xs
xsm
sm
md
lg

ภาพพระพุทธรูปในบอมิยันเผยอดีต คนเอเชียรู้จักใช้สีน้ำมันก่อนยุโรปหลายร้อยปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จิตรกรรมฝาผนังภายในถ้ำที่อัฟกานิสถานซึ่งเป็นภาพวาดพระพุทธเจ้าเป็นหลักฐานบ่งชี้เอเชียรู้จักเทคนิควาดภาพด้วยสีน้ำมันก่อนยุโรปหลายร้อยปี
ไซน์เดลี/บีบีซีนิวส์ - นักวิทยาศาสตร์ด้านซินโครตรอนสำรวจถ้ำของตอลิบานในอัฟกานิสถาน พบภาพวาดพระพุทธเจ้าของชาวบอมิยันอายุราว 2 พันปีบ่งชี้เทคนิควาดภาพ "สีน้ำมัน" กำเนิดในเอเชียบนเส้นทางสายไหม ชาวเอเชียรู้จักก่อนยุโรปหลายร้อยปี

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากองค์กรซินโครตรอนแห่งยุโรปหรืออีเอสอาร์เอฟ (European Synchrotron Radiation Facility: ESRF) สถาบันวิจัยเพื่อวัฒนธรรมแห่งญี่ปุ่น ในกรุงโตเกียว (National Research Institute for Cultural Properties in Tokyo) และศูนย์วิจัยและการฟื้นฟูแห่งพิพิธภัณฑ์ฝรั่งเศส (Centre of Research and Restoration of the French Museums: CNRS) สำรวจถ้ำที่อัฟกานิสถานซึ่งอยู่ด้านหลังพระพุทธรูปอายุนับพันปีของชาวบอมิยันที่ถูกรัฐบาลตะลีบันทำลายไปเมื่อปี 2544

ภายในถ้ำมีภาพวาดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าที่คาดว่าวาดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 5-9 หลังคริสตศักราช ซึ่งแม้จะถูกทำลายโดยน้ำมือชาวตอลีบานหรือเสื่อมไปตามธรรมชาติ แต่เมื่อวิเคราะห์ด้วยเทคนิคด้านซินโครตรอนที่อีเอสอาร์เอฟแล้วก็พบว่า ภาพเหล่านั้นวาดขึ้นจากสีน้ำมัน นับเป็นการค้นพบที่สำคัญซึ่งบ่งชี้ว่าชาวเอเชียรู้จักสีน้ำมันก่อนชาวยุโรปหลายร้อยปี

ทั้งนี้ในประวัติศาสตร์ยุโรปและตำราด้านศิลปะหลายเล่มระบุว่า การวาดภาพสีน้ำมันนั้นเริ่มขึ้นยุโรปเมื่อศตวรรษที่ 15 แต่จากวิเคราะห์ที่ใช้เทคนิคด้านซินโครตรอนที่หลากหลาย อาทิ การวิเคราะห์ด้วยรังสีอินฟราเรด การวิเคราะห์ด้วยเทคนิคการเรืองแสงรังสีเอกซ์ (micro X-ray fluorescence) การวิเคราะห์การดูดกลืนรังสีเอกซ์และการวิเคราะห์การเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ (micro X-ray diffraction) พบว่าตัวอย่างที่วิเคราะห์นั้นคือภาพวาดสีน้ำมันที่วาดขึ้นราวกลางคริสตศตวรรษที่ 7

"ในแง่หนึ่งภาพวาดเกิดขึ้นจากการจัดเรียงของสีหลายๆ ชั้นซึ่งแต่ละชั้นมีความบางมากๆ ลำแสงที่เล็กระดับไมโครเมตรจากแหล่งกำเนิดแสงซินโครตรอนนั้นจะช่วยวิเคราะห์แต่ละชั้นสีได้ ส่วนอีกแง่หนึ่งภาพวาดเหล่านี้วาดขึ้นจากสีที่เป็นสารอนินทรีย์ที่ผสมอยู่ในตัวผสมซึ่งเป็นสารอินทรีย์ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องใช้เทคนิคที่หลากหลายเพื่อเข้าใจภาพทั้งหมด" คำอธิบายถึงการใช้เทคนิคด้านซินโครตรอนที่หลากหลายของ มารีน คอตเต (Marine Cotte) นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยและการฟื้นฟูแห่งพิพิธภัณฑ์ฝรั่งเศส

สำหรับจิตรกรรมฝาผนังที่ทีมวิจัยสำรวจนั้น เป็นภาพของพระพุทธเจ้านุ่งห่มด้วยจีวรสีแดงสดและนั่งขัดสมาธิ ท่ามกลางต้นปาล์มและสัตว์ในตำนาน และพวกเขายังพบอีกว่ามีถ้ำ 12 แห่งจากทั้งหมด 50 แห่งที่วาดภาพด้วยเทคนิคสีน้ำมันซึ่งเป็นไปได้วาด อาจผลิตขึ้นจากผลมันฮ่อหรือวอลนัทและเมล็ดฝิ่น

ผลจากการวิเคราะห์แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของสีกับตัวผสม และนักวิทยาศาสตร์ยังได้จำแนกถึงส่วนผสมแบบดั้งเดิมกับองค์ประกอบที่มีการดัดแปลง ในส่วนของภาพที่บางชั้นเป็นสีน้ำมันนั้นพบองค์ประกอบของยางไม้ โปรตีนและกาวแต่บางกรณีก็เป็นยางที่คล้ายน้ำมันเคลือบเงา ในส่วนของวัสดุที่เป็นโปรตีนนั้นอาจได้จากสัตว์หรือไข่

จากการวิเคราะห์นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่ามีการใช้ตะกั่วขาว (Lead whites หรือ Lead carbonate) สำหรับวาดภาพในปริมาณสูง ซึ่งตะกั่วขาวนั้นเป็นที่นิยมมาตั้งแต่สัมยโบราณจนถึงปัจจุบัน และไม่เพียงแค่ใช้ในวงการวาดภาพเท่านั้นแต่ยังนิยมใช้เป็นเครื่องสำอางสำหรับหน้าขาวด้วย

"ภาพนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของภาพวาดสีน้ำมันแรกสุดของโลก แม้ว่าจะมีการใช้ผงน้ำมันในโรมันและอียิปต์โบราณ แต่ก็เพียงในวงการแพทย์และเครื่องสำอางเท่านั้น" โยโกะ ทานิกุชิ (Yoko Taniguchi) ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมในการวิจัยครั้งนี้กล่าว

ทั้งนี้เป็นไปได้ว่าภาพวาดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนานี้เป็นผลงานของศิลปินที่เดินทางบนเส้นทางสายไหม (Silk Road) ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าโบราณระหว่างจีนตัดผ่านทะเลทรายในเอเชียกลางไปยังโลกตะวันตก อย่างไรก็ดียังมีการศึกษาเกี่ยวกับเส้นทางสายนี้อยู่น้อยมาก

"ด้วยเหตุผลทางการเมืองการวิจัยภาพวาดในเอเชียกลางเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เราค่อนข้างโชคดีที่ได้รับโอกาสจากยูเนสโก (UNESCO) ผ่านโครงการอนุรักษ์มรดกโลกที่บามิยันให้ศึกษาตัวอย่างเหล่านี้ และเราหวังว่างานวิจัยในอนาคตจะช่วยให้เข้าใจได้ละเอียดขึ้นเกี่ยวกับเทคนิคการวาดภาพตลอดเส้นทางสายไหมและแผ่นดินในแถบยูโรเซีย" ทานิกุชิกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น