โลกใบกลมๆ ดูจะแบนลงทุกๆ วัน หัวใจคนเรากว้างน้อยลง และนับวันดูยิ่งมีสีดำ น้ำใจแห้งเหือด และด้วยมีผู้ใหญ่เป็นห่วงว่าเยาวชนผู้กุมชะตาชาติจะแก่งแย่ง และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่กอบโกยโดยไม่เห็นคุณค่าของผู้อื่น สถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.) จึงจัดค่ายภาคฤดูร้อนพัฒนาศักยภาพเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษ หรือเด็กอัจฉริยะขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้หัวกะทิเหล่านี้ พัฒนาสมองได้อย่างเต็มศักยภาพ และเรียนรู้ความสมดุลในชีวิตด้วยการฝึกช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นตลอดจนปลูกฝังทัศนคติการเป็นผู้ไม่ทำลายให้กับเด็กเหล่านี้อีกด้วย
สิริมณี ชุมเรียง หัวหน้าสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าทะเลน้อย พี่ใหญ่ที่ดูแลค่ายเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล เขตอนุรักษ์สัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับค่ายในครั้งนี้ ว่า มีนักเรียนคุณภาพในค่าย 110 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนในเขตภาคใต้ อีสาน เหนือ และภาคกลางบ้าง โดยกิจกรรมการเรียนรู้แบ่งเป็น 3 หมวดใหญ่ๆ ตามความหลากหลายทางชีวภาพของทะเลน้อย
“ข้อมูลที่จะเรียนรู้มีมาก แต่การจะให้ได้ทุกอย่างในคนๆ เดียวก็เป็นเรื่องยาก จึงแบ่งเป็น ชาวน้ำ ชาวฟ้า และชาวฝั่ง เพื่อให้เด็กแยกกันหาความรู้ แล้วนำสิ่งที่ได้รับในแต่ละส่วนมารวมกันเสนอในวันปิดค่าย ซึ่งทั้งหมดเป็นความร่วมมือระหว่างชุมชน สถาบันการศึกษา และสำหรับการจัดค่ายเด็กเก่งนั้นไม่มีปัญหาด้านการจัดการ เด็กทุกคนหัวไว กระตือรือร้นที่ศึกษา ทำให้พี่เลี้ยงค่ายหากิจกรรมแปลกใหม่แบบเอ็ดดูเทนเม้นมาเพื่อให้เขารู้สึกไม่เบื่อ”
ด.ช.ทรงฤทธิ์ ฤทธิภักดี- หลุยส์ โรงเรียนเทศบาล 5 (วัดหัวป้อมนอก) จ.สงขลา หนุ่มน้อยวัย 13 ปี บอกเล่าด้วยอาการตื่นเต้นภายหลังจากเก็บตัวอย่างน้ำในทะเลน้อย ว่า ตื่นเต้นที่ได้เจออะไรใหม่ๆ การมาเข้าค่ายวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่เขาอยากจะทำมานาน ด้วยเพราะเป็นคนที่ชอบทดลอง พิสมัยการค้นหา และเจอะเจอสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน
“ผมว่าการตรวจคุณภาพน้ำ และการค้นหาสิ่งมีชีวิตในน้ำท้าทายในตัวมันเอง และประโยชน์ของมันก็คือถ้าเรารู้ว่าอะไรคือพืช อะไรคือสัตว์ แยกแยะและรู้ว่ามีจำพวกใดน้อยก็จะทำให้รู้ว่าน้ำบริเวณนั้นยังอุดมสมบรูณ์อยู่หรือเปล่า ถ้าเจอปลาหรือพืชน้อยมันก็เป็นสัญญาณว่าคนฝั่งต้องทำอะไรสักอย่าง” หลุยส์ เล่าด้วยรอยยิ้ม
แนวคิดของหัวกะทิแห่งสงขลาไม่หมดเพียงเท่านี้ เขาบอกว่า สิ่งที่อยากจะนำไปต่อยอดจากค่ายนี้ ก็คือ ความฝันที่จะเพาะพันธุ์สัตว์ทะเลหายาก และสืบค้นทางทะเล นักวิทยาศาสตร์คือความฝันในอนาคตของหนุ่มน้อยคนนี้ โดยเขาบอกด้วยว่า การทดลองที่เขาทำทุกครั้งจะต้องมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อจะไม่ให้การทดลองที่ผิดพลาดเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่านั่นเอง และสิ่งที่ได้จากค่ายภาคฤดูร้อน คือ น้ำใจของพี่ๆ ความห่วงใยของเพื่อนๆ ร่วมค่าย และกิจกรรมที่แม้จะลำบากบ้างแต่ก็สนุกจนลืมไม่ลงทีเดียว
ฝนซาหลังจากที่ตกแบบใบไม้ไม่โงหัวเมื่อช่วงคืนที่ผ่านมา พื้นดินรอบทะเลน้อยจึงฉ่ำด้วยน้ำ แต่ช่วงสายก็พอจะมีแดดให้อุ่นใจกันบ้างสำหรับชาวฟ้าที่จะต้องล่องเรือดูนกในบริเวณนั้น และดูเหมือนว่าหัวกะทิต่างถิ่นจากโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย อย่าง ด.ช.คณิต สาสังข์ หรือไมค์ และด.ช.ณัฐชัย ชัยเศรษฐกุล หรือเปรม สองหนุ่มจากที่ราบสูงสู่แดนใต้เพื่อดูนกทะเลนับเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ
ไมค์ บอกว่า นอกจากได้รู้จักนกใหม่ๆ แล้วยังรู้เรื่องกล้องส่องนกด้วย สำหรับ เปรม การส่องนกช่วยเรื่องการฝึกการจดจำ แยกแยะชนิดนก พร้อมๆ ไปกับการเรียนรู้นิเวศของสัตว์ปีก นอกจากนี้ยังได้ฝึกปรือเทคนิคถ่ายรูป และสเกตช์ภาพด้วย
“ผมว่าค่ายสร้างการแลกเปลี่ยนของคนต่างพื้นที่ เราสองคนได้มาเรียนรู้พืชพรรณ และนกแห่งท้องทะเล เรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์ กล้าแสดงออก มีความเป็นผู้นำ เพราะนอกจากจะได้ฝึกคิดแล้ว ยังสอนให้เราสังเกต ตั้งใจ และสร้างระเบียบวินัยให้ด้วย”สองหนุ่มน้อยจากอีสานช่วยกันเสนอ
สำหรับคนน้ำเค็มผู้คุ้นเคยกับทะเลเป็นอย่างดี ก็ถึงเวลาที่จะมาเรียนรู้วิถีชาวฝั่งกันบ้าง นับเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องรู้ว่านอกจากล่องเรือจับปลาแล้ว ชาวบ้านมีวิถีการเอาชีวิตรอดแบบดั้งเดิมอย่างไรบ้าง
การสานกระจูด ซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นของภาคใต้นับจากสุราษฎร์ธานีลงไปถึงนราธิวาส นอกจากข้าวที่ปลูกกันเป็นล่ำเป็นสันแล้ว กระจูดเป็นพืชอีกหนึ่งชนิดที่เขียวเต็มทุ่งแข่งกับข้าว
น้องอ้อม หรือ ด.ญ.อ้อมใจ เมืองหมิ้น เด็กหญิงชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านควนพนางตุง ชาวพัทลุง แต่กำเนิด และคุ้นเคยกับกระจูดเป็นอย่างดี ผิดแต่ไม่เคยรู้เลยว่าพืชชนิดนี้มีแต่ภาคใต้ และไม่เคยเห็นว่ากรรมวิธีตั้งแต่ปักดำ เก็บเกี่ยว คัดแยก ย้อมสี เป็นอย่างไร กว่าจะถึงมือน้อยๆ นั้นแม่ก็บอกให้ช่วยสานเสียแล้ว
“เคยช่วยแม่สานกระจูดให้เป็นกระเป๋า แต่ยังไม่เคยได้ลองทำอะไรที่มากกว่านี้ เพราะแม่ยังไม่ยอมให้ทำ มาที่นี่นอกจากได้เห็นแล้วยังได้ลองทำบางขั้นตอนที่เด็กทำได้ กลับบ้านไปก็จะขอช่วยแม่ได้” อ้อมบอก
ยังมีเด็กใต้อีกหนึ่งคนที่งานนี้กระตือรือร้นเป็นพิเศษ และดูเหมือนจะเป็นที่รักของพี่เลี้ยงและเพื่อนๆ ด้วย ด.ช.นิธิกาญจน์ ปานวัง หรือ มายด์ นักเรียน ป.6 เทศบาลวัดชัยชุมพล นครศรีธรรมราช บอกว่า การมาค่ายสนุก ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น และได้เพื่อนอย่างที่เขาได้ในวันนี้
“อยู่โรงเรียนผมชอบเรียนรู้อยู่แล้ว ขอครูมาค่ายมันทำให้ได้สัมผัสของจริง ได้เห็นสิ่งที่ตอนอยู่ในเมืองไม่เห็น นอกจากสนุกที่ได้เห็นแล้วยังได้ทำด้วย” มายด์ทิ้งทาย
ถึงตรงนี้พี่ใหญ่อย่าง สิริมณี ให้ข้อคิดสำหรับการจัดค่ายเฉพาะด้าน โดยเฉพาะการจัดกับเด็กที่เรียกว่าหัวกะทิ ว่า ความคาดหมายระยะสั้น เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ รู้จักทะเลน้อยแหล่งชีวิตที่มีความหลากหลาย สำหรับระยะยาวหวังว่าจะให้เด็กเหล่านี้สามารถเอาตัวรอดได้ในกลุ่มคนเก่ง โดยเวลา 7-10 วันที่เขาได้ใช้ชีวิตประณีตขึ้น ได้ช่วยเหลือตัวเอง ฝึกระเบียบวินัย และการเอาตัวรอดให้ได้ด้วยตนเองในค่ายเสมือนวัคซีนที่จะช่วยคนคุณภาพของคนเก่งมีความดี
“นอกจากเขาจะนึกถึงตัวเองแล้ว การได้เห็นและสัมผัสชีวิตอื่นๆ จะทำให้คนที่อนาคตคือคนที่กุมชะตาชุมชน และบ้านเมือง เขาสามารถไปบริหารบริษัท ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก แต่การตัดสินใจอะไรสักอย่างลงไปที่จะมีผลต่อบ้านเมือง จะมีอะไรติดอยู่กับใจที่จะไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม การตัดสินใจในการทำโดยมีพื้นฐานในการรักธรรมชาติ เก่งแล้วต้องดีด้วย ถ้าเขาคิดว่าทุกชีวิตมีความสมดุลเท่าเทียมกัน ถ้าเขาคิดได้อย่างนี้ในวันนี้ เขาจะเป็นคนที่สุขง่ายและทุกข์ยาก ทำใจได้ง่าย ไม่โทษคนอื่น” หัวหน้าค่ายให้ข้อคิด