เพราะคิดว่าความบกพร่องทางกาย ไม่ใช่อุปสรรค จึงทำให้ "จักรี์รดา" มาถึงวันนี้ได้ วันที่ความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก ว่าอยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ ช่วยพัฒนาประเทศชาติ กำลังจะกลายเป็นความจริง ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หลังจากที่เธอฝ่าด่านอรหันต์ในการสอบชิงทุนรัฐบาล แข่งขันกับคนปกติ จนกลายเป็นเยาวชนผู้พิการคนแรกของไทย ที่ได้ทุนเรียนต่อปริญญาโท-เอก ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ (ศซ.) และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จัดเสวนาเรื่อง "โอกาสของเยาวชนผู้พิการไทย สู่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลก" ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2551 เมื่อวันที่ 22 ส.ค.51 พร้อมกับเปิดตัว "น.ส.จักรี์รดา อัตตรัถยา" เยาวชนผู้บกพร่องทางการได้ยินคนแรกของไทย ที่สอบแข่งขันกับเยาวชนปกติ และได้ทุนของรัฐบาลไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท-เอก เทคโนโลยีชีวภาพ ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิล สหรัฐอเมริกา
จักรี์รดา หรือน้องมิ่ง เป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมาโดยกำเนิด โดยมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรมแฝงของพ่อและแม่ เช่นเดียวกับน้องสาว ญาณิศา ที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปี 2 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
แต่เพราะไม่อยากให้ความพิการนี้ มาเป็นข้อจำกัดใดๆ ของบุตรสาว และเพื่อไม่ให้ลูกเกิดปมด้อย พ่อและแม่ของมิ่งจึงเลี้ยงดูลูกทั้ง 2 คน ตามปกติให้เหมือนเด็กทั่วไป ให้เข้าโรงเรียนปกติ และทำกิจกรรมต่างๆ เหมือนเด็กทั่วไป และให้สื่อสารกับคนปกติ ได้ด้วยการอ่านริมผีปาก และพูดโต้ตอบ แทนการใช้ภาษามือสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน
ปัจจุบันจักรี์รดาอายุ 23 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 2 สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2550 และเป็นผู้พิการคนแรกของไทยที่สอบชิงทุนรัฐบาล ไปศึกษาต่อทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในต่างประเทศ ได้จากการสอบแข่งขันกับคนปกติ ซึ่งความสำเร็จของเธอสร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครัวอย่างมาก และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเยาวชนไทยและผู้พิการด้วย
จักรี์รดาเปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เหตุที่เลือกเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ เพราะประทับใจคุณครูสอนวิทยาศาสตร์ตอนเธออยู่ชั้น ป.3
มิ่งบอกว่า คุณครูไม่ได้สอนแค่อธิบายทฤษฎีให้ฟังอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังให้นักเรียนทำการทดลองที่สนุกๆ ด้วย ทำให้มิ่งรู้สึกชื่นชอบวิทยาศาสตร์ และตั้งแต่นั้นมามิ่งก็ใฝ่ฝันว่าจะต้องเรียนจบดอกเตอร์ให้ได้ เพื่อเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยช่วยพัฒนาประเทศ
"ตอนเรียน ม.ปลาย รู้สึกชอบวิชาเคมีมากที่สุด และอยากเรียนต่อทางด้านเคมี แต่ตอนสอบเอนทรานซ์มาคิดทบทวนใหม่ เห็นว่าหากเรียนวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์โดยตรง จะนำไปประยุกต์ใช้ได้ยาก จึงตัดสินใจเลือกเรียนทางด้านเทคโนโลยีอาหาร ซึ่งเป็นสาขาที่นำวิทยาศาสตร์พื้นฐานหลายอย่างมาประยุกต์เข้าด้วยกัน และยังนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้หลากหลายมากกว่า" จักรี์รดาเล่าให้ฟัง ซึ่งตอนอยู่ชั้น ม.6 เธอยังเคยร่วม เข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการสาขาเคมีอีกด้วย
เมื่อจบปริญญาตรี จักรี์รดาจึงสอบชิงทุนของรัฐบาล เพื่อจะเรียนต่อตามที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งเธอก็สามารถสอบผ่านข้อเขียนได้ถึง 4 ทุน ได้แก่ ทุนรัฐบาลสาขาเคมีอาหาร (Food Chemistry), สาขาจุลชีววิทยาอาหาร (Food Microbiology), สาขาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และสาขาเทคโนโลยีและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ แต่ไม่ผ่านการสอบสัมภาษณ์เลยสักทุน
หลังจากนั้น มิ่งก็ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เป็นเวลา 1 ปี แต่ความพยายามไม่ได้สิ้นสุดอยู่แค่นั้น มิ่งมุมานะอีกครั้งในปีนี้ และในที่สุดก็ได้ทุนรัฐบาล ที่จัดสรรให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามความต้องการของศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ ไปศึกษาต่อทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เน้นการใช้ประโยชน์แสงซินโครตอน ทางด้านโปรตีนคริสตัลโลกราฟี (Protein Crystallography)
ส่วนตัวมิ่งนั้น ได้ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม (Cochlear Implant) ตอนอายุ 17 ปี ซึ่งช่วยให้หูของเธอพอได้ยินบ้าง 40-50% แต่สิ่งที่ช่วยให้มิ่งสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาได้มากที่สุดคือการอ่าน ทั้งอ่านริมฝีปากของอาจารย์ผู้สอน และอ่านหนังสือและตำราเรียนต่างๆ และเชื่อได้เลยว่ามิ่งต้องอ่านหนังสือเยอะ มากกว่าคนอื่นๆ หลายเท่าอย่างแน่นอน แต่ตัวมิ่งเองไม่ได้คิดว่า เธอต้องพยายามมากกว่าคนอื่น แต่คิดว่าตัวเองก็ทำได้เหมือนคนอื่นๆ เช่นกัน
มิ่งยังเล่าด้วยความตื่นเต้นดีใจว่า ตอนสอบสัมภาษณ์ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะได้ทุน และยังกังวลว่า จะตอบคำถามได้ไม่ถูกใจคณะกรรมการ เหมือนอย่างคราวที่แล้วหรือไม่
แต่เมื่อประกาศผล และพบว่าเป็นตัวเอง ที่ได้ทุนก็รู้สึกดีใจอย่างมากที่ตัวเองทำสำเร็จแล้ว โดยการสอบชิงทุนครั้งนี้ เป็นทุนที่จัดสรรไว้สำหรับคนปกติ แต่ไม่ได้จำกัดสิทธิ์ผู้พิการ
มิ่งจึงกลายเป็นผู้พิการคนแรก ที่ได้ทุนจากการสอบแข่งขันกับคนปกติ เพราะที่ผ่านมา มีแต่เพียงผู้พิการที่ได้รับทุนจากการสอบแข่งขันในหมู่ผู้พิการด้วยกันเองเท่านั้น และตอนนี้มิ่งอยู่ระหว่างเรียนภาษา และการอ่านริมฝีปากภาษาอังกฤษเพิ่มเติม ซึ่งมีเวลาเตรียมตัว 1 ปี ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อ
มิ่งบอกว่า ก่อนหน้านี้ยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับซินโครตรอนมากนัก คิดว่าคงเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง แต่หลังจากที่ได้ทุนแล้ว รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ผอ.ศซ. ได้อธิบายให้ฟังว่าซินโครตรอนคืออะไร และใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้หลากหลายสาขา รวมทั้งด้านอาหาร
อีกทั้ง ยกตัวอย่างว่า ในประเทศอังกฤษก็มีการใช้แสงซินโครตรอน เพื่อพัฒนาคุณภาพของช็อคโกแลตให้อร่อยยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก และการใช้แสงซินโครตรอน ยังช่วยให้การทำวิจัยรวดเร็วขึ้นด้วย
ส่วนมุมมองในด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย มิ่งบอกว่าวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาประเทศได้ อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาสมองไหล โดยสนับสนุนด้านนี้ให้มากยิ่งขึ้น และอยากให้คุณครูในโรงเรียน สอนวิทยาศาสตร์ให้เด็กเข้าใจง่ายขึ้น ให้นักเรียนได้มีโอกาสฝึกคิด ฝึกทำการทดลองที่สนุก ไม่ใช่เพียงแค่สอนแต่ทฤษฎีเท่านั้น เพื่อที่เด็กจะได้ไม่รู้สึกว่าวิทยาศาสตร์ยากเกินไปหรือเป็นเรื่องไกลตัว เพราะครูมีส่วนสำคัญที่ทำให้นักเรียนคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยาก
นอกจากเรียนดีแล้ว มิ่งยังจัดว่าเป็นนักกิจกรรมตัวยงอีกด้วย ตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมหาวิทยาลัย มิ่งร่วมกิจกรรมทั้งในและนอกโรงเรียนมาโดยตลอด ทั้งกิจกรรมกีฬาและวิชาการ เช่น กรีฑา เทควันโด ค่ายวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เป็นต้น และเสียงสะท้อนจากคนรอบข้างบอกว่ามิ่งเป็นคนมองโลกในแง่ดี คุยเก่ง และร่าเริงอยู่ตลอดเวลา
"ความพิการเป็นแค่ความผิดปกติทางร่างกาย แต่สมองของเรายังใช้การได้ดีอยู่ เพราะฉะนั้นเราควรจะใช้สมองของเราให้เกิดประโยชน์มากที่สุด คนที่ขาพิการก็สามารถใส่ขาเทียมได้ แม้จะวิ่งไม่ได้ แต่ก็ยังสามารถเดินได้ คนตาบอด แม้จะมองไม่เห็นแต่หูยังได้ยิน ส่วนคนหูหนวก แม้จะไม่ได้ยิน แต่ตามองเห็น ก็ต้องใช้ตาให้เป็นประโยชน์โดยการอ่านมากๆ" มิ่งฝากข้อคิดและให้กำลังผู้พิการทุกคน
ขณะเดียวกัน นายวิศิษฐ์ อัตตรัถยา พ่อของมิ่ง มีคำพูดเสริมว่า แม้จะเป็นผู้พิการ แต่หากมีความพยายาม ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ทุกคน พร้อมยกตัวอย่าง จอห์น คอร์นฟอร์ธ (John Warcup Cornforth) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลปี 1975 ชาวออสเตรเลีย ซึ่งพิการทางหูเช่นกัน
นอกจากนี้ พ่อของน้องมิ่ง ยังฝากถึงพ่อแม่ ที่มีบุตรพิการว่า ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญ ที่จะทำให้เขาประสบความสำเร็จได้
อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนของครอบครัวย่อมมีขีดจำกัด ดังนั้นองค์กรภายนอกต่างๆ ก็ต้องมีส่วนช่วยด้วยเช่นกัน ซึ่งหากไม่มีองค์กรเหล่านั้น ก็อาจมาไม่ถึงจุดนี้ก็ได้ สิ่งสำคัญคือทุกคนควรมีส่วนร่วมกันช่วยเหลือและให้โอกาสผู้พิการ.