ด้วยเห็นปัญหาว่า ไทยมีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ แต่ผลผลิตต่อไร่ยังต่ำกว่าประเทศอื่นๆ และมีแนวโน้มถูกแซงไปเรื่อยๆ "ดร.ปัทมา ศิริธัญญา" นักวิจัยหญิงจากล้านนา จึงมุ่งมั่นพัฒนาพันธุ์ "ข้าวลูกผสม" โดยคาดหวังอีก 3 ปีสามารถลงแปลงนาให้เกษตรกรทดลองปลูกได้
เวทีเสวนา "คุยกัน...ฉันวิทย์" กิจกรรมของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมฟังเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.51 ซึ่งจัดขึ้นในหัวข้อ "พันธุ์ข้าวลูกผสม ความหวังที่อุดมด้วยผลผลิต" โดยมีวิทยากรคือ ดร.ปัทมา ศิริธัญญา นักวิจัย และรองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงใหม่ ผู้ศึกษาและวิจัยเรื่องข้าวลูกผสมมาได้ 8 ปี
ดร.ปัทมาอธิบายแก่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์และผู้เข้าฟังเสวนาคนอื่นๆ ว่า โดยปกติข้าวจะผสมพันธุ์ในตัวเอง แต่ข้าวพันธุ์ลูกผสมจะได้จากต้นข้าวพันธุ์แม่ ที่ยีนเกสรตัวผู้เป็นหมัน ผสมกับต้นพันธุ์พ่อ ซึ่งเป็นต้นข้าวที่ผสมพันธุ์ได้ในตัวเอง โดยผลผลิตของข้าวลูกผสม จะเพิ่มขึ้นจากผลผลิตของพ่อ-แม่พันธุ์อย่างต่ำ 20%
"ทุกวันนี้ไทยใช้ข้าวสายพันธุ์แท้ตลอด ยังไม่มีการใช้พันธุ์ข้าวลูกผสมเลย โดยวิวัฒนาการข้าวสายพันธุ์แท้มีมานานแล้ว และไทยก็มีความหลากหลายของข้าวสายพันธุ์แท้อยู่มาก พันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดอยู่ในไทย แต่ทุกวันนี้ผลผลิตเฉลี่ยข้าวของไทยตลอดทั้งปีไม่เพิ่มขึ้น จึงต้องหาเทคนิคใหม่ที่ไม่ใช่จีเอ็มโอ (พืชตัดต่อพันธุกรรม) ซึ่งพันธุ์ข้าวลูกผสมจะเพิ่มขึ้น 20% และช่วยให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นด้วย" ดร.ปัทมากล่าว
จากเอกสาร "ข้าวลูกผสม: สถานภาพข้าวลูกผสมในนานาประเทศ" ของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้รับจากงานแถลงข่าว โดยระบุข้อมูลผลผลิตข้าวเฉลี่ยของไทยระหว่างปี 2546-2548 อยู่ที่ประมาณ 450 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งจัดอยู่อันดับที่ 6 ของโลก ต่ำกว่าประเทศเวียดนามที่ผลผลิตข้าวเฉลี่ยราว 750 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่จีนครองอันดับสูงสุดผลิตข้าวเฉลี่ยได้มากกว่า 1,000 กิโลกรัมต่อไร่
ทั้งนี้ ดร.ปัทมาระบุว่าการพัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสมเริ่มต้นที่จีน เนื่องจากปริมาณข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภค โดยบิดาแห่งพันธุ์ข้าวลูกผสมคือ ศ.หยวน ลองปิง (Prof.Yuan Longping) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวลูกผสมแห่งจีน (China National Hybrid Rice R&D Center) ซึ่ง ดร.ปัทมาก็ได้ไปศึกษาวิจัยทางด้านนี้กับ ศ.หยวนที่ประเทศจีนด้วย
ข้าวลูกผสมจะให้ผลผลิตสูงขึ้น ในข้าวรุ่นแรก แต่ผลผลิตของข้าวรุ่นถัดไปไม่คงที่และจะลดลงในรุ่นถัดไป ซึ่ง ดร.ปัทมาระบุว่า คุณสมบัติเช่นนี้เหมาะกับชาวนาในภาคกลาง ที่ปลูกข้าวเพื่อขายทั้งหมด แล้วซื้อพันธุ์มาปลูกอีก ต่างจากชาวนาภาคเหนือและอีสาน ที่ปลูกข้าวเพื่อบริโภคเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเหลือจึงนำไปขาย และจะกันส่วนหนึ่งไว้เป็นพันธุ์สำหรับปลูกในปีต่อไป
ส่วนข้าวลูกผสมจะส่งผลต่อความหลากหลายของข้าวพันะแท้หรือไม่ ดร.ปัทมาตอบคำถามดังกล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ขึ้นอยู่กับวิธีปลูก โดยวิธีปลูกข้าวของชาวนาในภาคกลาง ตามที่อธิบายไปก่อนนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อข้าวพันธุ์แท้อย่างแน่นอน เนื่องจากปกติชาวนาจะปลูกเพื่อขายทั้งหมดและซื้อพันธุ์มาปลูกใหม่อยู่แล้ว นอกจากนี้เธอยังมีงานวิจัยที่ช่วยอนุรักษ์และเพิ่มผลผลิตของพันธุ์ข้าวท้องถิ่น
ปัจจุบัน ดร.ปัทมาได้ทดลองปลูกข้าวลูกผสมที่มีข้าวพันธุ์ที 6-4 (T6-4) เป็นพันธุ์แม่และมีข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 3 เป็นพันธุ์พ่อ ผลจากการทดลองได้ผลผลิตต่อไร่สูงถึง 1,578 กิโลกรัมต่อไร่ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ได้ข้าวลูกผสมที่ให้ผลผลิตต่อไรมากกว่า 2 กิโลกรัมประมาณ 20 สายพันธุ์ ทั้งนี้คาดหวังว่าอีก 3 ปีจะสามารถพัฒนาจนถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ชาวนาได้ลองปลูก เพื่อประเมินว่าคุ้มหรือไม่
"หลังจากนี้ต้องผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปทดสอบที่สถานีทดลองข้าว ในเขตภาคกลางอีกหลายสถานี โดยต้องทดลองปลูกอย่างน้อย 3 ฤดูเก็บเกี่ยวซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี จากนั้นจึงนำไปทดสอบกับแปลงเกษตรที่ใหญ่ขึ้น และในขั้นตอนสุดท้ายคือปลูกในแปลงขนาดใหญ่แล้วให้ชาวนาเลือกว่าจะใช้พันธุ์ไหนดีที่สุด" ดร.ปัทมากล่าว
ข้าวที่ ดร.ปัทมาพัฒนาขึ้นมานั้นมีคุณค่าทางสารอาหาร เทียบเท่ากับข้าวหอมมะลิแต่มีอะไมเลส (Amylase) ทำให้ข้าวแข็งกว่า อย่างไรก็ดีไม่ได้คาดหวังที่จะพัฒนาพันธุ์ข้าวไปแข่งในตลาดข้าวหอมมะลิ หากแต่มองไกลไปถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้ข้าวเป็นส่วนผสม เช่น อุตสาหกรรม แป้ง อุตสาหกรรมยา เป็นต้น ซึ่งการเพิ่มผลผลิตของข้าวมากๆ จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ชาวนาได้จากการป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมไม่ใช่เพียงป้อนเข้าตลาดบริโภคอย่างเดียว
อย่างไรก็ดี ทีมข่าวเชิงวิเคราะห์ของผู้จัดการได้นำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับข้าวลูกผสม โดยระบุข้อมูลวิจัยของวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ และ จักรกฤษณ์ พูลสวัสดิ์กิติกุล จากมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย - BioThai) ที่ศึกษากรณีพันธุ์ข้าวลูกผสมของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ระหว่างเดือน ก.พ.-พ.ค.51 จากการสุ่มในจังหวัดกำแพงเพชรและอุตรดิตถ์
รายงานระบุว่า ผลผลิตของข้าวพันธุ์ผสมสูงกว่าข้าวทั่วไปเพียงเล็กน้อย ไม่คุ้มกับต้นทุนที่สูงขึ้น โดยบริษัทโฆษณาว่าให้ผลผลิตได้ 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ในทางปฏิบัติได้ผลผลิตเฉลี่ยเพียง 958 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น ซึ่งไม่คุ้มกับต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าเมล็ดพันธุ์ที่คิดเป็น 40% ของต้นทุนทั้งหมด ส่วนคุณภาพของข้าวก็ต่ำกว่าข้าวสายพันธุ์อื่นๆ โดยมีความแข็งมากกว่าและรับประทานไม่อร่อย
รายงานข่าวยังชี้ปัญหาว่า การที่ชาวนาไม่สามารถเก็บพันธุ์ข้าวลูกผสมไว้ใช้ฤดูเก็บเกี่ยวต่อไป จะเป็นการผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์จากบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติ
ทั้งนี้สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ "พันธุ์ข้าวลูกผสม” จุดเปลี่ยนชีวิตชาวนาไทย??