xs
xsm
sm
md
lg

"กัญญวิมว์ กีรติกร" แบบพิมพ์หญิงผู้นำคนใหม่แห่งไบโอเทค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.กัญญวิมว์ภายในห้องทำงานซึ่งมีบอลลูนเลียนภาพวาด สกรีม ชื่อดัง
ในที่สุด "ไบโอเทค" ก็ได้ต้อนรับผู้อำนวยการคนใหม่ที่มาแทนที่ "ดร.มรกต ตันติเจริญ" ผู้บริหารหญิงแกร่งที่ควบคุมทิศทางองค์กรวิจัยทางด้านชีวภาพของชาติมานานถึง 8 ปี โดยผู้มาแทนก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นนักวิจัยหญิงลูกหม้อนามแปลกว่า "กัญญวิมว์ กีรติกร" ผู้ระบุว่าได้แบบอย่างการทำงานอย่างมาจากพี่ชาย "ดร.กฤษพงศ์ กีรติกร" และประกาศจะบริหารองค์กรโดยไม่ทิ้งงานวิจัย

สำหรับคนนอกแล้วเธออาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่การขึ้นแท่นเป็นผู้บริหารสูงสุดของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำให้ "ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร" นักวิจัยวัย 44 ปี ของศูนย์ไบโอเทคโดดเด่นขึ้นมา และเป็นที่จับตาของสื่อมวลชนลายฉบับ

ทั้งเรื่องอายุที่ยังน้อยเมื่อเทียบกับตำแหน่งที่ใหญ่โต การขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดขององค์กรด้วยอายุงานเพียง 9 ปี รวมถึงบทบาทที่ไม่โดดเด่นนัก สำหรับสายตาคนนอกเมื่อเทียบกับรองผู้อำนวยการไบโอเทคคนอื่นๆ

หลังจากได้รับคำสั่งแต่งตั้งจาก ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สวทช. ให้เป็นผู้อำนวยการไบโอเทค ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.51 ดร.กัญญวิมว์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกลไกการป้องกันโรคพืชและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ได้เปิดห้องทำงาน และเปิดโอกาสให้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์พร้อมด้วยสื่อมวลชนอีกหลายแห่งเข้าสัมภาษณ์ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

เจ้าตัวได้เปิดใจถึงการตัดสินใจสมัครเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการ ขณะที่รับตำแหน่งรองผู้อำนวยการอยู่ เพราะได้อยู่ในองค์กรมาระยะหนึ่งแล้ว และเข้าใจว่าจะทำอย่างไรให้หน่วยงานก้าวไปข้างหน้าได้ เมื่อมีโอกาสจึงอยากจะทำหน้าที่นี้ โดยการทำงานจะสานต่อเรื่องดีๆ ที่ผู้บริหารคนก่อนๆ ได้วางรากฐานไว้ดีแล้ว

ผู้บริหารใหม่สานต่อทิศทางวิจัยที่มีอยู่

“ไบโอเทคมีงานวิจัยค่อนข้างชัดเจน เนื่องจาก สวทช.ที่มียุทธศาสตร์ค่อนข้างชัดเจน เรื่องพืชทำเรื่องข้าว มันสำปะหลัง อ้อย การแพทย์ก็เน้นวิจัยโรคอุบัติใหม่อย่างไข้หวัดนกและโรคอุบัติซ้ำอย่างมาลาเรีย และเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ดูในสิ่งที่จะนำมาแก้ปัญหาการเกษตรและสุขภาพ นอกจากนี้แต่ละศูนย์ยังต้องคิดงานวิจัยใหม่ทางด้าน “เทคโนโลยีฐาน” (platform technology) ซึ่งเป็นการสร้างเทคโนโลยีบางอย่างที่สำคัญและตอบโจทย์วิจัยได้” ดร.กัญญวิมว์กล่าว

เทคโนโลยีฐานที่ไบโอเทคเพิ่งเริ่มสร้างขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมามี 2 เรื่อง เรื่องแรกคือการใช้เซลล์เป็นเสมือนโรงงาน (cell factory) โดยธรรมชาติของเซลล์จะผลิตสารต่างๆ ได้ ก็นำหลักการนี้มาใช้ให้เซลล์ผลิตสารที่ต้องการ จึงต้องทำความเข้าใจความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเซลล์และการควบคุมเซลล์ได้

อีกเรื่องคือการทำจีโนมิกส์ (genomics) โดยจะเริ่มจากการทำลำดับสารพันธุกรรมของสาหร่ายเกลียวทอง เพื่อเป็นการเตรียมฐานเทคโนโลยีในการหาลำดับสารพันธุกรรมของจีโนมสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่มีสายพันธุกรรมยาวขึ้น ทั้งนี้ไทยมีภาคอุตสาหกรรมที่ทำทางด้านสาหร่ายเกลียวทองอยู่ด้วยอย่างเข้มแข็งด้วย

“สาหร่ายเกลียวทองเป็นตัวอย่างที่ดี ที่จะสร้างจีโนมขึ้นมาเป็นตัวอย่าง จะหาลำดับซีเควนซ์ทั้งหมดเลย ไม่หาสายสั้นๆ แล้ว เป็นการเตรียมฐานเทคโนโลยี เมื่อมีใครนำสิ่งมีชีวิตอื่นที่มีจีโนมยาวกว่ามาให้ทำซีเควนซ์ เราก็จะมีความสามารถทำได้ เราเคยทำซีเควนซ์จีโนมส่วนหนึ่งของข้าว คราวนี้เรามาทำสายสั้นๆ เราต้องสร้างความสามารถตรงนี้ให้เกิด เริ่มความสามารถตรงนี้ พอทำเป็นแล้วจะเอาเทคโนนี้ไปตอบโจทย์อื่นๆ” ดร.กัญญวิมว์กล่าว

บทเรียนผู้บริหารรุ่นก่อน “ไม่ทิ้งงานวิจัย”

ในส่วนงานบริหารตลอด 8 ปีของ ดร.มรกต ตันติเจริญ ผู้เพิ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการไบโอเทคไปหมาดๆ ผู้บริหารคนใหม่ให้ความเห็นว่าได้สร้างความเข้มแข็งให้กับไบโอเทคเยอะมาก โดยเน้นงานด้านวิชาการ ซึ่งนอกจากสร้างความแข็งแกร่งให้นักวิจัยในศูนย์แล้ว ยังขยายสู่ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ และในช่วง 4 ปีสุดท้ายก็มีความร่วมมือกับต่างประเทศเยอะมากเช่นกัน เมื่อได้เข้ามาทำงานเป็นผู้นำองค์กรในครั้งนี้ก็จะสานต่อในสิ่งดีๆ ที่ผู้บริหารคนก่อนได้สร้างไว้

“ไบโอเทคตั้งมา 25 ปี มีผู้บริหารที่ค่อนข้างมีวิสัยทัศน์ดีมาตลอด รู้ว่าเทคโนโลยีไหนที่จะส่งผลกระทบกับไทย เทคโนโลยีไหนที่ต้องเลือก ผู้บริหารของที่นี่มีข้อเด่นคือแม้จะบริหารแต่ก็ไม่มีใครทิ้งงานวิจัย"

"อย่าง อ.ยงยุทธ (ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์) แม้ตอนเป็นรัฐมนตรีแล้วก็ยังมีแล็บของตัวเอง ส่วน อ.มรกต ก็ยังดูแล็บเสมอ ดิฉันเองก็จะทำอย่างนั้น เพราะถ้าเราบริหารอย่างเดียวโดยไม่เข้าใจงานวิจัยความรู้เราก็จะหยุดอยู่แค่นั้น งานวิจัยจะผลักดันให้เราเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา” ดร.กัญญวิมว์กล่าวและระบุว่าตัวเองยังเป็นนักวิจัยอยู่และยังต้องใกล้ชิดนักวิจัยเพื่อรับทราบความต้องการและทราบว่าจะทำให้งานวิจัยก้าวหน้าได้อย่างไร

“ดร.กฤษณพงศ์” พี่ชายที่เป็นเหมือนพ่อ

สำหรับความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์นั้น เธอเผยว่าได้รับตัวอย่างมาจากพี่ชายคนโตคือ “ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร” อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งศึกษาทางด้านวิศวกรรม โดยพี่ชายได้แนะนำเรื่องการเรียนว่าศาสตร์ทางด้านพันธุวิศวกรรมจะเป็นแนวโน้มต่อไปในอนาคต

สมัยที่เธอเรียนระดับปริญญาตรีที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นพันธุวิศวกรรมยังเป็นเรื่องใหม่มาก จึงเรียนทางด้านพันธุศาสตร์เพื่อปูพื้นก่อน จากนั้นเมื่อจบการศึกษาในปี 2528 ก็ไปเรียนต่อทางด้านพันธุศาสตร์ระดับปริญญาโท-เอกอีก 8 ปีที่มหาวิทยาลัยคอนเนคติกัต (University of Connecticut) สหรัฐอเมริกา และใช้เวลาอีก 5 ปีทำวิจัยหลังปริญญาเอก ก่อนที่จะกลับเมืองไทยมาทำงานที่ไบโอเทค

ดร.กัญญวิมว์กล่าวว่า ดร.กฤษณพงศ์ซึ่งเป็นพี่ชายที่วัยห่างกันถึง 17 ปีนั้นคอยดูแลเธออย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่อายุแค่ 10 ขวบจนเหมือนพ่อคนที่ 2 เนื่องจากคุณแม่เสียชีวิตตั้งแต่เธอยังเด็ก โดยพี่ชายจะคอยดูแลและใส่ใจในเรื่องการเรียนของเธอ

ความใกล้ชิดระหว่างพี่น้อง ทำให้เธอได้สัมผัสรูปแบบการทำงานของพี่ชายที่ไม่แบ่งวันทำงานหรือวันพักผ่อน และทำให้เธอเห็นการทำงานของ “รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน” ผู้อำนวยการ สวทช.หัวหน้าใหญ่ของเธอในตอนนี้ ซึ่งเป็นเพื่อนกับพี่ชายมาตั้งแต่เด็กด้วย

อบอุ่นในครอบครัวการศึกษา

ขณะเดียวกันคุณพ่อของ ดร.กัญญวิมว์เอง ก็เป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาของครอบครัวอยู่ไม่น้อย เนื่องจากทำงานอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการและเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสามัญศึกษา จากหน้าที่ที่ต้องดูแลโรงเรียนทั่วประเทศจึงเห็นความสำคัญของการศึกษา และเข้มงวดเรื่องการเรียนกับลูกๆ และเธอก็นิยามครอบครัวตัวเองว่าเป็น “ครอบครัวการศึกษา”

ทั้งนี้เธอมีพี่น้องทั้งหมด 4 คน โดยพี่สาวคนโตเป็นอาจารย์ภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยซึ่งปัจจุบันเกษียณแล้ว ส่วนพี่ชายคือ ดร.กฤษณพงศ์ซึ่งเป็นลูกคนรองก็ศึกษาทางด้านวิศวกรรม ส่วนพี่สาวคนรองที่อายุห่างจากเธอเพียง 2 ปีและปัจจุบันอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันก็ทำงานธนาคาร

“ครอบครัวอบอุ่น” คือคำอธิบายความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเธอเองอย่างสั้นๆ แต่สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่หล่อหลอมตัวตนและความสามารถของเธอได้อย่างชัดเจน ความผูกพันของพี่น้อง 4 คนในครอบครัวของนักการศึกษาเป็นไปอย่างแนบแน่น แม้ปัจจุบันพี่สาวและพี่ชายคนโตจะพ้นวัยเกษียณไปแล้วแต่ทุกคนก็ยังไปมาหากันประจำ โดยพักอาศัยอยู่ในบ้านบริเวณใกล้ๆ กัน ส่วนพี่สาวคนโตที่แยกครอบครัวออกไปก่อนและพักอยู่ไกลจากพี่น้องคนอื่นๆ ก็ยังติดต่อกันอยู่เสมอ

ส่วนชีวิตสมรส ดร.กัญญวิมว์เปิดเผยว่า แต่งงานกับชาวต่างชาติซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนก โดยรู้จักกันสมัยเป็นนักศึกษาอยู่ที่สหรัฐฯ และปัจจุบันสามีของเธอเป็นอาจารย์ทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งเป็นสถาบันเดียวกับที่พี่ชายเคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีมาก่อน

ส่วนจะมีความผูกพันอะไรเป็นพิเศษกับสถาบันการศึกษาแห่งนี้หรือไม่เธอระบุ เพียงว่าหากมีความร่วมมือระหว่างองค์กรก็จะพิจารณาจากความเชี่ยวชาญขององค์กรนั้นๆ

“กัญญวิมว์” แบบพิมพ์ของผู้หญิง

สำหรับชื่อที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวนี้ ดร.กัญญวิมว์ เล่าว่าเป็นชื่อที่พ่อตั้งให้ โดย “กัญญะ” ก็หมายถึงผู้หญิง ส่วน “วิมว์” เป็นภาษาบาลีซึ่งตัว “พ” และ “ว” สามารถแทนที่กันได้จึงหมาย “พิมพ์” หรือ “แบบพิมพ์” ดังนั้นเมื่อรวมความหมายของชื่อแล้วจึงได้ว่า “แบบพิมพ์ของผู้หญิง” แต่ชื่อนี้ก็เรียกค่อนข้างยาก ดังนั้นเพื่อนๆ ต่างชาติที่สหรัฐฯ จึงเรียกเธอว่า “กัญญะ” แทน

“กลายเป็นชื่อแขกไปเลย” ดร.กัญญวิมว์กล่าวอย่างขำๆ กับชื่อเรียกขานของตัวเอง และเปรยว่าชื่อของเธอนั้นทั้งเรียกยากและสะกดยาก บางครั้งติดต่องานทางโทรศัพท์ เมื่อเอ่ยชื่อตัวเองทางปลายสายก็จะนึกว่าเป็นชื่อขององค์กรหรือสถานที่บางแห่งแทน

นอกไปจากการทำงานที่เป็น “วิทยาศาสตร์จ๋า” แล้วผู้บริหารคนใหม่แห่งไบโอเทคก็ยังมีการอดิเรกที่เป็นศาสตร์คนละด้าน โดยช่วงเสาร์-อาทิตย์ก็จะเรียนเครื่องดนตรี “เชลโล” ซึ่งเธอระบุว่าไม่ต้องการเรียนให้เก่งหรือเพื่อไปออกการแสดงที่ไหน แต่เรียนเพื่อรับรู้ศาสตร์อีกด้านให้ชีวิตได้มีความสมดุล

อีกทั้งเธอเองยังชื่นชอบในศิลปะภาพวาดด้วย โดยภายในห้องก็มีบอลลูนจำลองภาพวาด “สกรีม” (The Scream) ของเอ็ดวาร์ด มุนช์ (Edvard Munch) ตกแต่งอยู่ภายในห้องสะท้อนภาพความชื่นชอบศิลปะของนักวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพผู้นี้

แม้ที่ผ่านมาเธออาจจะไม่เป็นที่รู้จักของคนภายนอกมากนัก แต่วิสัยทัศน์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาและความเข้าใจในองค์กร รวมทั้งการหล่อหลอมจากแบบพิมพ์ที่ดีรอบตัวแล้ว น่าจะทำให้ผู้หญิงคนนี้สร้างผลงานเป็นให้ที่จับตาได้ไม่ยาก...“ดร.กัญญวิมว์” แบบพิมพ์ของผู้หญิง (ตามความหมายของชื่อ) จะนำพา "ไบโอเทค" ให้ไปในทิศทางใด ได้อย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่ คงต้องจับตาดูกันต่อไป.
ห้องปฏิบัติการหาสารออกฤทธิ์ที่ ดร.กัญญวิมว์ดูแลอยู่ และจะดูแลต่อไปแม้จะรับบทบาทเป็นผู้บริหารแล้ว
โปสเตอร์ที่นักวิจัยไบโอเทคทั้งหลายกลายเป็นดารานำในภาพยนตร์ผ่านโปรแกรมโฟโตชอป โดยที่ภาพ ดร.กัญญวิมว์แทนในตัวเอกของเรื่อง เดอะเมทริกซ์
กำลังโหลดความคิดเห็น