มีผลบังคับใช้มาพักใหญ่แล้วสำหรับกฎหมายฉบับความหวังของนักวิชาชีพวิทยาศาสตร์ไทย ทั้งที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันและที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต กับ พ.ร.บ.ส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ.2551 ที่อีกหนึ่งปีต่อจากนี้ “สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์” ก็จะก้าวสู่การเป็นสภาวิชาชีพแห่งที่ 10 ของประเทศอย่างเต็มภาคภูมิ ไม่ต่างจากวิชาชีพแพทย์ พยาบาล หรือวิศวกรที่มีมาก่อนแล้ว
ในวงเสวนาคุยกัน...ฉันท์วิทย์ “พ.ร.บ.ส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ.2551 กับอนาคตวงการวิทยาศาสตร์” จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เมื่อวันที่ 14 พ.ค.51 ณ ห้องโถงอาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กรุงเทพฯ ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกฎหมายดังกล่าวอย่างเปิดกว้าง
นางกอบแก้ว อัครคุปต์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ บุคคลสำคัญผู้ผลักดันกฎหมายดังกล่าว เล่าว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ผลักดันกฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่ปี 2540 แล้ว โดยใช้เวลากว่า 10 ปี จึงเห็นผลเป็นรูปธรรมและมีผลบังคับใช้จริงเมื่อ 8 ก.พ.51 ที่ผ่านมา โดยจะทำให้เกิดสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นเป็นสภาวิชาชีพที่ 10 ของไทยเพื่อกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศกว่า 2,000,000 คนตามการเก็บข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ทั้งนี้ โครงสร้างการบริหารของสภาวิชาชีพได้กำหนดให้ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ดำรงสภานายกพิเศษ และประกอบด้วยคณะกรรมการวิชาชีพและคณะกรรมการจรรยาบรรณทำหน้าที่ โดยเน้นส่งเสริมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์เป็นหลัก
ขณะเดียวกันยังมีวิชาชีพวิทยาศาสตร์ที่ต้องควบคุมไม่ให้เกิดผลเสียต่อประชาชน 4 สาขาคือ 1.สาขานิวเคลียร์ 2.สาขาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านวิทยาศาสตร์และการควบคุมมลพิษ 3.สาขาการผลิต การควบคุม และการจัดการสารเคมีอันตราย และ 4.สาขาการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์และการใช้จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค โดยอาจพิจารณาวิชาชีพวิทยาศาสตร์ควบคุมเพิ่มเติมได้ในอนาคตหากเห็นสมควร โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่จะกำหนดให้สถานประกอบการต่างๆ มีนักเคมีหรือนักวิทยาศาสตร์สุขภาพให้การกำกับแนะนำ เช่น สถานบริการความงามต้องมีนักเคมีคอยดูแลการให้บริการอย่างใกล้ชิด ไม่ให้ผู้รับบริการได้รับอันตราย อาทิ การฉีดสารเรืองแสง โบท็อกซ์ หรือแม้แต่การหลีกเลี่ยงบริการทางทันตกรรมอย่างการใส่เหล็กดัดฟันไม่ได้คุณภาพอย่างที่เป็นข่าวในเวลานี้ ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการไทยยังมีอิสระอยู่มาก แต่ในต่างประเทศจะถือเป็นเรื่องที่ต้องควบคุมอย่างเข้มงวด
“สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้นในกลางปีหน้า เพื่อเป็นองค์กรกลางที่ส่งเสริมกันจริงๆ ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน นำไปสู่วิทยาศาสตร์แบบก้าวกระโดด” รศ.โรจน์ คุณอเนก อีกหนึ่งผู้ร่วมผลักดันกฎหมายจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว
เขาชี้ว่า ก่อนหน้านี้ผู้จบการศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์จะไม่ได้รับการดูแลใดๆ อีกเลย แต่อาจรวมกลุ่มเป็นสมาคมที่เข็มแข็งบ้างและบางแห่งยังเป็นเพียงการรวมกลุ่มกันอย่างหลวมๆ สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์ที่จะจัดตั้งขึ้นจึงเป็นยกระดับอาชีพวิทยาศาสตร์ไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ ทั้งด้านคุณภาพและด้านจรรยาบรรณ โดยอาศัยอำนาจรัฐตาม พ.ร.บ.เข้าควบคุม
“เมื่อมีการควบคุม ผู้ปฏิบัติงานจะต้องทำหน้าที่ให้เกิดความปลอดภัยแก่สาธารณชนมากขึ้น เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นมาก็อาจกระทบถึงอาชีพของเขาได้ เพราะมีกลไกเรื่องใบอนุญาตมาเกี่ยวข้อง” รศ.โรจน์กล่าวและชี้ว่า สภาวิชาชีพยังเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ต้องการประกอบอาชีพวิทยาศาสตร์ในอนาคต ต่างจากอดีตที่ไม่อาจส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ เช่นผู้แทนจากเวทีโอลิมปิกระหว่างประเทศ จนบุคคลเหล่านี้ต้องแยกย้ายไปประกอบอาชีพอื่นๆ มากมาย
ขณะที่ รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ แสดงความคิดเห็นว่า การเกิดขึ้นของสภาวิชาชีพยังจะทำให้นักวิชาชีพวิทยาศาสตร์ไทยมีเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน เกิดการเฝ้าระวังผลกระทบของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อสังคมให้อยู่ในระดับที่ไว้วางใจได้ อีกทั้งยังให้ข้อเสนอแก่รัฐบาล และให้ความรู้แก่สังคมได้อย่างถูกต้อง ไม่ให้ผู้คนหมกมุ่นกับเรื่องงมงาย และเมื่อประชาชนไว้ใจ เสียงของสภาวิชาชีพก็จะมีน้ำหนักมากขึ้นในที่สุด