นายกชาวนาไทย จี้ รัฐสางปัญหาพันธุ์ข้าว หลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาขาดแคลน ชาวนาต้องซื้อในราคาแพงลิ่ว โดยต้องแบกความเสี่ยงเรื่องคุณภาพ ขณะที่ยักษ์ใหญ่ ซีพี เสนอทางเลือกข้าวลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ ปลูกง่าย โตเร็ว ผลผลิตสูง
วันนี้ (23 เม.ย.) นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวถึงปัญหาเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีขาดแคลนในขณะนี้ โดยระบุว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยจริงใจแก้ปัญหาดังกล่าว โดยไม่ให้ความสำคัญกับงานวิจัย ทำให้ปัจจุบันมีเอกชนนำเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีคุณภาพหรือไม่ ออกจำหน่ายสูงถึงถังละ 230-250 บาท เทียบกับราคาของกรมการข้าว ซึ่งขายอยู่ที่ถังละ 150-180 บาทเท่านั้น การที่ต้องซื้อพันธุ์ข้าวในราคาแพง เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของชาวนา แม้ว่าอาจโดนพ่อค้าหลอก แต่ชาวนายอมที่จะเสียเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์มาปลูกข้าว และหวังว่าเมื่อผลผลิตข้าวออกมาจะขายได้ในราคาสูง
มีรายงานข่าวระบุว่า พื้นที่สำคัญในการปลูกข้าวชั้นดี เริ่มประสบปัญหาขาดแคลน เกษตรกรต้องหันไปซื้อในราคาสูง โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ที่มีความต้องการสูง โดยชุมนุมสหกรณ์การเกษตร จ.บุรีรัมย์ ออกมาระบุว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ที่สหกรณ์เตรียมไว้จำหน่ายให้กับเกษตรกร สำหรับฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปีกว่า 2,000 ตัน ไม่พอขาย เนื่องจากเกษตรกรได้ซื้อจนหมด ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้ในพื้นที่เริ่มขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าว
แม้ว่าราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีที่ผ่านมา กิโลกรัมละ 14 บาท ปีนี้เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 25 บาท ทางชุมนุมสหกรณ์จึงเตรียมเจรจาขอซื้อพันธุ์ข้าวหอมมะลิจาก จ.อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด มาจำหน่ายให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร ซึ่งจากข้อมูลพบว่า จ.บุรีรัมย์เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่ใหญ่ที่สุด และคุณภาพข้าวดีที่สุดในประเทศ มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 3.5 ล้านไร่ ได้ผลผลิตปีละกว่า 1.2 ล้านตัน
นางรุ่งอรุณ สุจริภา ผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์การเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ ยอมรับว่า มีเกษตรกรหลายรายตำหนิเรื่องราคาพันธุ์ข้าวที่พุ่งสูงขึ้นเท่าตัว แต่ก็ชี้แจงว่าเป็นตามกลไกตลาด เนื่องจากข้าวเปลือกและข้าวสารในท้องตลาดมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ทางชุมนุมสหกรณ์ก็รับประกันคุณภาพพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรซื้อ ทั้งรับประกันราคา หากเกษตรกรรายใดซื้อพันธุ์ข้าวจากชุมนุมสหกรณ์ ทางชุมนุมสหกรณ์ก็จะรับซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดกิโลกรัมละ 30-50 สตางค์
**ชาวนาผวาข้าวตกแต่งสายพันธุ์-รายใหญ่ฮุบตลาด
นายไพศาล ผาจันดา ประธานเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชน อ.แวงใหญ่ จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้ศูนย์ข้าวชุมชนที่ ต.ใหม่นาเพียง ยังมีพันธุ์ข้าวเพียงพอให้กับชาวนาที่เป็นสมาชิกในช่วงฤดูนาปีที่จะถึงนี้ โดยทางศูนย์เป็นผู้ผลิตพันธุ์ข้าวเหนียว กข.6 และหอมมะลิ 105 อย่างละ 4 ตัน สามารถรองรับความต้องการของสมาชิกซึ่งมีอยู่ประมาณกว่า 100 ราย คิดเป็นพื้นที่ปลูกข้าวทั้งสิ้น 1,450 ไร่
สำหรับราคาพันธุ์ข้าวที่ขายให้สมาชิก คือ ข้าวเหนียวพันธุ์ กข.6 ราคากิโลกรัมละ 12 ข้าวหอมมะลิ 105 ราคากิโลกรัมละ 13 บาท แต่หากเป็นเกษตรกรทั่วไปราคาขายราคากิโลกรัมละ 19 บาท
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่า มีเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นสมาชิกมาซื้อพันธุ์ข้าวจากศูนย์ ซึ่งไม่สามารถขายให้ได้ เพราะต้องขายให้กับสมาชิกก่อน ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกษตรกรหาซื้อพันธุ์ข้าวมากขึ้นโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ เนื่องจากราคาข้าวที่สูงขึ้นอย่างมาก ดังนั้นในปีนี้จึงคาดว่าสัดส่วนการปลูกข้าวหอมมะลิ กับข้าวเหนียวในพื้นที่น่าจะอยู่ที่ 50 ต่อ 50 จากก่อนหน้านี้จะปลูกข้าวเหนียวมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ ยังพบว่า เกษตรกรบางรายไม่เก็บพันธุ์ข้าวหอมมะลิไว้ เพราะฤดูกาลปลูกปี 2550/2551 ที่ผ่านมา เกษตรกรหันปลูกข้าวเหนียวจำนวนมาก ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวเจ้าลดลง และผู้ที่ปลูกข้าวเจ้ายังขายข้าวออกหมดเพราะราคาดี โดยหวังว่าจะหาซื้อเมล็ดพันธุ์จากศูนย์เมล็ดข้าว แต่ปรากฏว่าศูนย์เมล็ดข้าวส่วนใหญ่ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์
“ปัจจุบันมีชาวนาที่ไม่ใช่สมาชิกของศูนย์ ทั้งในและนอกพื้นที่เข้ามาติดต่อขอซื้อพันธุ์ข้าวเป็นจำนวนมาก รวมทั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น ที่ขอซื้อพันธุ์ข้าว 5-10 ตัน แต่ศูนย์ข้าวชุมชนไม่สามารถตอบสนองได้ เพราะเหลือพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 เพียง 1 ตัน ที่ต้องเก็บไว้จำหน่ายให้เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ใกล้เคียง”
นายไพศาล กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่มีบริษัทเอกชนผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชรายใหญ่ มีความพยายามจะเสนอแนวคิดนำเมล็ดพันธุ์ข้าว Hybrid หรือ ข้าวพันธุ์ผสม Super Rice ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง แต่ไม่สามารถเก็บขยายพันธุ์ต่อได้ มาให้ชาวนาปลูก คิดว่าชาวนาคงไม่ต้องการ เพราะจะทำให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ตลอดไป จากเดิมที่จะเก็บข้าวบางส่วนไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อโดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรืออาจจะซื้อเพิ่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ด้าน นายสัมฤทธิ์ ชมภูบุตร ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น เปิดเผยว่า ความจริงเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผลิตขึ้นไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวนาทุกปี เนื่องจากทางศูนย์มีกำลังการผลิตจำกัด อย่างไรก็ตามภาพรวมพันธุ์ข้าวในปีนี้ไม่ถึงกับขาดแคลนนักจนเข้าขั้นวิกฤต แต่เกิดเป็นกระแสต่อเนื่องจากสถานการณ์ราคาข้าวที่สูงขึ้นมากกว่า
“เมื่อราคาข้าวสูงขึ้น ทำให้พ่อค้าหรือตัวแทนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว กว้านซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีอยู่ไปเก็บไว้ โดยคาดว่าราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวจะสูงขึ้นตามราคาข้าวเปลือก โดยในพื้นที่ขอนแก่นคาดว่าพ่อค้าน่าจะมีเมล็ดพันธุ์ข้าวอยู่ในมือไม่ต่ำกว่า 800-900 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 30-40% ของเมล็ดพันธุ์ทั้งระบบในพื้นที่”
นายสัมฤทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ ทางศูนย์ได้ลดการขยายพันธุ์ข้าวลง จากเดิมมีผลิตปีละ 3,100-3,200 ตัน เหลือเพียง 2,900 ตัน สาเหตุเนื่องจากปีที่แล้วพันธุ์ข้าวหอมมะลิขายไม่ได้เลย เพราะเกษตรกรหันมาปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ กข.6 เป็นจำนวนมาก แต่สัดส่วนที่ลดลงก็ไม่มากนัก
สำหรับกระแสข่าวบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ จะนำเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสม (ไฮบริด) ออกมาจำหน่ายให้แก่เกษตรกรนั้นมีความเป็นไปได้สูงมาก เพราะเมื่อ 10 ปีที่แล้วบริษัทแห่งนี้ เคยผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดไฮบริดออกมาจำหน่ายแล้ว เป็นผลให้ทุกวันนี้เกษตรกรจำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัททุกปี จากในอดีตมีการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกเอง
**ซีพีเปิดเกมรุกข้าวสายพันธุ์ใหม่
ก่อนหน้านี้ นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธาน คณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยกับสื่อมวลชนระหว่างการพาตรวจเยี่ยมพื้นที่ทดลองผสมสายพันธุ์ข้าวขนาดใหญ่ที่ จ.กำแพงเพชร โดยระบุว่า ภายในปีนี้ กลุ่มซีพีจะร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เร่งขยายพื้นที่ส่งเสริมการปลูกข้าวลูกผสม ซี.พี. ในจังหวัดกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ จากเดิมที่ส่งเสริมไปแล้ว 400 ไร่ เป็น 3,000 ไร่ โดยคาดว่าจะมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย
“เราเชื่อว่า สายพันธุ์ข้าวลูกผสม ซีพี 304 กำลังเป็นที่นิยมของชาวนาจำนวนมาก เนื่องจากพันธุ์ข้าวลูกผสมซีพีเติบโตเร็ว อายุเก็บเกี่ยวสั้นเพียง 90 วัน ให้ผลผลิตสูง 1,500 กก./ไร่ ทนทานต่อโรคและแมลง ประกอบกับพันธุ์ข้าวลูกผสมชนิดนี้เป็นพันธุ์ข้าวแข็งปานกลาง อะมิโลส 23-24% ซึ่งอยู่ในกลุ่มข้าวเดียวกับพันธุ์ข้าวชัยนาทและพิษณุโลก ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ต้องการในตลาดส่งออก ทำให้ชาวนาสามารถขายข้าวได้ในราคาสูง นอกจากส่งเสริมการปลูกแล้วทางบริษัทในเครือซีพี จะรับซื้อคืนในราคาตลาดอีกด้วย”
นายมนตรี ระบุว่า ที่ผ่านมา บริษัทได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เพื่อให้ชาวนาเกิดความเชื่อมั่นคุณภาพข้าวลูกผสมซีพี โดยจัดทำแปลงสาธิตการปลูกข้าวพันธุ์ลูกผสม ซี.พี.ในจังหวัดต่างๆ เช่น สุพรรณบุรี, ชัยนาท พบว่า พันธุ์ข้าวทั่วไปสามารถปลูกในแหล่งชลประทานเฉลี่ยสองรอบครึ่งต่อปี ให้ผลผลิตประมาณ 750 กก./ไร่ ส่วนพันธุ์ข้าวลูกผสม ซี.พี.มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น จึงสามารถปลูกได้ถึงสามรอบครึ่งต่อปีรวมทั้งให้ผลผลิตสูงกว่า 1,000 กก./ไร่ ประกอบกับใช้เทคโนโลยีการเพาะปลู ที่ทันสมัยและมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ทำให้ชาวนาสามารถประหยัดต้นทุนการผลิตได้มากกว่าการเพาะปลูกตามปกติทั่วไปถึง 20% จึงทำให้ชาวนามีผลกำไรเหลือเพิ่มขึ้นถึงไร่ละ 8,000 บาท”
นายมนตรี ยังกว่าอีกว่า ปัจจุบันต้นทุนการปลูกข้าวสูงขึ้น เนื่องจากปัจจัยการผลิตแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง และเมล็ดพันธุ์ข้าว ต่างปรับตัวสูงขึ้น ปีนี้บริษัทต้องปรับราคาจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมซีพี เป็น 150 บาท/กก.จากเดิมที่เคยจำหน่ายอยู่ที่ 100 บาท/กก.ในปี 2550 เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนค่าขนส่งและค่าแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น