xs
xsm
sm
md
lg

J. Robert Oppenheimer : บิดาของระเบิดปรมาณู (จบ)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

J. Robert Oppenheimer
เมื่อถึงวันนี้ เวลาใครเอ่ยถึง Oppenheimer ทุกคนก็จะนึกถึงบุรุษวัย 38 ปี ผู้เป็นหัวหน้าทีมวิทยาศาสตร์ในโครงการ Manhattan ที่ได้รวบรวมนักฟิสิกส์ นักเคมี และวิศวกรระดับสุดยอดนับ 6,000 คน มาสร้างระเบิดปรมาณู เพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยให้มาทำงานร่วมกันที่ Los Alamos ในรัฐ Mexico อย่างลับสุดยอด คือ ไม่ให้ฝ่ายเยอรมนีรู้อย่างเด็ดขาด ว่าฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังสร้างระเบิดมหาประลัย และให้กองทัพนักวิทยาศาสตร์ทำงานร่วมกับกองทัพทหารอย่างใกล้ชิด อย่างหนัก และอย่างรวดเร็ว และทุกคนก็ประจักษ์ว่า Oppenheimer คือ บุคคลเดียวเท่านั้นที่สามารถประคับประคองและประสานความแตกต่างระหว่างความคิดเห็น อย่างเสรีของบรรดานักการเมืองและนักวิชาการกับความลับของทหารได้ เช่น เวลา Hans Bethe (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 2510) ขัดแย้งกับ Ernest Lawrence (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ปี 2482) และ Edward Teller (บิดาของระเบิดไฮโดรเจน) Oppenheimer ก็ต้องเก่งพอที่จะตัดสินได้ว่า เทคนิคใดเหมาะสม และเป็นไปได้ หรือเวลาประธานาธิบดี Harry Truman ขัดแย้งกับ J. Edgar Hoover แห่ง Federal Bureau of Investigation (FBI) และนายพล Leslie Groves แห่งกองทัพสหรัฐฯ ผู้เป็นหัวหน้าโครงการ Manhattan Oppenheimer ต้องถูกมะรุมมะตุ้มด้วยกระสุนวาจาจากบุคคลเหล่านี้ตลอดเวลาทำงาน และ Oppenheimer ก็ตระหนักว่า ถึงจะเป็นนักวิชาการที่เก่ง แต่อำนาจทางการเมืองก็เหนือกว่า ฉะนั้น เมื่อใดที่ทั้งสองข้างปะทะกัน นักวิชาการก็ต้องถอย

ในที่สุด เมื่อถึงวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 ขณะเวลา 05.30 น. ปรมาณูลูกแรกของโลกก็ระเบิดที่กลางทะเลทรายใน New Mexico และทันทีที่เห็นควันรูปดอกเห็ดขนาดใหญ่ Oppenheimer ผู้ชอบอ่านกวีนิพนธ์ภาษาสันสกฤตก็ได้เอ่ยคำอุทานจากวรรณคดี Bhagavad Gita ว่า “ I have become Death the shatterer off worlds.” จากนั้นไม่นาน James Frank (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ปี 2468) และ Leo Szilard (ผู้ให้กำนิดความคิดเรื่อง fission) ก็ได้เสนอให้ Oppenheimer จัดงานแสดงการระเบิดของระเบิดปรมาณูให้โลกดูเพื่อขู่ให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม แต่ Oppenheimer ตัดสินใจให้ทิ้งระเบิดปรมาณูลงที่เมืองในญี่ปุ่นแทน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 Oppenheimer ยังทำงานกับ AEC ในฐานะที่ปรึกษา และในปี 2491 Oppenheimer ก็ได้รับการยกย่องขึ้นหน้าปกนิตยสาร Time

แต่เมื่อรัสเซียประสบความสำเร็จในการสร้างระเบิดปรมาณูในปี 2492 และโลกเริ่มมีภาวะสงครามเย็น บรรดานักการเมืองและนักวิทยาศาสตร์ของอเมริกาหลายคน เช่น Lewis Strauss ประธานของ AEC และ Edward Teller มีความเห็นพ้องกันว่า สหรัฐฯ จะต้องสร้างระเบิดไฮโดรเจนที่มีพลังในการทำลายมากกว่าระเบิดปรมาณูหลายพันเท่า แต่ Oppenheimer ไม่เห็นด้วย ความขัดแย้งนี้ทำให้เขามีศัตรูเพิ่มขึ้นหลายคน และเขาถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า เป็นคอมมิวนิสต์ เพราะน้องชายที่ชื่อ Frank Friedman Oppenheimer และภรรยาที่ชื่อ Kitty Puenina ก็เป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ ตัว Oppenheimer เองเคยถูกดักฟังโทรศัพท์ทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน โดย FBI และ CIA

และเมื่อประวัติของ Oppenheimer ตั้งแต่ปี 2485 แสดงให้เห็นว่า Oppenheimer เป็นคนที่เห็นอกเห็นใจพวกคอมมิวนิสต์ และรัสเซียก็ได้เคยส่งสายลับมาหา ซึ่งขณะนั้น Oppenheimer กำลังทำงานในโครงการ Manhattan แต่ Oppenheimer ไม่เคยรายงานกับตำรวจอเมริกันเลยว่า เขาคบสนทนากับสายลับรัสเซีย และเมื่อถูกคาดคั้นโดยนายพล Leslie Groves ให้บอกชื่อสายลับ ว่าถ้าไม่บอก Oppenheimer ต้องลาออกจากการเป็นผู้อำนวยการวิทยาศาสตร์ในโครงการ Manhattan เมื่อถูกรุกฆาต Oppenheimer จึงบอกชื่อคนที่มาพบว่าชื่อ Haakon Chevalier ผู้เป็นศาสตราจารย์ภาษาอังกฤษแห่งมหาวิทยาลัย California ที่ Berkeley ซึ่งได้รู้จักกันมาตั้งแต่ปี 2481 การเปิดเผยชื่อทำให้ Chevalier ล่มจม เพราะถูกสอบสวนและตกงาน แต่ Oppenheimer เป็นไท และได้ทำงานต่อ จนสหรัฐฯ มีระเบิดปรมาณูในครอบครอง

เมื่อมีประวัติด่างพร้อยเช่นนี้ และมีศัตรูทั้งทางทหารและทางวิชาการที่ทรงพลังมาก ในปี 2497 Oppenheimer ก็ถูกปลดออกจากราชการในข้อหาเป็นบุคคลอันตรายที่ไม่เหมาะสมจะเป็นข้าราชการทำงานป้องกันประเทศอีกต่อไป โดยประธานาธิบดี D. Eisenhower

Oppenheimer ใช้ชีวิตในบั้นปลายที่ St. John แล่นเรือใบ ดื่มค็อกเทล และทะเลาะกับเพื่อนบ้าน

เมื่อถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 Oppenheimer ซึ่งล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ลำคอ เพราะสูบบุหรี่จัด ก็ตายขณะอายุ 63 ปี โดยได้กล่าวก่อนสิ้นใจว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกผิดที่ทำให้โลกมีระเบิดปรมาณู แต่ไม่เสียใจ”

โลกมีหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับชีวประวัติของ Oppenheimer หลายเล่ม เช่น American Prometheus : The Triumph and Tragedy of J. Robert Oppenheimer โดย Kai Bird and Martin J. Sherwin จัดพิมพ์โดย Knopf หนา 736 หนา ปี 2547 ราคา 35 ดอลลาร์ กับ The Ruin of J.Robert Oppenheimer and the Birth of the Modern Arms Race โดย Priscilla J. McMillan จัดพิมพ์โดย Viking ปี 2547 หนา 384 หนา ราคา 23.95 ดอลลาร์ และ Oppenheimer : The Tragic Intellect โดย Charles Thorpe ที่จัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย Chicago ปี 2550 หนา 413 หนา ราคา 37.50 ดอลลาร์ ซึ่งต่างก็ให้ภาพของนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ลึกลับ แต่มีความอาทรต่อเพื่อน ผู้ซาบซึ้งงานศิลปะ ชอบอ่านวรรณคดีของ Proust ชอบพูดและคิดเร็ว ใช้ภาษาได้คมคาย อีกทั้งเป็นผู้สร้างโรงเรียนฟิสิกส์ให้มหาวิทยาลัย California จนมีชื่อเสียงระดับโลก เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในตอนต้นของชีวิต ด้วยการสร้างวิทยาศาสตร์ และประสบความล้มเหลวในบั้นปลายเพราะถูกวิทยาศาสตร์ทำลาย

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
กำลังโหลดความคิดเห็น