4 นักวิทย์หญิงไทยรับทุนวิจัย "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" จากเครื่องสำอางชั้นนำระดับโลก นักวิจัยเผยเป็นกำลังใจสำหรับผู้หญิงให้มุ่งมั่นสร้างผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์เพื่อประเทศชาติในอนาคต ทั้งยังหวังเปลี่ยนสถานะไทยให้ส่งออกเทคโนโลยีแทนขายแรงงาน
เมื่อวันที่ 24 เม.ย.51 เวลา 19.00 น. ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ เสด็จฯ ยังพระที่นั่งเทวราชย์สภารมย์ พระราชวังพญาไท เพื่อประทานทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นโดยบริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนาธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) โดยมีนักวิจัยหญิงจำนวน 4 คน ที่เข้ารับประทานทุนวิจัยในปีนี้
ทุนวิจัยเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์มีทั้งสิ้น 4 ทุน แบ่งเป็น 2 สาขา คือ สาขาวัสดุศาสตร์ ซึ่งนักวิจัยที่ได้รับทุนในสาขานี้ ได้แก่ ผศ.ดร.วรวีร์ โฮเว่น ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.อัญชลี มโนนุกุล นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุศาสตร์แห่งชาติ (เอ็มเทค)
ส่วนสาขาชีวภาพ ได้แก่ ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และ ผศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนักวิจัยแต่ละคนจะได้รับทุนวิจัยเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท
โพรบ 3 มิติ ตรวจจับดีเอ็นเอแบบฉับไว
ผศ.ดร.วรวีร์ ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากผลงานเรื่อง "พอลิอะคริลิกแอซิดบรัช: เมทริกซ์สามมิติชนิดใหม่สำหรับนิวคลีอิกแอซิดไบโอเซนเซอร์" เผยว่า ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากการตรวจดีเอ็นเออย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะทางการแพทย์และทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งวิธีที่ใช้อยู่ทั่วไปคือวิธีพีซีอาร์ (PCR) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และใช้เวลานาน ส่วนวิธีดีเอ็นเอไมโครแอเรย์ (DNA microarray) ที่แม้จะตรวจได้เร็วขึ้น แต่แผ่นไมโครแอเรย์มีราคาแพงมาก และต้องใช้สารเรืองแสงร่วมด้วย ซึ่งมีราคาแพงเช่นกัน และประเทศไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ดังนั้นจึงคิดหาวิธีพัฒนาอุปกรณ์ที่มีราคาถูกกว่าขึ้นมาทดแทน และได้เป็นพอลิอะคริลิกแอซิดบรัช ซึ่งอาศัยหลักการเดียวกับดีเอ็นเอไมโครแอเรย์ แต่สามารถตรวจจับกับดีเอ็นเอที่ต้องการวัดได้มากกว่าและว่องไวกว่า เพราะมีปริมาณโพรบ (ดีเอ็นเอสังเคราะห์) ที่ติดอยู่กับพอลิเมอร์ของอะคริลิกแอซิดบรัชมากกว่า ซึ่งพอลิอะคริลิกแอซิดบรัชนี้จะถูกตรึงลงบนกระจกที่เคลือบด้วยทอง
นักวิจัยเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นว่าสามารถจับกับดีเอ็นเอได้ดีมากน้อยแค่ไหน ต้องใช้ปริมาณพอลิเมอร์เท่าไหร่จึงเหมาะสม ซึ่งต้องให้แน่ใจว่าใช้งานได้ดีจริงแล้วจึงค่อยตีพิมพ์และผลงานวิจัย
"ภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับการพิจารณาว่างานของเรามีศักยภาพ สามารถนำไปต่อยอดเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติได้ และทุนวิจัยนี้จะเป็นกำลังใจให้ได้ทำงานวิจัยเพื่อประเทศชาติต่อไปด้วย" ผศ.ดร.วรวีร์กล่าว
ยกระดับอุตสาหกรรมและคุณภาพชีวิตด้วยกระบวนการขึ้นรูปโลหะผง
ดร.อัญชลี เจ้าของผลงานเรื่อง "การพัฒนากระบวนการขึ้นรูปโลหะผงและผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนโลหะไทย" กล่าวถึงงานวิจัยของเธอว่าแรกเริ่มเมื่อปี 2547 ได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการฉีดขึ้นรูปผลิตภัณฑ์จากผงโลหะจากรัฐบาลญี่ปุ่น และพัฒนาเรื่อยมาจนสามารถขึ้นรูปจากโลหะผงหลากชนิดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งวิธีนี้มีศักยภาพมากกว่าการหล่อโลหะที่มีความซับซ้อนและขนาดเล็ก ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องของแม่พิมพ์ ซึ่งได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชน์แล้ว
งานวิจัยอีกส่วนหนึ่ง ดร.อัญชลี ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวมาพัฒนาวิธีการฉีดขึ้นรูปโลหะผงจนได้ชิ้นส่วนปลูกฝังทางการแพทย์ โดยใช้โลหะไทเทเนียม และสามารถผลิตได้แล้ว ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพ
"ปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าวัสดุปลูกฝังจากต่างประเทศเท่านั้น ซึ่งราคาแพงมาก และอาจไม่เหมาะกับสรีระของคนไทย แต่หากเราทำได้เองก็จะช่วยลดการนำเข้าได้ และยังสามารถออกแบบให้มีขนาดและรูปร่างที่เหมาะกับคนในประเทศเราได้ด้วย หรืออาจผลิตเพื่อส่งออกก็ยังได้" ดร.อัญชลีเผย
นักวิจัยเอ็มเทคกล่าวอีกว่า เธอจะมุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยต่อไปเพื่อหวังว่าจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมของไทยได้ในอนาคต และหวังว่าไทยจะไม่เป็นแต่เพียงผู้ซื้อเทคโนโลยีเท่านั้น แต่จะกลายเป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยีเช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศ
ลดนำเข้าอาหารเสริม เพิ่มคุณค่าอาหารสัตว์ ด้วย GLA จากรา
ดร. กอบกุล เจ้าของผลงานเรื่อง "การศึกษาการควบคุมการสังเคราะห์กรดไขมันในรามิวคอร์ รูซิไอ (Mucor rouxii)" กล่าวว่า กรดแกรมมาลิโนเลนิก หรือจีแอลเอ (γ-linolenic acid: GLA) เป็นกรดไขมันจำเป็นชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์และมีมูลค่าสูงมาก มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง และอาหารสัตว์อย่างแพร่หลาย ขณะที่ประเทศไทยต้องนำเข้าจีแอลเอจากต่างประเทศ เพราะสกัดได้จากเมล็ดพืชอีฟนิงพริมโรส ซึ่งไม่มีในประเทศไทย จึงได้ศึกษาว่าจะผลิตกรดไขมันดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง ซึ่งก็พบว่าราชนิด มิวคอร์ รูซิไอ สามารถสังเคราะห์จีแอลเอได้
นักวิจัยจึงศึกษากลไกการผลิตจีแอลเอลึกลงไปถึงระดับอณูชีววิทยา สรีรวิทยา และชีวเคมี ตลอดจนปัจจัยต่างๆ ที่มีผล จนสามารถออกแบบกระบวนการเลี้ยงรามิวคอร์ รูซิไอ ให้ผลิตจีแอลเอได้มากด้วยวิธีที่ไม่ยากและใช้ต้นทุนต่ำ ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานต้นแบบที่สามารถเลี้ยงได้ทั้งแบบอาหารแข็งที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น กากถั่วเหลือง ซึ่งเหมาะสำหรับใช้ในอาหารสัตว์ และแบบอาหารเหลวที่จะนำจีแอลเอไปใช้ในทางการแพทย์และอาหารเสริม และกำลังอยู่ระหว่างทดสอบผลการใช้จีแอลเอเสริมในอาหารสุนัขว่าจะให้ผลดีมากแค่ไหน เพราะเคยมีรายงานผลการวิจัยในต่างประเทศว่าจีแอลเอมีศักยภาพในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี
"ทุนวิจัยที่ได้รับในครั้งนี้จะเป็นสิ่งกระตุ้นให้เราทุ่มเทให้กับการทำงานมากยิ่งขึ้น และให้ได้ผลผลิตที่ใช้ประโยชน์ได้จริง ภูมิใจที่มีผู้ที่เห็นความสำคัญของงานวิจัยที่เป็นความรู้พื้นฐาน ซึ่งความรู้พื้นฐานนี้สามารถต่อยอดได้ในภาคอุตสาหรรม และเป็นการแสดงให้เห็นว่านักวิจัยไม่ได้ทำงานขึ้นหิ้งเพียงอย่างเดียว" ดร.กอบกุล กล่าว
ครั้งแรกของไทย เพาะพันธุ์ปะการังได้แบบอาศัยเพศ
สุดท้าย ผศ.ดร.สุชนา ที่ได้รับทุนวิจัยจากผลงาน "การศึกษาผลกระทบของคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นกับแนวปะการังและพื้นท้องทะเล" ซึ่งผศ.ดร.สุชนา เผยว่า ดีใจและภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกให้ได้รับทุนวิจัยนี้ ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดในชีวิต และจะตั้งใจทำงานด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลต่อไป เพราะปัจจุบันมีนักวิจัยหญิงที่ทำงานด้านนี้น้อยมาก
นักวิทย์ทางทะเลจากจุฬาฯ เล่าว่า จากการสำรวจทะเลน้ำตื้นและน้ำลึกเกือบ 30 เมตร ในแถบจังหวัดระนองและพังงาหลังเหตุการณ์คลื่นสึนามิ พบว่า ปะการังก้อนและปะการังโต๊ะที่เปรียบเสมือนกำแพงขวางกั้นน้ำได้รับความเสียหายมากกว่าปะการังแบบกิ่งที่น้ำสามารถไหลผ่านไปได้ ขณะที่พื้นทรายใต้ทะเลลึกหายไปกว่า 2 เมตร เป็นบริเวณกว้าง แต่จากการติดตามสำรวจในปีต่อๆ มาพบว่าพื้นทรายไม่ได้กลับมาเหมือนเดิม และยังมีปะกาลังอ่อนและกัลปังหาเริ่มมาอาศัยอยู่แทน
นอกจากนี้ ผศ.ดร.สุชนา ยังได้พัฒนาวิธีขยายพันธุ์ปะการังด้วยการผสมไข่และสเปิร์มสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งช่วยเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมให้กับปะการัง ขณะที่วิธีเดิมมักจะขยายพันธุ์ด้วยการปักชำ ซึ่งปะการังจะโตเร็ว แต่ด้วยพันธุกรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลงอาจส่งผลให้ไม่สามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยนักวิจัยจะศึกษาต่อว่าปะการังที่เพาะพันธุ์ได้นี้ควรจะนำไปปล่อยใต้ทะเลเมื่อช่วงอายุเท่าไหร่จึงจะอยู่รอดและเจริญเติบโตต่อไปได้.