั้งใหม่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางแก้ปัญหาดังกล่าวต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น