นักวิทย์ญี่ปุ่น ผู้ค้นพบคาร์บอนนาโนทิวบ์ ได้รับรางวัลเจ้าชายแห่งอัสตูเรียส ร่วมกับนักวิจัยชาติเดียวกันอีก 1 คน และอีก 3 นักวิจัยสหรัฐฯ ที่แต่ละคนมีผลงานโดดเด่นการวิจัยด้านวัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.51 ที่ผ่านมา มูลนิธิเจ้าชายแห่งอัสตูเรียส (Prince of Asturias Foundation) ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัล “ปรินซิเป เด อัสตูเรียส” (Principe de Asturias) ในสาขาการวิจัยและวิทยาศาสตร์ประจำปี 2551 โดยสำนักข่าวเอพีรายงานว่า ปีนี้มีนักวิทยาศาสตร์ได้รับรางวัลในสาขานี้ทั้งสิ้น 5 คน ซึ่งแต่ละคนมีผลงานวิจัยโดดเด่นในด้านนาโนเทคโนโลยี ที่เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
5 นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการมูลนิธิฯ ให้ได้รับรางวัลในสาขาดังกล่าวประจำปีนี้ ประกอบด้วยนักวิจัยชาวญี่ปุ่น 2 คน ได้แก่ ซูมิโอะ อีจิมะ (Sumio Iijima) นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเมอิจิ (Meijo University) ผู้ค้นพบคาร์บอนนาโนทิวบ์ (carbon nanotubes) และชูจิ นากามูระ (Shuji Nakamura) วิศวกรจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองซานตา บาร์บารา (University of California, Santa Barbara) ผู้ประดิษฐ์คิดค้นไดโอดเปล่งแสง (Light Emitting Diode: LED)
ส่วนอีก 3 คนเป็นนักวิจัยชาวสหรัฐฯ ได้แก่ โรเบิร์ต แลงเจอร์ (Robert Langer) ศาสตราจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตต์ส (Massachusetts Institute of Technology) ที่มุ่งศึกษาระบบนำส่งยาเข้าสู่ร่างกายแบบอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งชนิดต่างๆ
อีกคนคือ จอร์จ ไวต์ไซด์ (George Whiteside) นักเคมีจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ที่วิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับวัสดุระดับนาโน และสุดท้าย โทบิน มาร์คส์ (Tobin Marks) นักเคมีจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น (Northwestern University) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านตัวเร่งปฏิกิริยาเคมี และพัฒนาพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้
ถ้อยแถลงของคณะกรรมการตัดสินรางวัลที่ให้เหตุผลว่า นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ ล้วนเป็นผู้ที่วางรากฐานทางด้านนาโนเทคโนโลยี ให้แก่โลกด้วยการสร้างสรรค์วัสดุชนิดใหม่ ตลอดจนเทคนิคการต่อสู้กับโรคร้ายได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นโรคทางสมอง มะเร็ง และการสร้างเนื้อเยื่อและอวัยวะเทียม โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานด้วยการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานสะอาดที่อาจผลิตได้ในราคาถูก
นอกจากนี้ยังมีรายงานเพิ่มเติมจากเอเอฟพีอีกว่า ผู้ที่ได้รางวัลในสาขาความร่วมมือระหว่างประเทศประจำปีนี้คือ ศูนย์วิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับโรคมาลาเรีย 4 แห่งของแอฟริกา ได้แก่ศูนย์วิจัยในประเทศโมซัมบิก, แทนซาเนีย, มาลี และกานา ซึ่งร่วมมือกันศึกษาค้นคว้าและทำวิจัยเพื่อต่อสู้ และหาทางขจัดสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างโรคระบาดร้ายแรงและความอดอยากยากจนของประชากร
ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้วปีเตอร์ ลอว์เรนซ์ (Peter Lawrence) ชาวอังกฤษ และกีเนส มอราตา (Ginés Morata) จากสเปน 2 นักชีววิทยา ที่ศึกษาเรื่องโครงสร้างทางชีววิทยาและพันธุกรรมของแมลงหวี่ที่มีลักษณะเชื่อมโยงกับอาการเจ็บป่วยต่างๆ ในมนุษย์ เป็นผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ในสาขาการวิจัยและวิทยาศาสตร์ โดนมี “อัล กอร์” (Al Gore) อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้รับรางวัลสาขาความร่วมมือระหว่างประเทศในปีเดียวกัน
สำหรับรางวัล ปรินซิเป เด อัสตูเรียส หรือรางวัลเจ้าชายแห่งอัสตูเรียส เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้มีผลงานดีเด่นระดับนานาชาติเป็นประจำทุกปีรวม 8 สาขาด้วยกัน ได้แก่ การสื่อสารและมนุษยศาสตร์, สังคมศาสตร์, ศิลปศาสตร์, วรรณกรรม, งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์, ความร่วมมือระหว่างประเทศ, สันติภาพ และ การกีฬา
ชื่อรางวัลนี้มาจากพระนามอย่างเป็นทางการของเจ้าชายฟิลิปเป (Prince Felipe) แห่งสเปน โดยเริ่มมีการประกาศรางวัลครั้งแรกในปี พ.ศ.2524 ซึ่งเจ้าชายฟิลิปเป้จะเสด็จฯ พระราชทานรางวัลด้วยพระองค์เอง ผู้ที่ได้รับรางวัลนี้จะได้รับเงินรางวัลจำนวน 50,000 ยูโร (ประมาณ 2,500,000 บาท) พร้อมด้วยประกาศนียบัตร, โล่ และเหรียญตราของมูลนิธิ