"เซิร์น" ทดสอบยิงลำอนุภาค โคจรรอบเครื่องเร่งอนุภาคผ่านฉลุย ทั้งทวนเข็มและตามเข็ม เตรียมเดินเครื่องครั้งแรก 10 ก.ย.นี้ หวังจะได้เห็นลำแสงวิ่งไปตามทางที่กำหนด และเกิดการชนกันตามที่คาดการณ์ไว้
เซิร์น (CERN) หรือ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ (European Center for Nuclear Research) ออกมาประกาศถึง ความสำเร็จของการทดสอบการทำงาน ระบบประสานงานลำอนุภาคของเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (Large Hadron Collider: LHC) ซึ่งทดลองเป็นครั้งที่สอง และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 ส.ค.51 ที่ผ่านมา ทำให้ทีมดำเนินงาน สามารถวางแผนยิงลำอนุภาคแรก เข้าไปในเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีได้
ทั้งนี้ เซิร์นมีกำหนดยิงแสงแรก หรือการพยายามทดลองเดินเครื่องครั้งแรกเร่งอนุภาคแอลเอชซีในวันที่ 10 ก.ย.51 เวลา 09.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลาประมาณ 14.15 น. ของวันเดียวกันตามเวลาประเทศไทย โดยที่เซิร์นเรียกวันแห่งการทดลองครั้งแรกนี้ว่า "แอลเอชซี เฟิร์สต์ บีม เดย์" (LHC First Beam Day) พร้อมทั้งเปิดให้ผู้สื่อข่าวเข้าชม ณ ห้องควบคุม และนำชมห้องแล็บทั้ง 4
ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน มีการส่งกลุ่มอนุภาค จากเครื่องซินโครตรอนซูเปอร์โปรตอน หรือ เอสพีเอส (Super Proton Synchrotron: SPS) ไปยังเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี และผ่านไปเป็นเวลาพอสมควร กลุ่มอนุภาคหนึ่งได้เคลื่อนเข้าสู่ท่อลำอนุภาคของแอลเอชซี แล้วหมุนตามเข็มนาฬิการอบแอลเอชซีเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร
"ขอบคุณทีมงานทียอดเยี่ยม ทั้งการทดสอบยิงลำอนุภาคแบบทวนเข็ม และตามเข็มนาฬิกา เป็นไปโดยปราศจากอุปสรรค เราจดจ่อกับความสำเร็จอันกึกก้อง ในความมุ่งมั่นแรกที่จะส่งลำอนุภาคทั้งหมดรอบๆ เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี" ลิน อีวานส์ (Lyn Evans) หัวหน้าโครงการเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี กล่าว
การทดสอบยิงลำอนุภาคทั้งทวนเข็มและตามเข็มนาฬิกานั้น เป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อม ของเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี ซึ่งเป็นเครื่องเร่งอนุภาคที่ทรงพลังที่สุดในโลก เพื่อให้ที่สุดแล้ว ลำอนุภาค 2 ลำ ถูกเร่งและชนกัน ที่ระดับพลังงานของลำอนุภาคละ 5 เทราอิเล็กตรอนโวลต์ (TeV) ซึ่งเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ ได้รับการทำนายว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2551
ทั้งนี้ เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี สามารถเร่งอนุภาคให้มีความเร็วเข้าใกล้แสง 99.9999% โดยการเร่งอนุภาคดังกล่าวเกิดขึ้นภายในท่อที่ขดเป็นวงกลม 27 กิโลเมตร ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินลึกลงไป 100 เมตร ระหว่างชายแดนฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์
สำหรับ หนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของการทดลองสุดยิ่งใหญ่ครั้งนี้ คือการหาอนุภาคตามที่ทฤษฎีทำนายไว้ที่เรียกว่า "ฮิกก์ส" (Higgs) ที่จะสามารถอธิบายความลึกลับของมวล และอนุภาคนี้ยังมีชื่อเรียกซึ่งเป็นที่รู้จักอีกชื่อว่า "อนุภาคพระเจ้า" ซึ่งมีอยู่ทั่วไปแต่หาได้ยาก
ทั้งนี้ กำหนดการเดินเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี ในวันที่ 10 ก.ย. นี้จะเป็นการยิงลำอนุภาคที่ระดับพลังงาน 450 กิกะอิเล็กตรอนโวลต์ (GeV) ให้เคลื่อนที่ในอุโมงค์ รอบเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี และมีการถ่ายทอดผ่านอินเทอร์เน็ตตั้งแต่เวลา 09.00 - 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือตามเวลาประเทศไทย 14.00 น. เป็นต้นไป ที่ http://webcast.cern.ch
นอกจากนี้ ในวันที่ 3 ต.ค.51 ที่จะถึงนี้ เซิร์นจะเป็นเจ้าภาพงาน "แอลเอชซีกริดเฟสต์" (LHC Grid Fest) ซึ่งเป็นการฉลองระบบคอมพิวเตอร์กริด ของแอลเอชซี (LHC Computing Grid) ซึ่งเป็นระบบคอมพิวเตอร์กริด ที่ออกแบบมารับมือกับข้อมูล ของเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีที่จะออกมาถึงปีละ 15 ล้านกิกะไบต์ โดยภายในงานจะมีการนำเสนอคุณสมบัติของระบบ การสาธิตการทำงาน พร้อมนำชมศูนย์คอมพิวเตอร์ของเซิร์น ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.cern.ch/Icg/lhcgridfest
ส่วนรายละเอียดสิ่งที่เซิร์นต้องการค้นหา และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ตามที่ชาวโลกเกรงกลัว คลิกอ่าน รายงานพิเศษที่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ เคยนำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ได้ที่...
เซิร์น : การทดลองสุดยิ่งใหญ่ของมวลมนุษย์ ค้นหาจุดเล็กสุดสู่กำเนิดจักรวาล
Special : "เซิร์น" กับปฏิบัติการค้นหาต้นตอจักรวาล