xs
xsm
sm
md
lg

คุณหญิงกัลยาหนุนใช้ "ซินโครตรอน" เต็มที่ แต่ให้เครื่องใหม่ยังไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.คุณหญิงกัลยา ชมงานวิจัยภายในสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (ภาพ ก.วิทย์)
"คุณหญิงกัลยา" เยือนสถาบันซินโครตรอน ระบุพร้อมดันให้เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนทำงานได้เต็มศักยภาพ แต่เศรษฐกิจอย่างนี้ยังไม่หนุนให้สร้างเครื่องใหม่

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะ เดินทางเยี่ยมสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 20 ก.พ.52 โดยทีมข่าว "วิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" และสื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์ด้วย

ทั้งนี้ รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทย์ฯ ในฐานะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวรายงานการทำงานของสถาบันว่า เริ่มต้นจากมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติในปี 2539 โดยสถาบันได้รับบริจาคเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประเทศเจริญแล้วที่ส่วนใหญ่อยู่ในซีกโลกเหนือล้วนมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน

เครื่องซินโครตรอนของไทยนั้น นับเป็นเครื่องที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้เพิ่มสถานีลำเลียงแสงซินโครตรอนและเริ่มเปิดให้บริการวิจัยตั้งแต่ปี 2547 และปัจจุบันมี 3 สถานีลำเลียงแสงและกำลังก่อสร้างอีก 3 สถานี

ส่วนสถานะปัจจุบัน สามารถเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนสามารถกักเก็บอิเล็กตรอนในวงแหวนให้โคจรเป็นวงกลมที่ระดับพลังงาน 1.2 กิกะอิเล็กตรอนโวลต์ (GeV) ได้นาน 12 ชั่วโมง และให้บริการเต็มที่ จากเดิมที่ระดับพลังงานอยู่ที่ 1 GeV โดยความเข้มของแสงซินโครตรอนมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 10,000-20,000 เท่า

สำหรับ 3 สถานีส่งลำแสงซินโครตรอน รศ.ดร.วีระพงษ์บอกว่าได้แก่ สถานี
PES (Photoemission Spectroscopy) ใช้ประโยชน์ในการดูพฤติกรรมของอิเล็กตรอน สถานี XAS (X-ray Absorption Spectroscopy) ใช้ประโยชน์ในการจำแนกชนิดของธาตุ รวมทั้งชนิดของประจุธาตุนั้นๆ ได้ และสถานี X-ray Lithography ซึ่งใช้ประโยชน์รังสีเอกซ์ (Soft X-ray) เพื่อสร้างวัสดุขนาดจิ๋ว โดยในยุโรปมีงานวิจัยด้านนี้มาก อีกทั้งยังใช้ผลิตอุปกรณ์วัดความเร็วของไหล ซึ่งน่าสนใจว่านำไปประยุกต์ใช้ผลิตชิปวัดระดับน้ำตาลในเลือดได้ เรียกว่าเป็นห้องปฏิบัติการบนชิป (Lab. on Chip)

“เนื่องจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนของเราเป็นเครื่องที่รับบริจาคมา แม้ใช้งานได้ แต่ก็น่าจะถึงขีดสุดแล้ว ถ้าอยากได้มากกว่านี้ ต้องสร้างใหม่ ซึ่งใช้เงินประมาณ 5-6 พันล้านบาท ส่วนเครื่องเก่านี้ประมาณ 8-9 ร้อยล้านบาท ซึ่งทำได้ขนาดนี้ ถือว่าดีทีเดียวสำหรับคนไทย ส่วนการพัฒนากำลังคนยากมาก เพราะแรกเริ่มเราไม่มีกำลังคนด้านนี้เลย มีแต่ (สาขา) ข้างเคียง ผมก็ไม่ใช่ แต่ก็มีทุนพัฒนาคนให้ปีละ 4-5 คน ซึ่งตอนนี้ก็ทยอยกลับมาบ้างแล้ว" รศ.ดร.วีระพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล รักษาการหัวหน้าฝ่ายระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวเพิ่มเติมกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนจะคุ้มค่าได้ ไม่ใช่ให้แค่นักวิจัยของสถาบันใช้ แต่ต้องเปิดโอกาสให้นักวิจัยทั่วประเทศได้ใช้ ซึ่งเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนนี้เปิดเดินเครื่องต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง โดยหยุดเพื่อซ่อมบำรุงทุกวันจันทร์

พร้อมเผยถึงแผนการพัฒนาศักยภาพเครื่องแสงซินโครตรอนเพิ่มเติมว่า สำหรับปี 2552 นี้ทางสถาบันเตรียมพัฒนาระบบผลิตลำแสงให้มีความเข้มสูงขึ้น 2,000 เท่า และระบบผลิตลำแสงที่มีพลังงานสูงขึ้นซึ่งจะมีความยาวคลื่นสั้นลง ช่วยนำไปใช้ดูโครงสร้างโปรตีนหรือโครงสร้าง 3 มิติ ของโมเลกุลได้ ทั้งนี้เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนของสถาบันรองรับระบบลำเลียงแสงได้ทั้งหมด 8 สถานี

ทางด้าน ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวภายหลังรับฟังรายงานว่า คุ้นเคยกับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเป็นอย่างดี โดยเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ยังศึกษาอยู่นั้นได้ทำวิจัยคล้ายๆ กัน แต่เป็นการทำวิจัยที่ระดับพลังงานสูงถึง 16 GeV และตอนนี้งานวิจัยที่เคยทำคงไปไกลกว่ามากแล้ว ส่วนที่สถาบันทำอยู่ที่ระดับ 1-1.2 GeV ซึ่งผ่านมา 12 ปี ทำได้ขนาดนี้ถือว่าใช้ได้ และบอกด้วยว่าอาจจะไม่สัญญาว่าจะผลักดันงบมาที่สถาบัน แต่สัญญาว่าจะผลักดันงบพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากเดิม 0.26% ของจีดีพี เป็น 0.5% ของจีดีพี

ภายหลังทีมข่าววิทยาศาสตร์ได้สอบถาม ดร.คุณหญิงกัลยาเพิ่มเติมด้วยว่า คาดหวังงานวิจัยใดเป็นพิเศษจาก สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนหรือไม่ ทางรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ตอบกลับว่า ที่สถาบันทำอยู่ก็ครอบคลุมรอบด้านอยู่แล้ว แต่จะผลักดันให้สร้างสถานีลำเลียงลำแสงให้ครบ 8 สถานี เพื่อให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ตอนนี้ยังไม่มีงบประมาณสำหรับสร้างเครื่องกำเนิดแสงใหม่

“จะผลักดันให้มีเงินสร้างให้ครบเต็มศักยภาพ แต่ตอนนี้ยังไม่ลงรายละเอียด ทั้งนี้แสงซินโครตรอนสามารถทะลุทะลวงและมองเห็นได้ว่าเป็นธาตุอะไรบ้าง โปรตีนในเชื้อโรคเป็นอย่างไร เพื่อสร้างเม็ดยาไปหยุดหรือล็อคการเจริญเติบโตของเชื้อ เช่น เอชไอวี เป็นต้น สำหรับงานวิจัย 2,500 ชิ้น ก็นับว่าได้มาตรฐานสำหรับเครื่องที่ขอมา ส่วนเครื่องใหม่ เขาคงอยากได้ แต่อย่าเพิ่งพูดเลยช่วงเศรษฐกิจอย่างนี้" ดร.คุณหญิงกัลยากล่าว
 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ปลูกต้นไม้หน้าอาคารหอดูดาวภูมิภาค ซึ่งกำลังรอติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ หลังเยี่ยมชมสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน
ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล นักวิจัยสถาบันแสงซินโครตรอน นำบรรยายการทดลองภายในสถาบันให้ ดร.คุณหญิงกัลยา
กำลังโหลดความคิดเห็น