xs
xsm
sm
md
lg

"วุฒิพงศ์" พร้อมดันซินโครตรอนเป็นมหาชน-หนุนวิจัยยาไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"วุฒิพงศ์" เตรียมดันศูนย์ซินโครตรอนเป็นองค์กรมหาชน พร้อมหนุนนักวิจัยหายารักษาโรคในสมุนไพรไทยรับสถานีวิจัยใหม่ “การศึกษาโครงสร้างโปรตีนด้วยรังสีเอ็กซ์พลังงานสูง” ที่เตรียมเปิดใช้งานปลายปีนี้

นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาและผู้ติดตามได้เดินทางไปเยี่ยมชมพร้อมรับทราบนโยบายศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ (ศซ.) ในพื้นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่ ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 13 มี.ค.51 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ผอ.ศซ. ได้รายงานการทำงานของศูนย์ว่า นักวิจัยได้พัฒนา “เครื่องกำเนิดแสงสยาม” จากค่าพลังงานเดิม 1,000 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ ให้ไปถึงค่าพลังงาน 1,200 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ และสามารถให้บริการแสงซินโครตรอนได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีระบบลำเลียงแสงซินโครตรอนพร้อมสถานีวิจัยจำนวน 3 สถานี จากทั้งหมดที่ออกแบบไว้ให้รองรับได้ 6 สถานี

“ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการติดตั้งสถานีทดลองใหม่คือ สถานีวิจัยศึกษาโครงสร้างโปรตีน (Protein Crystallography) โดยการติดตั้งอุปกรณ์เสริมที่ทำจากตัวนำยิ่งยวด พร้อมระบบผลิตก๊าซฮีเลียมเหลว เพื่อให้เกิดรังสีเอ็กซ์ (X-ray) พลังงานสูง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับงานวิจัยด้านการวิเคราะห์โครงสร้างโปรตีน เอนไซม์ และนำไปสู่การพัฒนายารักษาโรคชนิดใหม่ๆ ได้ โดยคาดว่าจะติดตั้งเสร็จและเปิดใช้งานได้ราวปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า” รศ.ดร.วีระพงษ์กล่าว

ภายหลังการเยี่ยมชม นายวุฒิพงศ์กล่าวว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางด้านพันธุ์พืชสมุนไพรมาก ซึ่งในสมุนไพรเหล่านั้นอาจมีตัวยารักษาโรคอยู่ด้วยแต่เรายังหาไม่เจอ

ดังนั้นสถานีวิจัยศึกษาโครงสร้างโปรตีนที่กำลังจะเปิดใช้งานในไม่ช้านี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์หายารักษาโรคใหม่ๆ ในสมุนไพรไทยได้มากขึ้น และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ตัวยาในสมุนไพรไทยถูกนำไปจดสิทธิบัตรในต่างประเทศ

นอกจากนี้นายวุฒิพงศ์ยังบอกว่าจะผลักดันศูนย์ซินโครตรอนให้เป็นองค์กรมหาชนในเร็วๆ นี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กรให้ดียิ่งขึ้น เพราะเห็นว่าศูนย์ซินโครตรอนมีประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมของประเทศไทยอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ เคมี วัสดุศาสตร์ หรือเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นได้เอง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในด้านการประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์การวิจัยใหม่ๆ ได้โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ.

กำลังโหลดความคิดเห็น