xs
xsm
sm
md
lg

เสียงที่แตกต่างจากนักวิทย์ไทยในต่างแดน ทั้งช่วยชาติทางไกล-ทั้งอย่าฝากความหวัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยไทยในต่างแดนย้ำว่าแม้ตัวของพวกเขาจะไม่ได้อยู่ในเมืองไทย และใจยังรักและหวังทำประโยชน์ให้แก่ประเทศไม่เปลี่ยนแปลง (ภาพจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
กระทรวงวิทย์จัดประชุมนักวิชาชีพไทยในต่างแดน วานสมองไหลกลับช่วยพัฒนาประเทศ สมาคมนักวิชาชีพไทยในต่างแดน เผยทุกคนยังรักเมืองไทย แต่อยู่ที่ต่างประเทศก็ทำงานให้ประเทศไทยได้ เพราะคอนเนกชั่น - เครื่องมือพร้อมกว่า ขณะที่นักวิชาการไทยในญี่ปุ่นกลับเห็นว่า จำเป็นต้องพึ่งบุคลากรในประเทศ อย่าฝากความหวังไว้กับนักวิจัยในต่างแดน

นักวิจัยเลือดไทยหลายคนอยู่ไกลบ้าน ทว่าสายสัมพันธ์ใช่จะจืดจางตามระยะทาง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดยโครงการสมองไหลกลับจึงจัดประชุม "นักวิชาชีพไทยจากต่างประเทศ 2551 : วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ" ขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 มิ.ย.51 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ เพื่อเสาะหาความร่วมมือระหว่างนักวิจัยเลือดไทยที่ความห่างไกลมิใช่อุปสรรค

ทั้งนี้ ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สำรวจประชากรนักวิชาการไทยในต่างแดน พบว่ามีสมาคมนักวิชาชีพไทยในต่างแดนมาร่วมการประชุม 3 สมาคมด้วยกัน ได้แก่ สมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา (ATPAC) สมาคมนักวิชาชีพไทยในทวีปยุโรป (ATPER) และสมาคมนักวิชาชีพไทยในญี่ปุ่น (ATPIJ) โดยสมาคมแรกถือเป็นสมาคมที่มีสมาชิกรวมตัวกันมากที่สุดถึง 132 คน ส่วนอีก 2 สมาคมมีสมาชิกไล่เรียงกัน ประมาณ 40 คนและ 20 คนตามลำดับ

รวมๆ แล้วทั้ง 3 สมาคมมีนักวิชาชีพเลือดไทยที่พร้อมใจจะช่วยเหลืองานในประเทศไม่ต่ำกว่า 192 คน โดยเป็นการรวมตัวกันของนักวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่กระจายตัวไปในศาสตร์ทุกๆ สาขา ทั้งด้านการแพทย์ เภสัชกรรม พลังงาน วิทยาศาสตร์การอาหาร การเกษตร นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ และสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาที่นักวิชาชีพไทยในญี่ปุ่นมีความชำนาญเป็นพิเศษ

ดร.โชคชัย เลี้ยงสุขสันต์ ประธานสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา และรองศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหลุยส์เซียนา สหรัฐอเมริกา สะท้อนความร่วมมือครั้งนี้ว่า การที่พวกเขาไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยไม่ได้ และไม่ใช่ภาวะสมองไหลที่ไม่ไหลกลับ

และเนื่องจากความพร้อม และการเป็นแหล่งรวมศูนย์ของวิทยาการสำคัญๆ ของโลก รวมตัวอยู่ที่สหรัฐฯ เป็นโอกาสที่ดีที่นักวิชาชีพไทยจะสร้างความเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อมกว่าเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย
 
อาทิ การให้บริการห้องแล็บและซุปเปอร์คอมพิวเตอร์เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าแม้จะอยู่ต่างแดนก็ยังอาจทำประโยชน์ได้มากกว่าอยู่ที่บ้านเกิดด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดี นักวิจัยในสหรัฐฯ และแคนาดาส่วนหนึ่งแสดงความตั้งใจจะกลับเมืองไทยเช่นกัน

"มีบ้างที่ร้องขออยากกลับเมืองไทย ทุกคนยังรักเมืองไทยอยู่ เวลาเรากลับมา เราก็อบอุ่น นั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่หลายคนอยากกลับเมืองไทย โดยตัวผมเองก็หวังจะใช้บั้นปลายของชีวิตกลับมาที่เมืองไทยเหมือนกัน" ประธานสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา ซึ่งใช้ชีวิตในสหรัฐฯ มา 23 ปีเผย 

ส่วน ดร.กฤษณา รุ่งเรืองศักดิ์ ทอร์ริสสัน ประธานสมาคมนักวิชาชีพไทยในทวีปยุโรป และเจ้าหน้าที่กรมประมง ประเทศนอร์เวย์ เล่าว่า โดยมากแล้ว นักวิชาชีพไทยในต่างแดนมักเริ่มจากการเป็นนักศึกษา ซึ่งตั้งใจไปเสาะหาความรู้เพิ่มเติม แต่เมื่อถึงจะจุดหนึ่งพบว่ายากที่จะกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ที่ประเทศไทย

"ถามพี่ๆ คงไม่กลับมาเมืองไทยแล้ว แต่มาช่วยงานได้ เพราะอยู่ที่นั่น เรามีพร้อมทุกอย่าง เรามีสวัสดิการ กลับมาเริ่มต้นใหม่คงไม่ได้ อย่างพี่ถ้ากลับมาทำงานได้อีกปีเดียวก็เกษียณแล้ว" ดร.กฤษณา ผู้ใช้ชีวิต 30 ปีในนอร์เวย์ว่า 

เช่นเดียวกับ ดร.วิชัย แซ่เช่า ประธานสมาคมนักวิชาชีพไทยในญี่ปุ่น และอาจารย์แผนกเทคโนโลยีการผลิต มหาวิทยาลัยโมโนสึคูริ ประเทศญี่ปุ่น ก็พบความจริงที่ไม่ต่างกัน เผยว่า เรื่องที่นักวิจัยไทยในญี่ปุ่นจะนึกเกลียดเมืองไทยนั้นไม่ใช่แน่
 
แต่เมื่อนักศึกษาส่วนน้อย ที่ไม่ได้กลับเมืองไทยตามเพื่อนส่วนใหญ่ ได้สร้างครอบครัวยังต่างแดนแล้ว คงไม่อาจกลับเมืองไทยได้ อีกทั้งค่าตอบแทนและความพร้อมด้านเครื่องมือวิจัย และนโยบายการส่งเสริมจากส่วนกลางที่ดีกว่า กระนั้นสมาคมนักวิชาชีพไทยในญี่ปุ่นและรัฐบาลญี่ปุ่นก็ยินดีให้ความร่วมมือกับไทยอยู่แล้ว

ทว่าจุดสำคัญที่เขาแนะคือ ประเทศไทยจะต้องสร้างระบบพัฒนาบุคลากรระดับอุดมศึกษา ทั้งปริญญาตรี โท และเอกให้ได้ในประเทศ โดยไม่พึ่งการส่งนักศึกษาไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เพราะเป็นวัยที่ผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพได้มาก
 
แต่หากส่งไปศึกษายังต่างประเทศ ผลประโยชน์ส่วนนี้จะไม่ตกเป็นของคนไทย ซึ่งหากพัฒนาจุดนี้ได้จะถือเป็นความสำเร็จสูงสุด เพราะสังเกตได้ว่าจะไม่มีประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศใดเลย ที่หวังพึ่งนักวิชาชีพชาติตัวเอง ที่อยู่ต่างประเทศ แต่จะพึ่งนักวิชาชีพในประเทศแทน

นอกจากนี้ ดร.วิชัย มองว่า ประเทศไทยมีทิศทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มาถูกทางแล้ว แต่ยังขาดความเชื่อมโยงเพื่อนำความรู้จากผู้เชี่ยวชาญมาสู่ผ้ประกอบการได้นำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพอยู่มาก โดยแนวการทำงานนี้เห็นผลได้ดีในประเทศญี่ปุ่น ทำให้เกิดภาคอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งตามมา

"คำของญี่ปุ่นจะบอกว่า รู้จักแต่คิด หัวโตแต่ตัวลีบ คือคิดเก่ง แต่ไม่มีอะไรที่เคลื่อนไหว ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นต้องมาสร้าง เรา (ประเทศไทย) ไม่ได้ขาดคนเก่ง ผู้ประกอบการต้องเข้ามาจับกับงานวิจัย ต้องให้ความรู้เขาปรับปรุงการผลิตสินค้า" ดร.วิชัย ปิดท้าย

สำหรับโครงการสมองไหลกลับ เป็นความร่วมมือที่มีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นแกนนำ โดยหวังให้เกิดความร่วมมือในการวิจัยพัฒนาระหว่างนักวิชาชีพในประเทศและในต่างประเทศซึ่งมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีสูงกว่า
 
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ต้องการให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ สู่ประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะอาศัยช่องทางนี้ในการแลกเปลี่ยนครูผู้สอนและการทำหลักสูตรการเรียนการสอนในประเทศ โดยจะมีการสรุปผลการประชุมและนำไปสู่แผนทำงานที่เป็นรูปธรรมในตอนท้ายของการประชุม

ที่ผ่านมา โครงการสมองไหลกลับ ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงนักวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศและในต่างแดนมาตั้งแต่ปี 2539 มีนักวิชาชีพไทยในต่างประเทศตัดสินใจกลับมาทำงานที่ประเทศไทยอย่างถาวรรวม 7 ราย และยังทำให้เกิดผลงานวิจัยที่เสร็จสมบูรณ์แล้วประมาณ 25 โครงการ
ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยี และนโยบายการส่งเสริมที่พร้อมกว่า นักวิชาชีพหลายคนเลือกที่จะขอยู่ทำวิจัยในต่างแดน (ภาพจาก www.igetweb.com)
 ดร.โชคชัย เลี้ยงสุขสันต์
ดร.กฤษณา รุ่งเรืองศักดิ์ ทอร์ริสสัน
 ดร.วิชัย แซ่เช่า
กำลังโหลดความคิดเห็น