xs
xsm
sm
md
lg

เสนอไทยตั้งองค์กรอิสระ ทุ่มวิจัยเฉพาะสเต็มเซลล์ปีละ 500 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย (ซ้าย) และ ดร.วราภรณ์ ตัณฑนุช
นักวิทย์ไทยหวั่นบริษัทต่างชาติเอานวัตกรรมด้านสเต็มเซลล์เข้ามาโกยเงินคนไทย เสนอให้จัดตั้งองค์การอิสระ ดูแลด้านสเต็มเซลล์โดยเฉพาะ แนะรัฐทำโรดแม็ปให้ชัดเจนกับทุ่มเงินวิจัยอย่างน้อย 500 ล้านบาทต่อปี พร้อมโชว์ผลงานการจำแนกเซลล์ประสาทจากสเต็มเซลล์ตัวอ่อนหนูด้วยแสงซินโครตรอน

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จัดเสวนาคุยกัน...ฉันท์วิทย์ เรื่อง "เจาะลึกสเต็มเซลล์ กับแสงซินโครตรอน" เมื่อวันพุธที่ 11 มี.ค.52 ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมมากมาย รวมทั้งทีมข่าว "วิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์" โดยมีการพูดถึงประโยชน์และความก้าวหน้าของงานวิจัยด้านสเต็มเซลล์

ผศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยกับสื่อมวลชน และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASRVผู้จัดการออนไลน์ ว่า การวิจัยด้านสเต็มเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีความก้าวหน้า เนื่องจากติดปัญหาด้านจริยธรรม และไม่มีกฎหมายรองรับในการนำตัวอ่อนมนุษย์ที่เหลือจากการทำเด็กหลอดแก้วมาใช้ และไม่มีใครกล้าออกมาเคลื่อนไหวต่อเรื่องนี้เนื่องจากกลัวถูกโจมตีในด้านจริยธรรม

ส่วนการศึกษาวิจัยสเต็มเซลล์จากร่างกายนั้นไม่มีปัญหาในด้านจริยธรรม และมีการศึกษากันค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังไม่มีการสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างชัดเจน และยังขาดทุนวิจัยอยู่อีกมาก ขณะที่ในหลายประเทศมีนโยบายสนับสนุนชัดเจน เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำด้านสเต็มเซลล์ในแถบเอเชีย หรืออย่างในสหรัฐฯ เฉพาะมลรัฐแคลิฟอร์เนียเพียงมลรัฐเดียวมีการทุ่มงบวิจัยในด้านสเต็มเซลล์ถึงปีละ 3-4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ของไทยเราให้งบวิจัยด้านสเต็มเซลล์ประมาณ 20-30 ล้านบาทต่อปี

ล่าสุดรัฐบาลสหรัฐฯ หันมาให้การสนับสนุนการวิจัยสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนอีกครั้ง หลังจากที่รัฐบาลชุดก่อนไม่สนับสนุน และห้ามผลิตสเต็มเซลล์ตัวอ่อนเพิ่มขึ้น รวมทั้งจำกัดทุนวิจัยในเรื่องดังกล่าวมานานถึง 8 ปี

"ประเทศไทยควรกำหนดทิศทางการวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์ให้ชัดเจน เพราะไม่เพียงแต่มีความสำคัญในด้านการแพทย์ แต่ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงินทองด้วย เพราะอีกหน่อยจะมีบริษัทด้านสเต็มเซลล์ของต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น และใช้องค์ความรู้ของเขาให้บริการและดึงเงินจากคนไทย ซึ่งถ้าเราไม่เริ่มต้นพัฒนานักวิจัยและองค์ความรู้ของเราเองให้ทัดเทียมกับเมืองนอกทั้งด้านวิจัยพื้นฐานและการประยุกต์ใช้ จะทำให้เราต้องเสียเงินซื้อเทคโนโลยีของเขาเหมือนกับที่ผ่านๆมา" ดร.รังสรรค์ กล่าวแสดงความเห็น

ดร.รังสรรค์ เสนอแนะด้วยว่าประเทศไทยควรมีแผนที่นำทางการวิจัยด้านสเต็มเซลล์ที่ชัดเจน และควรจะมีการจัดตั้งองค์กรอิสระสำหรับดูแลเรื่องการวิจัยพัฒนาด้านสเต็มเซลล์โดยเฉพาะ ทั้งในเรื่องการอนุญาตให้วิจัย ระเบียบวิธีปฏิบัติ การให้ทุนวิจัย สิทธิบัตร กฎหมาย และจริยธรรม เพื่อให้นักวิจัยหรือหน่วยวิจัยที่มีศักยภาพด้านสเต็มเซลล์ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังในการผลิตองค์ความรู้และงานวิจัยในด้านนี้ออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเบื้องต้นเห็นว่าควรมีงบวิจัยให้กับสเต็มเซลล์ปีละไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

นอกจากนี้ ดร.รังสรรค์ ยังได้ร่วมกับ ดร.วราภรณ์ ตัณฑนุช นักวิจัยจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยโมนาร์ช (Monarch University) ประเทศออสเตรเลีย พัฒนาวิธีการตรวจจำแนกเซลล์ประสาทที่พัฒนามาจากสเต็มเซลล์ตัวอ่อนของหนู โดยใช้แสงซินโครตรอนในย่านรังสีอินฟราเรด หรือ เอฟที-ไออาร์ (Synchotron FT-IR microspectroscopy)

"โดยปรกติการคัดเลือกเซลล์ในปัจจุบันจะใช้เทคนิคการย้อมสีเซลล์ด้วยแอนติบอดีที่ติดกับสารเรืองแสงเป็นเครื่องหมายชีวโมเลกุล (biological marker) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่มีความถูกต้องแม่นยำ แต่เซลล์บางชนิดไม่สามารถใช้เทคนิคดังกล่าวได้ และยังเป็นวิธีการที่ค่อนข้างยุ่งยาก ใช้เวลานานเป็นวัน และต้องใช้สารเคมีที่มีความจำเพาะ ซึ่งมีราคาแพง แต่การจำแนกโดยใช้แสงซินโครตรอน จะไม่ต้องใช้สารเคมีดังกล่าว ทำให้เตรียมตัวอย่างได้ง่ายขึ้น และใช้เวลาตรวจสอบไม่เกิน 20 นาที" ดร.วราภรณ์กล่าว

ทั้งนี้ นักวิจัยกำลังจะตีพิมพ์ผลงานวิจัยดังกล่าว ในวารสารนานาชาติด้านแสงซินโครตอน ซึ่งวิธีการตรวจจำแนกเซลล์ด้วยแสงซินโครตรอนเป็นวิธีใหม่ที่หลายประเทศกำลังสนใจศึกษาวิจัย และประเทศไทยก็เป็นอันดับต้นๆ ที่มีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ซึ่งหากได้รับการพัฒนามากขึ้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในด้านการแพทย์.
ผู้สนใจเข้าร่วมฟังการเสวนาเรื่อง คุยกัน...ฉันท์วิทย์ เรื่อง เจาะลึกสเต็มเซลล์ กับแสงซินโครตรอน
กำลังโหลดความคิดเห็น