นาโนเทคจับมือ 5 มหาวิทยาลัยวิจัย "เวชสำอางนาโน" จากสมุนไพรไทย ตั้งเป้า 3 ปีมีเครื่องสำอางต้นแบบออกสู่ตลาด ด้านอาจารย์จุฬาฯ เชื่อความร่วมมือช่วยให้งานวิจัยก้าวหน้าเร็วขึ้น
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ลงนามความร่วมมือในโครงการโปรแกรมวิจัยร่วมด้านนาโนเวชสำอางสมุนไพรไทยกับ 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยนเรศวร ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 22 พ.ค.51 โดยมี นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมเป็นสักขีพยาน
ภายในพิธีลงนามผู้จัดการวิทยาศาสตร์ยังพบว่า แต่ละสถาบันได้นำเครื่องสำอางที่ต่างพัฒนาขึ้นมาก่อนความร่วมมือครั้งนี้มาแจกจ่ายแก่ผู้มาร่วมงานด้วย ตัวอย่างของเครื่องสำอางดังกล่าว อาทิ ครีมตะไคร้หอมไล่ยุงจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ครีมจากสารสกัดกวาวเครือและขมิ้นชัน ซึ่งบรรจุอยู่ในรูปแคปซูลนาโนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
ทั้งนี้ ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ได้รายงานถึงความเป็นของความร่วมมือครั้งนี้ว่า ทางศูนย์นาโนเทคได้เล็งเห็นถึงคุณค่าและประโยชน์ของสมุนไพรไทยที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นทุกปี
อีกทั้ง ดร.วิวัฒน์ชี้แจงตัวเลขในภายหลังกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ปีที่ผ่านมาไทยมีมูลค่าการส่งออกเครื่องสำอางมากถึง 50,000 ล้านบาท แต่ไม่ใช่สมุนไพรหรือเครื่องสำอางจากผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ทั้งนี้คาดว่าอนาคตเวชสำอางนาโนจากสมุนไพรไทยน่าจะทำส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 1,000 ล้านบาท
"ระยะแรกของความร่วมมือ 3 ปีคาดว่าจะได้ต้นแบบของเวชสำอางสมุนไพรไทยที่พัฒนาด้วยนาโนเทคโนโลยีออกสู่เชิงพาณิชย์ โดยผ่านการวิจัยอย่างเป็นระบบและปลอดภัยในการใช้งานจริง"
"ภายใน 3 ปีนี้จะลงทุน 50 ล้านบาทซึ่งคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าได้เป็น x เท่า แต่กำลังศึกษาอยู่ว่า x นี้เป็นเท่าไหร่ อาจจะเป็น 20 ซึ่งเท่ากับว่าเพิ่มยอดขายได้ถึง 1,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วจะขายได้ทันที ยังต้องมีเรื่องอื่นๆ อีก" ดร.วิวัฒน์กล่าว
สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่จะออกมานั้นผู้อำนวยการนาโนเทคชี้แจงกับกลุ่มผู้สื่อข่าวว่าเป็นเครื่องสำอางประเภทไวเทนนิงหรือออกฤทธิ์ให้ผิวขาว และเครื่องสำอางประเภทต้านริ้วรอย ซึ่งกำลังศึกษาสมุนไพรอยู่ประมาณ 20 ตัวที่มีอยู่ในเมืองไทย อาทิ ขมิ้นชัน มังคุด กวาวเครือขาว บัวบก ฟ้าทะลายโจร มะขามป้อม เป็นต้น
ด้าน รศ.ดร.อุบลทิพย์ นิมมานนิตย์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการระบบนำส่งยาและเครื่องสำอาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยซึ่งลงนามความร่วมมือกับนาโนเทคในครั้งนี้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้งานวิจัยทางด้านเครื่องสำอางก้าวหน้าเร็วขึ้น จากที่ต่างคนต่างทำก็จะกลายเป็นความร่วมมือและค้นหาวิธีดีที่สุดในการพัฒนาเครื่องสำอาง
สำหรับสมุนไพรไทยที่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นเครื่องสำอางมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด อาทิ ใบหม่อน มะขามป้อม มหาด ขมิ้นชัน เป็นต้น ซึ่งสารสกัดจากสมุนไพรเหล่านี้สามารถนำผลิตเป็นเครื่องสำอางได้เลยหรือบรรจุลงแคปซูลนาโนเพื่อให้คงตัวได้ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรด้วย