xs
xsm
sm
md
lg

"เพศหญิง" ไม่เป็นอุปสรรค คำยืนยันจาก 4 นักวิจัย "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

4 นักวิจัยหญิงที่ได้รับทุนวิจัย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ประจำปีนี้มาเล่าประสบการณ์การทำงานและผลงานวิจัยให้ได้ฟังกันผ่านเวที คุยกัน...ฉันท์วิทย์
ทุนวิจัย "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" ทำให้นักวิจัยหญิงเป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้างมากยิ่งขึ้น และกลายเป็นจุดสนใจของผู้คนทั่วไป ที่พากันอยากรู้ว่าอะไรทำให้พวกเธอเหล่านั้นหันมาสนใจในสาขาวิทยาศาสตร์ วิชาที่ได้ชื่อว่ายากสุดๆ จนประสบความสำเร็จเป็นนักวิจัยแถวหน้าที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่รู้จัก

แม้จะแถลงข่าวและมีพิธีมอบรางวัลกันไปแล้วเมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ข่าวคราวและความน่าสนใจในตัวนักวิทย์หญิงทั้ง 4 คน ที่ได้รับรางวัลทุนวิจัย "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" จากเครื่องสำอางยี่ห้อดังก็ยังไม่จางหาย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เลยจัดเวทีให้ 4 นักวิทย์หญิงคนเก่งมาเล่าประสบการณ์และผลงานวิจัยกันอีกครั้งใน "คุยกัน...ฉันท์วิทย์" กับหัวข้อ “ผลงานสตรีเด่นด้านวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2551” ณ ห้องโถงชั้น 1 ของ วท. เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา

นักวิจัยหญิงทั้ง 4 คนที่มาร่วมสนทนาประสาวิทย์นั้น ประกอบด้วย ดร.อัญชลี มโนนุกูล นักวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุศาสตร์แห่งชาติ (เอ็มเทค) กับผลงานเรื่อง "การพัฒนากระบวนการขึ้นรูปโลหะผงและผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนโลหะไทย", ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง นักวิจัยของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ในผลงานเรื่อง "การศึกษาการควบคุมการสังเคราะห์กรดไขมันในรามิวคอร์ รูซิไอ (Mucor rouxii)"

ผศ.ดร.วรวีร์ โฮเว่น ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของผลงานเรื่อง "พอลิอะคริลิกแอซิดบรัช: เมทริกซ์สามมิติชนิดใหม่สำหรับนิวคลีอิกแอซิดไบโอเซนเซอร์" และ ผศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานเรื่อง "การศึกษาผลกระทบของคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นกับแนวปะการังและพื้นท้องทะเล" โดยมีอาจารย์วิเทียน นิลดำ รองประธานสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทว่าผลงานของนักวิจัยสตรีทั้ง 4 ท่าน เป็นที่เปิดเผยมาแล้วอย่างกว้างขวาง อีกทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ก็เคยรายงานไปบ้างแล้วเมื่อครั้งแถลงข่าวเปิดตัวนักวิจัยเหล่านี้ก่อนหน้าที่จะมีการมอบรางวัล ครั้งนี้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์เลยอยากนำเสนออีกแง่มุมของผู้หญิงกับการทำงานวิจัยของนักวิทย์หญิงทั้งเหล่านี้

ผู้หญิงก็สมบุกสมบันกับงานวิจัยทางทะเลได้ไม่แพ้ผู้ชาย

ดร.สุชนา บอกว่า เพราะพ่อและแม่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ทำให้ซึมซับสิ่งนี้มาแต่เด็ก ประกอบกับสมัยเป็นนักเรียนก็เป็นนักกีฬาว่ายน้ำ และเมื่อได้ไปทะเลบ่อยๆ ก็เกิดความสนใจในวิทยาศาสตร์ทางทะเล และศึกษาสาขานี้มาตลอดตั้งแต่ปริญญาตรีถึงเอก จนปัจจุบันก็ทำงานวิจัยทางทะเล

"งานวิจัยทางด้านนี้ต้องออกทะเลบ่อย ค่อนข้างสมบุกสมบัน ทำให้สาขานี้มีนักวิจัยหญิงน้อยมาก แต่ส่วนตัวแล้วคิดว่าความเป็นผู้หญิงไม่ใช่อุปสรรค เพราะจากการที่ได้ไปศึกษาปริญญาโทและเอกทางด้านนี้ที่สหรัฐฯ ที่นั่นไม่มีการแบ่งแยกชายหญิง ทุกคนเท่าเทียมกันหมด สามารถทำงานทุกอย่างได้เหมือนกับผู้ชาย และเขาก็ไม่ได้ให้ผู้หญิงทำแต่งานเล็กๆ น้อยๆ อย่างเดียวเท่านั้น และเมื่อได้มาทำงานจริงๆ ก็ไม่เคยพบว่ามีการปิดกั้นความสามารถของผู้หญิงเลย" คำบอกเล่าของ ดร.สุชนา วัย 36 ปี ที่คะเนว่าในอนาคตอีกปรมาณ 10 ปี งานวิจัยสาขานี้จะได้ต้อนรับนักวิจัยหญิงมากขึ้น เพราะขณะนี้สาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเลมีนักศึกษาเข้ามาเรียนมากขึ้นและมากกว่านักศึกษาชาย

ด้วยลักษณะงานที่ค่อนข้างสมบุกสมบันในธรรมชาติที่ต้องออกปฏิบัติการเป็นประจำในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ทำให้ ดร.สุชนา แทบจะไม่มีเวลาว่างจริงๆ สักเท่าไหร่ แต่ปกติ ดร.สุชนา ก็สามารถแบ่งเวลาให้ครอบครัวและงานอยู่แล้ว

"ไม่มีเวลาว่างจริงๆ เลย ก็อาศัยการทำงานนี่แหละ เมื่อออกทะเลก็อาศัยช่วงเวลานั้นเป็นการเที่ยวพักผ่อนและเป็นงานอดิเรกไปในตัวเลย ซึ่งก็เป็นงานที่ทำแล้วชอบมาก อย่างเช่น การดำน้ำ เป็นต้น" ดร.สุชนา เล่า

ผู้หญิงไม่ได้ถูกปิดกั้น แต่อยู่ที่ความเหมาะสมของการทำงาน

ด้าน ดร.อัญชลี นักวิจัยหญิงเก่งวัย 34 ปี ที่สั่งสมประสบการณ์ในวงการวิจัยจากประเทศอังกฤษตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีจนจบเอก บอกว่า ผู้หญิงสามารถเป็นนักวิจัยและทำงานได้ดีไม่แพ้ผู้ชาย ซึ่งก็ไม่เคยพบว่าผู้หญิงถูกกีดกันหรือจำกัดสิทธิแต่อย่างใด และไม่ใช่ว่านักวิจัยหญิงส่วนใหญ่จะอยู่ในสายชีวภาพ ในด้านเคมีหรือวัสดุศาสตร์ก็มีนักวิจัยหญิงอยู่มากเช่นกัน โดยเฉพาะในต่างประเทศ แต่หากเป็นด้านวิศวกรรมศาสตร์ก็อาจมีไม่มากนัก

"การที่มีผู้หญิงน้อยนั้นเป็นเรื่องของความเหมาะสมในการทำงานมากกว่า ไม่น่าเป็นการปิดกั้นโอกาสของผู้หญิง เพราะบางอาชีพมีข้อจำกัดสำหรับผู้หญิง เช่น บางสาขาในวิศวกรรม ขณะที่บางอาชีพก็เหมาะกับผู้หญิงอยู่แล้ว" ดร.อัญชลี แสดงความคิดเห็น

อย่างไรก็ดี ดร.อัญชลี เรียนจบจากมหวิทยาลัยในอังกฤษด้วยสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ทว่าได้กลับมาทำงานในประเทศไทยเกี่ยวกับสาขาวัสดุศาสตร์ ซึ่งดร.อัญชลี บอกว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของไทยและต่างประเทศนั้นแตกต่างกัน ฉะนั้นสิ่งที่เรียนมาจากต่างประเทศอาจไม่สามารถนำมาใช้ในประเทศไทยได้ทั้งหมด แต่จากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ก็จะทำให้เราสามารถปรับให้เหมะสมกับงานที่ต้องทำจริงๆ ได้ และผลจากงานวิจัยที่โดดเด่นจนส่งให้ ดร.อัญชลี ได้รับทุนวิจัยจากโครงการดังกล่าวทำให้มีบริษัทเอกชนหลายรายให้ความสนใจและติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก

"อาณาจักรงานวิจัย" ผู้หญิงสามารถทำงานได้ดีและไม่บกพร่องในหน้าที่แม่

ดร.วรวีร์ ก็มีความเห็นในทำนองเดียวกับนักวิจัยหญิง 2 ท่านที่กล่าวมาแล้ว โดยเธอเห็นว่า ในประเทศไทยไม่มีข้อจำกัดในการทำวิจัยหรือขอทุนวิจัยเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าเพศหญิงหรือชายก็ได้รับโอกาสเสมอภาคกัน แต่การทำงานด้านวิทยาศาสตร์ในบางสาขาที่ต้องออกแรงมากก็อาจไม่เหมาะกับผู้หญิง เช่น ช่วงเวลาที่ตั้งครรภ์ก็อาจทำงานนั้นไม่ได้ ซึ่ง ดร.วรวีร์ เองก็เคยผ่านช่วงเวลานั้นมาแล้ว ทว่ามิได้เป็นอุปสรรคใดๆ ต่อการทำงานวิจัยของเธอเลย

ปัจจุบัน ดร.วรวีร์ ในวัย 38 ปี มีหน้าที่แม่ที่ต้องเลี้ยงลูกเล็กๆ อีก 1 คน อายุ 1ปีกว่าที่อยู่ในวัยกำลังลังซน ซึ่ง ดร.วรวีร์ เล่าให้ฟังว่า เมื่อเรียนจบปริญญาเอกจากสหรัฐฯ และกลับมาทำงานข่วงแรกๆ ก็ยังไฟแรงอยู่และจริงจังกับงานมาก มีงานสอนเป็นหลัก ส่วนงานวิจัยทำในเวลานอกเหนือจากนั้น ซึ่งวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ยังมาทำงานด้วยความสนุกสนาน แต่พอมีครอบครัวแล้วบางสิ่งบางอย่างก็เปลี่ยนไปบ้าง

"การมีครอบครัวย่อมมีผลกระทบกับงานวิจัยอย่างแน่นอน เพราะก่อนหน้านั้นเราสามารถทำงานได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุด แต่เมื่อแต่งงาน มีลูก เราก็ต้องแบ่งเวลาให้ทั้ง 2 อย่างได้อย่างลงตัว จากที่เคยมาทำงานวันเสาร์อาทิตย์ก็ต้องเลิกไปแล้วเอาเวลานั้นให้กับครอบครัวและลูกแทน ซึ่งก็ทำให้เวลาในการทำงานวิจัยของเราลดน้อยลงไป แต่เราก็ได้น้องๆ และทีมงานในห้องแล็บนี่แหละเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้งานวิจัยเดินหน้าต่อไปได้ เหมือนกับว่าได้สร้างอาณาจักรของตัวเองไว้แล้ว ส่วนตัวเราเองก็ต้องก้าวขึ้นไปสู่อีกขั้นหนึ่งที่เราไม่ต้องทำเองทุกอย่างเหมือนในตอนแรก แต่มีนักศึกษาหรือนักวิจัยรุ่นใหม่เข้ามาร่วมทำงานกับเรา คิดว่านักวิจัยหลายคนก็เป็นเช่นเดียวกัน และต่อไปน้องๆ ในทีมก็น่าจะเหมือนเราในตอนนี้" ดร.วรวีร์เผย

ไม่ต้องสวย ไม่ต้องเก่ง ก็เป็นนักวิจัยหญิงแถวหน้าได้ถ้าใจรักและมุ่งมั่น

ที่ว่าไม่ต้องสวยเพราะผู้หญิงที่ต้องทำงานอยู่ในห้องแล็บและคลุกคลีอยู่กับงานวิจัยตั้งแต่เช้าจรดค่ำตลอดเกือบทั้งสัปดาห์อาจไม่มีเวลาแต่งหน้าทาปากให้สวยเด้งอยู่ตลอดเวลาได้เหมือนสาวออฟฟิศทั่วไป เพราะ ดร.กอบกุล เองก็บอกเช่นนั้น ส่วนที่บอกว่าไม่ต้องเก่งก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ต้องรู้เรื่องอะไรเลยก็ได้ เพียงแต่ว่าต้องสนใจใฝ่รู้ อดทน และมุ่งมั่นที่จะหาคำตอบ ซึ่ง ดร.กอบกุล ก็เป็นเช่นนั้น

ดร.กอบกุล เล่าให้ฟังว่าตัวเองสนใจวิทยาศาสตร์และอาชีพนักวิจัยมาตั้งแต่เด็ก กระทั่งเรียนจบสาขาพยาบาล ม.มหิดล และทำงานเป็นพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราชอยู่ 3 ปี จึงหันเบนเข็มออกจากอาชีพเดิมเพื่อศึกษาต่อทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพและเข้าสู่อาชีพนักวิจัยอย่างเต็มตัว

"ตัวเราก็เปรียบเหมือนเชื้อราที่มีจะมียีนที่ดีอยู่แล้ว แต่สิ่งแวดล้อมก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการแสดงออกของยีนนั้น เช่นเดียวกับว่าหากเรามีครอบครัวที่ดีและเข้าใจเราทั้งที่บ้านและที่ทำงาน เราได้อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็จะทำให้เราดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ไม่เกี่ยวว่าจะเป็นหญิงหรือชาย" คำกล่าวเปรียบเทียบของ ดร.กอบกุล นักวิจัยวัย 39 ปี ที่ยังคงทำงานวิจัยด้วยใจรักแม้จะต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่งให้กับครอบครัวและลูกอีก 1 คนเช่นกัน

ดร.กอบกุล ฝากถึงน้องๆ รุ่นใหม่ที่อยากประสบความสำเร็จในงานวิจัยเหมือนนักวิจัยรุ่นพี่ว่า ให้เริ่มจากรักในอาชีพ มีวินัยในตัวเอง ใฝ่เรียนรู้ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ซึ่ง ดร.อัญชลี เสริมให้อีกว่า แต่น้อยคนนักที่จะได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ ฉะนั้นเมื่อไม่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ ก็ขอให้ชอบในสิ่งที่ทำ ความสำเร็จก็จะเข้ามาใกล้ให้เราเอื้อมถึงได้ง่ายขึ้น
ผศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ และ ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง
ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง และ ผศ.ดร.วรวีร์ โฮเว่น
ดร.อัญชลี มโนนุกูล และ อ.วิเทียน นิลดำ
กำลังโหลดความคิดเห็น