xs
xsm
sm
md
lg

อย่าลืม “ผียูคา” ปลูกกันเกินพอ 10 ล้านไร่ แต่ยังไม่ให้ข้อมูลดี-ร้ายเกษตรกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกษตรกรผู้ปลูกและป่ายูคาฯ ใน จ.บุรีรัมย์
สมาคมนักข่าวเตือนสังคม อย่าลืม “ผียูคาฯ” สภาที่ปรึกษาฯ ชี้รัฐยอมให้เอกชนชักนำ ทั้งที่ไม่มีข้อมูลอยู่ในหัว วอนเร่งสร้างความรู้แก่ประชาชนก่อนตัดสินใจ เชื่อพื้นที่ปลูกมากเกิน ทั่วประเทศมีกว่า 10 ล้านไร่ ขอยุติส่งออกกระดาษ เพราะ 60% เข้าจีน-ญี่ปุ่น วอนพาณิชย์กำหนดราคา อย่าปล่อยให้เอกชนรีดเลือดเกษตรกร

กระแสต่อต้านภารกิจชุบตัว “ต้นกระดาษ” หรือที่คุ้นหูกันดีในชื่อ “ยูคาลิปตัส” ที่ปลุกขึ้นโดยนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ตั้งแต่วันแรกที่นั่งว่าการ ทำท่าว่าจะเงียบหายไปอีกครั้ง สมาคมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกาะกระแสดังกล่าว จึงจัดเสวนา “ยูคาลิปตัส พืชเศรษฐกิจความหวังใหม่หรือภัยของเกษตรกร” ขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.51 ณ ห้องประชุมแสงชัย สุนทรวัฒน์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ

ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ คณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วิทยากรพิเศษของการเสวนา เปิดเผยแก่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์และผู้สื่อข่าวจากหลายสำนักว่า จุดประสงค์ของการเสวนาครั้งนี้ ก็เพื่อกระตุ้นเตือนไม่ให้สังคมหลงลืมกระแสการส่งเสริมปลูกยูคาฯ ไปอีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังขอเรียกร้องให้รัฐบาล เร่งนำข้อมูลวิชาการถึงผลได้ผลเสียของการปลูกยูคาฯ ซึ่งมีอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง มาเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบ และส่งเสริมให้มีการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนใช้ประกอบการตัดสินใจ ปฏิเสธหรือยอมรับยูคาฯ ด้วยตัวเอง เพื่อร่วมกันหาทางออกของปัญหาในที่สุด หลังจากมีการถกเถียงและต่อต้านมาตลอด 20 ปีแต่กลับไม่มีอะไรคืบหน้า
 
โดยเฉพาะการที่ภาครัฐไม่มีข้อมูลใดๆ ที่ชัดเจนเกี่ยวกับยูคาฯ เลย อำนาจการเปิดเผยข้อมูลจริง อยู่ในมือของเอกชนเพียงฝ่ายเดียว สังคมจึงตกอยู่ในภาวะพายเรืออยู่ในอ่าง

ทั้งนี้ ดร.เพิ่มศักดิ์ ประมาณการณ์ว่า จากผลิตภัณฑ์เยื่อไม้ และกระดาษที่ผลิตในประเทศไทย น่าจะมีพื้นที่ปลูกยูคาฯ ในประเทศแล้วถึง 10 ล้านไร่ หรือเพิ่มขึ้นถึงกว่า 7.3 ล้านไร่ในช่วง 10 ปีหลัง โดย 60% เป็นการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม เพราะพืชดังกล่าวจะทำลายดิน กินน้ำมาก และมีพิษยับยั้งกระบวนการฟื้นฟูดินตามธรรมชาติ

ทว่า มีความพยายามจากภาคธุรกิจ ที่หนุนภาคการเมืองให้เปิดทางให้ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม แต่ยูคาฯ ไม่สามารถแข่งขันกับพืชไร่อื่นๆ เช่น มันสำปะหลัง และพืชพลังงานอื่นๆ ได้ จึงนำไปสู่การส่งเสริมปลูกบนคันนา โดยให้ข้อมูลถึงผลดีต่างๆ ทั้งที่จริงแล้วต้นข้าวในรัศมี 5 เมตรไม่สามารถตั้งรวงได้เลย

อย่างไรก็ดี สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรายนี้ปฏิเสธว่า ตัวเองไม่ได้ต่อต้านการปลูกยูคาลิปตัสแต่อย่างใด แต่ไม่เห็นด้วยกับการปลูกบนพื้นที่ขนาดใหญ่ แบบมีรอบการตัดฟันเข้มข้น 3-5 ปี และการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อเน้นการผลิตเยื่อกระดาษเพียงอย่างเดียว ซึ่งปัจจุบันไทยมีพื้นที่ปลูกมากพอแล้ว ไม่ควรมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม ขณะเดียวกันควรหยุดการผลิตกระดาษเพื่อการส่งออกด้วย

ดังนั้น พื้นที่ปลูกยูคาฯ จึงไม่ควรเกิน 3-4 ล้านไร่ และควรใช้อย่างอเนกประสงค์ ไม่ควรปลูกอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว ที่ปลูกไปแล้วก็ควรมีการปรับพื้นที่ปลูกให้เป็นการปลูกป่า 3 ประโยชน์ 4 ตามแนวพระราชดำริ คือ ไม้ฟืน ไม้ก่อสร้าง ไม้ใบดอกผลสำหรับกิน และเสริมประโยชน์ในการเป็นไม้อนุรักษ์ แทรกเข้าไป 30-60% เพื่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมดีขึ้น” ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว

ดร.เพิ่มศักดิ์ เรียกร้องด้วยว่า อยากร้องขอให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าศึกษาต้นทุนการปลูกยูคาฯ ที่แท้จริง พร้อมกำหนดราคากลางที่เป็นธรรมแก่เกษตรกรด้วย จากปัจจุบันมีการใช้มาตรการผูกขาด ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพียงประมาณ 3,000 บาท/ไร่ และมีกำไรจากการปลูกตลอด 5 ปีเพียงไร่ละ 400-500 บาท

เทียบกับการผลิตถ่านไม้ยูคาฯ ที่ให้รายได้ถึงกว่า 10,000 บาท และการผลิตน้ำมันเหลวไม้ยูคาฯ จะสร้างรายได้ถึง 6,000 บาท ดังนั้นราคากลางยูคาฯ จึงไม่ควรต่ำกว่า 4,000-5,000 บาท/ไร่

อย่างไรก็ดี ทางด้านนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วท.ก็ใช่จะเงียบหายไปจากความพยายามสุดตัวที่ผลักดัน "ผียูคาฯ" ให้กลายพืชเทวดา โดยล่าสุด ระหว่างเวทีแถลงข่าว เกี่ยวกับการร่วมงานแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีชีวภาพระดับโลก "ไบโอ2008" (BIO2008) ณ เมืองซานดิเอโก สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 17-20 มิ.ย. ณ โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ เมื่อวันที่2 มิ.ย.51 ที่ผ่านมานั้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ผู้ได้รับบทบาทให้พูดเรื่อง "การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพของไทยให้ทันกระแสโลก" ระหว่างการแถลงดังกล่าว ก็ยังพ่วงเนื้อหาการปลูกยูคาลิปตัสบนคันนา ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับหัวข้อเทคโนโลยีชีวภาพ โดยย้ำข้อมูลที่หลายคนได้ฟังจนแทบ จะกล่าวแทน ส.ส.จากเมืองแปดริ้วแห่งพรรคพลังประชาชนว่า การปลูกยูคาฯ บนคันนานั้นช่วยเพิ่มผลิตข้าวเพราะช่วยบังลม-บังแดดทำให้ข้าวผสมเกสรได้ดี

ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวคัดแย้งจากข้อมูลของหลายๆ คนที่ระบุว่า การปลูกยูคาฯ บนคันนานั้นทำให้เมล็ดข้าวลีบเล็ก และยังทำให้น้ำในนาเน่าเสีย และไม่ว่าจะมีคัดค้านมากเพียงใดแต่ดูเหมือน รมต.วิทย์ผู้นี้ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะดันให้ "ผียูคาฯ" แจ้งเกิดเสียให้ได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งเวทีที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย.
ป่ายูคาฯ พบได้มากในหลายจังหวัดของภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่ามกลางเสียงต่อต้านจากภาควิชาการถึงผลกระทบต่อดินและสิ่งแวดล้อม
สภาพป่ายูคาฯ ในจังหวัดบุรีรัมย์
ท่อนยูคาฯ ที่ตัดแล้วเพื่อรอขายแก่โรงงานกระดาษ
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์
วุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ และ ส.ส. เมืองแปดริ้ว ผู้ปลุกกระแสชุบตัวไม้กระดาษอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น