xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตโลกข้าวแพงนับ 10 ปี แนะรัฐจัดโซนนิ่งเพาะปลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-โลกเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง จากผลผลิตเกษตรลด ราคาพุ่ง คาดมีปัญหาแบบนี้อีกนับ 10 ปี และไร้จุดสิ้นสุด เหตุประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรปลูกพืชเกษตรน้อยลง และหันไปปลูกพืชที่ใช้ทำพลังงานทดแทนมากขึ้น สถาบันอาหารแนะรัฐจัดโซนนิ่งปลูกพืชอาหาร พืชทำพลังงานอย่างสมดุล หอการค้าไทยหนุนเปิดโอกาสให้ปลูกพืชพลังงานแบบจีเอ็มโอ และใช้พลังงานนิวเคลียร์ ผู้ส่งออกชี้ราคาข้าวนิ่งแล้ว แต่ต้องจับตาอิหร่าน อินโดนีเซียซื้อเมื่อไร ดันราคาพุ่งต่อ จับตาข้าวถุงมีขบวนการปั่นราคา ขณะที่โรงสีแย่งซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิฉุดราคาพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เผยชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้แหล่งผลิตข้าวหอมฯโลกเตรียมเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกรับโอกาสทองแห่ซื้อเมล็ดพันธุ์จนเกลี้ยง

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้ โลกได้เข้าสู่ภาวะวิกฤติด้านอาหารแล้ว จากการที่ผลผลิตสินค้าเกษตรโลกลดลง และราคาสูงขึ้นมาก ซึ่งสหประชาชาติได้ระบุว่า เป็นสึนามิแบบไร้เสียงที่กำลังคุกคามชาวโลก ขณะที่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ก็ยังระบุว่า ปัจจุบัน 37 ประเทศทั่วโลกเกิดวิกฤติอาหารแล้ว ประกอบด้วย แอฟริกา 21 ประเทศ เอเชีย 10 ประเทศ สหภาพยุโรป 1 ประเทศ และละตินอเมริกา 5 ประเทศ และยังย้ำด้วยว่าดัชนีราคาสินค้าเกษตรโลกในเดือนมี.ค.2551 อยู่ที่ระดับ 220 จุด เพิ่มขึ้น 57% จากเดือนมี.ค.2550 ที่อยู่ที่ระดับ 80 จุด และยังมีแนวโน้มว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรจะสูงกว่าปัจจุบันถึง 50 เท่า

“วิกฤติด้านอาหารโลกจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีกยาวนานอย่างน้อยเป็น 10 ปี เพราะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะเพิ่มสูงขึ้นอีก และผู้ผลิตสินค้าเกษตรจะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงานทดแทนมากขึ้น จึงเกิดภาวะไม่สมดุลกันระหว่างพื้นที่เพาะปลูกพืชเพื่อบริโภค และพืชพลังงาน อีกทั้ง ไม่แน่ใจว่า วิกฤติดังกล่าวจะสิ้นสุดเมื่อไร คนไทย ซึ่งแม้จะเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 7 ของโลก ก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบ แต่ก็ต้องปรับตัว และยอมรับสภาพกับภาวะราคาอาหารที่แพงขึ้นอย่างไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงได้อีก” นายยุทธศักดิ์กล่าว

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้นมาก เป็นเพราะราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น จนทำให้ผู้ผลิตสินค้าเกษตรหันไปเพิ่มการเพาะปลูกพืชพลังงานทดแทนมากขึ้น เพื่อหวังใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิง และลดพื้นที่เพาะปลูกพืชเพื่อบริโภค ประกอบกับ ภาวะโลกร้อน ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรได้รับความเสียหาย และมีปริมาณลดลง

แก้วิกฤติพืชพลังงานใช้จีเอ็มโอเข้าช่วย

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องนำเรื่องวิกฤติอาหารเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อหาทางรับมือในอนาคต โดยระยะสั้นจะต้องช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้เพื่อชดเชยราคาสินค้าที่สูงขึ้น ส่วนระยะยาว ต้องวางยุทธศาสตร์การใช้พื้นที่ด้านการเกษตร โดยต้องทำให้เกิดความสมดุลกันระหว่างพื้นที่เพาะปลูกพืชเพื่อบริโภค และพืชพลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยอาจเพิ่มผลผลิตพืชพลังงานด้วยการใช้เทคโนโลยีแบบตัดต่อทางพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) รวมถึงสร้างรายได้ และความสามารถแข่งขันของเกษตรกร เพื่อให้ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง

ไทยยังไม่วิกฤติอาหารเพียงแค่เริ่มต้น

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นเรียกว่าวิกฤติอาหาร เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น และยังพอมีเวลาที่แต่ละประเทศจะช่วยกันหาทางแก้ปัญหา หากยังนิ่งเฉย ภายใน 3 ปีน่าจะเป็นวิกฤติที่รุนแรง เพราะมีแนวโน้มว่า ประเทศผู้ผลิตสินค้าจะปลูกพืชพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยคาดว่า ภายในปี 2553 สหรัฐฯจะเพิ่มการผลิตข้าวโพดถึง 30% เพื่อผลิตน้ำมันไบโอดีเซล เพราะมีการรายงานว่า หากน้ำมันเชื้อเพลิงตลาดโลกเกิน 60 เหรียญสหรัฐ/แกลลอน ทั่วโลกจะเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้เกินแล้ว ดังนั้น น้ำมันไบโอดีเซลยังสามารถผลิตได้เรื่อยๆ

“การแก้ปัญหา ไทยจะต้องจัดโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงานทดแทน และพืชเพื่อบริโภคให้สมดุลกัน เพื่อทำให้ทั้งธุรกิจอาหาร และประเทศเกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร รวมถึงต้องใช้พลังงานนิวเคลียร์ได้ขณะเดียวกัน ไทยต้องเพิ่มผลผลิตพืชพลังงานทดแทน ด้วยการใช้วิธีแบบจีเอ็มโอ” นายพรศิลป์กล่าว

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวถึงราคาข้าวในตลาดโลกว่า น่าจะมาถึงจุดสูงสุดแล้ว โดยล่าสุดญี่ปุ่นได้เปิดประมูลข้าวขาว 100% จำนวน 60,000 ตัน ซึ่งผู้ส่งออกไทยเสนอขายที่ตันละ 1,300 เหรียญ แต่ญี่ปุ่นได้ยกเลิกประมูล เพราะไม่ต้องการถูกทั่วโลกตำหนิว่า เป็นผู้ทำให้ราคาข้าวแพงขึ้น และเกรงว่า ประเทศที่อาจต้องการบริโภคข้าวจริงไม่สามารถสู้ราคาได้ ซึ่งการที่ราคาข้าวสูงขณะนี้ทำให้เกิดการชะลอการซื้อตามกลไกตลาด แต่หากอินโดนีเซีย และอิหร่าน ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ปีละประมาณ 1 ล้านตัน เริ่มซื้อข้าวในปีนี้ ราคาตลาดโลกก็น่าจะขึ้นต่อได้อีก

ผู้ส่งออกข้าวปั่นราคาข้าวถุงขาดตลาด

แหล่งข่าวจากห้างค้าปลีก กล่าวถึงผู้ส่งออกข้าวได้ปรับเปลี่ยนสัดส่วนการผลิตข้าวถุงเพื่อจำหน่ายในประเทศลดน้อยลง และหันไปส่งออกข้าวต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มซีพี ขายในประเทศ 20% ส่งออก 80 % เนื่องจากส่งออกไปต่างประเทศได้ส่วนต่างมากกว่า ดังนั้นทำให้ห้างค้าปลีกเกิดปัญหาการขาดแคลนข้าวถุงที่จำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั่ว ไปและจำเป็นต้องมีการจำกัดจำนวนการซื้อได้คนละไม่เกิน 3 ถุงต่อคน

ส่วนที่มีการร้องเรียนว่าทางห้างค้าปลีกยังจำหน่ายข้าวถุงในราคาแพงและไม่ลดราคาตามที่ได้มีการประชุมร่วมกัน3 ฝ่ายคือ กระทรวงพาณิชย์ ห้างค้าปลีก และผู้ผลิตข้าวถุง โดยตัวแทนห้างค้าปลีกยอมปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระเงินให้กับผู้ผลิตข้าวถุงเร็วขึ้นเป็น 30 วันและยอมลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ลง แต่ผู้ผลิตข้าวถุงต้องส่งข้าวถุงให้กับห้างค้าปลีกได้ครบตามจำนวนที่สั่งซื้อไป แต่ปรากฏว่าผู้ผลิตข้าวถุงไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นกับห้างค้าปลีกคือข้าวยังไม่เพียงพอจำหน่ายให้กับผู้บริโภคและยังไม่สามารถลดราคาได้ตามที่ตกลงไว้ ดังนั้นผู้ผลิตข้าวถุงจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้แต่ไม่ใช่โยนความผิดให้กับห้างค้าปลีก เพราะผู้กำหนดราคาข้าวส่วนใหญ่คือพ่อค้าคนกลางไม่ใช่ห้างค้าปลีก

“จริงๆ ข้าวในไทยไม่ขาดแคลน แต่มีการปั่นราคาในท้องตลาด เพราะมีการเก็งกำไรจากพ่อค้าคนกลางที่ส่งออกและผู้ผลิตข้าวถุง ซึ่งเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ที่มีการกักตุนข้าวไว้จำนวนมาก แล้วเร่งระบายข้าวเก่าออกมาจำหน่ายในท้องตลาดแถมยังไม่ได้คุณภาพ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ควรเข้าไปตรวจสอบสต็อกจริงจังเพื่อแก้ปัญหาข้าวขาดแคลน” แหล่งข่าวคนเดียวกัน กล่าว

หอมมะลิพุ่งต่อจ่อตันละ 2.2 หมื่น

นายอนันต์ วงศ์อมรมิตร ประธานชมรมโรงสีข้าวจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงสีข้าวกว่า 40 โรง ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ต่างขึ้นป้ายราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิที่หน้าโรงสีสูงถึง กิโลกรัมละ 20 บาท หรือตันละ 20,000 บาทแล้ว เพราะผู้ประกอบการโรงสีต่างมีการแข่งขันรับซื้อกันสูง เพื่อจูงใจให้เกษตรกรที่ยังพอมีข้าวเหลืออยู่ในยุ้งฉางนำข้าวเปลือกหอมมะลิออกมาขาย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ข้าวเปลือกหอมมะลิแทบไม่มีเหลืออยู่มือเกษตรกรแล้วเพราะได้พากันจำหน่ายไปหมดก่อนหน้านี้ ส่วนที่ยังพอมีเหลือบ้างก็จะอยู่ในมือของพ่อค้าผู้รับซื้อข้าวเปลือกรายย่อยที่รับซื้อไว้ตามหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งพ่อค้าราย่อยเหล่านี้ได้ตระเวนซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิจากเกษตรกรในหมู่บ้านที่พอมีข้าวเหลืออยู่บ้างในราคากิโลกรัมละ 21 บาท

ดังนั้น คาดว่าในปลายเดือน เม.ย.นี้ ราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิ ของโรงสีต่างๆ ใน จ.สุรินทร์ และจังหวัดใกล้เคียงซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิ จะพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์อีกครั้งที่กิโลกรัมละ 22 บาท หรือตันละ 22,000 บาทอย่างแน่นอน

บุรีรัมย์เพิ่มพื้นที่ปลูกรับโอกาสทอง

ด้าน จ.บุรีรัมย์ หลังจากที่ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกหอมมะลิ 105 ที่ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ เตรียมไว้จำหน่ายให้กับเกษตรกรสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปี 2551/52 กว่า 2,000 ตัน ไม่พอขาย เนื่องจากเกษตรกรได้แห่ซื้อไปจนหมดไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้ในพื้นที่เริ่มขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าว แม้ว่าราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกหอมมะลิจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากปีที่ผ่านมากิโลกรัมละ 14 บาท ปีนี้เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 25 บาท

ล่าสุดทางชุมนุมสหกรณ์ฯ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อเตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพันธุ์ข้าวโดยจะเจรจาขอซื้อพันธุ์ข้าวหอมมะลิจาก จ.อุบลราชธานี และ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร พร้อมยอมรับว่ามีเสียงบ่นจากเกษตรกรถึงราคาพันธุ์ข้าวปลูกที่สูงขึ้น แต่ชี้แจงว่าเป็นไปตามกลไกของตลาด

สำหรับ จ.บุรีรัมย์ เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิใหญ่ที่สุดของไทยและเป็นข้าวหอมมะลิคุณภาพดี มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 3.5 ล้านไร่ ได้ผลผลิตปีละกว่า 1.2 ล้านตัน ซึ่งราคาข้าวเปลือกหอมมะลิในขณะนี้สูงถึงกิโลกรัมละ 21 บาท หรือตันละ 21,000 บาท ส่วนข้าวสารกิโลกรัมละ 38 บาท

นางรุ่งอรุณ สุจริภา ผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์การเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิกว่า 2,000 ตัน ที่ชุมนุมสหกรณ์เตรียมไว้ขายแก่เกษตรกรและสหกรณ์ ทั้งจังหวัด 45 สหกรณ์ ที่มีสมาชิกกว่า 1 แสนราย ขณะนี้เหลือเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิเพียง 10 ตัน เท่านั้นและได้มีผู้เจรจาขอซื้อจนหมดแล้ว แม้ราคาจะสูงถึงกิโลกรัมละ 25 บาท แต่ก็มีเกษตรกรพากันมาซื้อไปจนหมด

ทั้งนี้ เนื่องจากปีนี้ราคาข้าวพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้เกษตรกรเตรียมเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ โดยขณะนี้พันธุ์ข้าวปลูกใน จ.บุรีรัมย์ เริ่มขาดแคลนและสหกรณ์ได้เตรียมเจรจาขอซื้อพันธุ์ข้าวจากสหกรณ์การเกษตรบุญฑริก จ.อุบลราชธานี อีก 20 ตัน เพื่อสำรองไว้ขาย แต่คาดว่าจะไม่เพียงพอ จึงเตรียมเจรจาขอซื้อพันธุ์ข้าวจากสหกรณ์ใน จ.ร้อยเอ็ด เพิ่มอีก

ศูนย์พันธุ์ข้าวสุรินทร์เร่งผลิตทั้งวัน

นายทรงศักดิ์ สุรัฐติกุล ผู้อำนวยการ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์ กรมการค้า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวภายในศูนย์ฯ ที่มีไว้จำหน่ายให้กับเกษตรกรทั่วไป ทั้งข้าวหอมมะลิ พันธุ์ กข.15, ข้าวหอมมะลิ 105 และ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 105 ขณะนี้ได้จำหน่ายให้กับเกษตรกรไปจำนวนมากแล้ว เหลืออยู่เพียง 600 ตันเท่านั้น จากทั้งหมดที่มีอยู่ในสต็อกของศูนย์ฯ ตั้งแต่ต้นปี 3,500 ตัน

โดยใน 600 ตัน ดังกล่าวต้องกันไว้จำหน่ายให้กับโครงการอยู่ดีมีสุข 300 ตัน ที่เหลืออีก 300 ตนจำหน่วยให้เกษตรกรทั่วไปซึ่งล่าสุดมีการสั่งจองเข้ามาเป็นจำนวนมากจนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทางศูนย์ฯจำเป็นต้องจำกัดจำนวนของการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวให้แก่เกษตรกรตามความจำเป็น ซึ่งอาจจะไม่ได้ตามความต้องการทั้งหมดของแต่ละราย เพื่อเป็นการกระจายพันธุ์ข้าวให้ถึงมือเกษตรกรผู้ปลูกอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกันศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์ ได้เร่งการผลิตโดยนำพันธุ์ข้าวเปลือกที่เก็บไว้ในสต็อกมาเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว กันตลอดทั้งวัน เริ่มตั้งแต่ขบวนการทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ ขั้นตอนการคัดเมล็ดพันธุ์แบบใช้ตะแกรงและลม เป็นต้น ก่อนบรรจุใช้ถุงๆ ละ 25 กิโลกรัม ซึ่งเครื่องจักรสามารถผลิตได้วันละ 20-22 ตัน/วัน เพื่อเร่งให้บริการทันตามความต้องการของเกษตรกรใน 4 จังหวัดพื้นที่รับผิดชอบซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิโลก คือ จ. บุรีรัมย์ ,ร้อยเอ็ด ,ศรีสะเกษ และ จ.สุรินทร์

สำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิของศูนย์ฯ จำหน่ายกิโลกรัมละ 15.50 บาท ปรับราคาสูงขึ้นจากปีที่แล้วเพียง 50 สตางค์เท่านั้นโดยบรรจุขายเป็นกระสอบๆ ละ 25 กิโลกรัมราคา 387.50 บาท ซึ่งราคาไม่แพงเหมือนข้าวเปลือกหอมมะลิตามราคาตลาดในปัจจุบัน

"ศูนย์เมล็ดข้าวสุรินทร์ เป็นหน่วยงานของรัฐจัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้ปลูกพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ ผ่านการคัดกรองเป็นอย่างดี จะทำเกษตรกรได้ผลผลิตข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพจริงๆ จึงไม่ได้มีการปรับขึ้นราคาเมล็ดพันธุ์เพื่อหวังผลกำไรแต่อย่างใด"นายทรงศักดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น