xs
xsm
sm
md
lg

4 สาวนักวิศวกรรมเคมีควงแขนกันรับทุนวิจัย "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" ปี 7

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากซ้าย) ผศ.ดร.จูงใจ ปั้นประณต, รศ.ดร.อาทิวรรณ โชติพฤกษ์, ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ และ ผศ.ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ นักวิจัยสตรี 4 คน ที่ได้รับทุนวิจัย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2552 (ภาพโดย ลอรีอัล)
"ความเป็นผู้หญิงไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานวิจัย" และ "ผู้หญิงมีความละเอียด รอบคอบ จำเป็นกับงานวิจัยที่ต้องการความมีระเบียบเรียบร้อย" เหล่านี้คือความเห็นของบรรดานักวิจัยสตรี ที่ได้รับทุนจากลอรีอัลในโครงการ "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" ที่ปีนี้มอบให้แก่ 4 สาวนักวิจัย ที่ใช้ความรู้พื้นฐานด้านวิศวกรรมเคมี สร้างสรรค์ผลงานเด่นทางด้านชีวภาพและวัสดุศาสตร์เพื่อพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับ สำนักเลขาธิการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จัดโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 เพื่อเชิดชูความสำคัญของงานวิทยาศาสตร์และสตรีที่มีบทบาทสร้างสรรค์งานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และมีอายุระหว่าง 25-40 ปี รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ผู้หญิงสนใจทำงานด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยได้มีการเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้สัมภาษณ์พิเศษนักวิจัยที่ได้รับทุนในปีนี้เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 52 ณ โรงแรมพูลแมน

ในปีนี้ มอบทุนวิจัยให้แก่นักวิทยาศาสตร์หญิงไทยที่มีผลงานโดดเด่นในสาขาชีวภาพ 2 ทุน และ สาขาวัสดุศาสตร์ 2 ทุน ดังนี้

สาขาชีวภาพ ได้แก่ ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และ รศ.ดร.อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สาขาวัสดุศาสตร์ ได้แก่ ผศ.ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.จูงใจ ปั้นประณต ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความเป็นผู้หญิงไม่ใช่อุปสรรค หากสังคมยังให้โอกาสสตรี

ดร.นิศรา เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนว่าเธอทำงานวิจัยเรื่อง "การนำเทคโนโลยีไมโครอะเรย์มาประยุกต์ใช้ในงานวิจัยและพัฒนาทางชีวภาพในประเทศไทย" ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถใช้วิเคราะห์ตัวอย่างได้หลายๆ ตัวอย่างพร้อมกัน ทำให้ช่วยประหยัดเวลาและมีความแม่นยำสูง แต่โดยปกติแล้วนักวิจัยไทยจะนำเข้าเทคโนโลยีดังกล่าวจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพงมาก จึงริเริ่มพัฒนาการผลิตไมโครอะเรย์ขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตเองได้และถูกกว่าการนำเข้า

นักวิจัยไบโอเทคที่จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมเคมีคนนี้ได้พัฒนาแผ่นดีเอ็นเอไมโครอะเรย์ (DNA microarray) และนำไปใช้ตรวจสอบยีนในกุ้งกุลาดำได้นับพันยีนในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยแก้ปัญหาการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในประเทศไทยมาหลายปีแล้ว และขณะนี้กำลังพัฒนาแผ่นแอนติบอดีไมโครอะเรย์ (Antibody microarray) ให้เป็นชุดตรวจหาเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในอาหารได้หลายเชื้อพร้อมกัน ได้แก่ อีโคไล โอ157:เอช7 (E. coli O157:H7), ลิสเทอเรีย โมโนไซโตจีเนส (Listeria monocytogenes) และ ซัลโมเนลลา เอชพีพี (Salmonella spp.) ซึ่งช่วยประหยัดเวลาได้ 3 เท่า และต้นทุนถูกลง 10 เท่า เมื่อเทียบกับวิธีมาตรฐานที่ใช้ทั่วไปในห้องปฏิบัติการ

"ชอบทำงานวิจัยมาตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาตรี เพราะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เป็นเหตุเป็นผล ได้คิดค้นสิ่งใหม่ที่นำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์กับสังคมได้ และไม่เคยคิดว่าความเป็นผู้หญิงจะเป็นอุปสรรคในการทำงานสาขาไหนๆ ตราบใดที่สังคมยังให้โอกาสผู้หญิง และเชื่อว่าผู้หญิงก็สามารถสร้างสิ่งใหม่ที่ส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่กับสังคมได้ จึงอยากเป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ นักวิจัยหญิงรุ่นใหม่ด้วย" ดร.นิศรา กล่าว

ใช้ความรู้สร้างประโยชน์ให้สังคม คืออุดมการณ์สูงสุด

ส่วน รศ.ดร.อาทิวรรณ ได้รับทุนสาขาชีวภาพ จากผลงานวิจัย "การสกัดสารสำคัญทางชีวภาพจากพืชสมุนไพรไทยโดยใช้เทคโนโลยีของไหลวิกฤตกึ่งวิกฤตและของไหลวิกฤตยวดยิ่ง" โดยใช้น้ำกึ่งวิกฤตและคาร์บอนไดออกไซด์วิกฤตยวดยิ่งเพื่อสกัดสารสำคัญจากสมุนไพร ซึ่งน้ำในสภาวะดังกล่าวมีสมบัติคล้ายตัวทำละลายอินทรีย์ และสามารถสกัดสารอินทรีย์จากสมุนไพรได้หลายชนิด

ส่วนคาร์บอนไดออกไซด์มีความปลอดภัย แยกออกจากสารสกัดได้ง่าย และใช้อุณหภูมิค่อนข้างต่ำ โดยทดลองสกัดสารสำคัญจากพืชสมุนไพรหลายชนิด อาทิ รำข้าว มะระขี้นก สมอไทย เป็นต้น โดยมุ่งเน้นสารสกัดที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ สารต้านมะเร็ง สารต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส

ทว่าเทคโนโลยีดังกล่าวยังไม่แพร่หลายในประเทศไทยและยังอยู่แค่ในระดับงานวิจัย รศ.ดร.อาทิวรรณ จึงตั้งใจที่จะพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและขยายขนาดสู่ระดับอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริงในอุตสาหกรรมยาและผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและเป็นวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

"วิทยาศาสตร์ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ได้รู้ในสิ่งที่เคยไม่รู้ นั่นถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว แต่เป้าหมายสูงสุดคือสามารถนำสิ่งที่เราได้เรียนรู้ตรงนี้ไปใช้และทำให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่นในสังคมได้ และแม้ว่าผู้หญิงจะมีข้อจำกัดอยู่บ้างในการทำงานวิทยาศาสตร์บางสาขา แต่ผู้หญิงนั้นมีความอดทนสูง ที่จะทำให้ฟันฝ่าอุปสรรคไปได้" รศ.ดร.อาทิวรรณ เผยความรู้สึก

ละเอียดรอบคอบ สะอาดเรียบร้อย คือคุณสมบัติพิเศษของสตรีเพศ

ด้าน ผศ.ดร.อนงค์นาฏ บอกว่าเธอชอบวิทยาศาสตร์เพราะสามารถอธิบายสิ่งต่างๆ ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล และยังมีส่วนช่วยทำให้สังคมดีขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยงานวิจัยที่เธอได้รับทุนครั้งนี้เป็นผลงานเรื่อง "การพัฒนาฟิล์มพอลิแลคไทด์(PLA)/ดินเหนียวนาโนคอมโพสิต เพื่อประยุกต์ใช้ในงานด้านบรรจุภัณฑ์อย่างอ่อน"

นักวิจัยอธิบายว่าพลาสติก PLA มีลักษณะแข็งและเปราะ จึงจำเป็นต้องเติมสารอื่นเข้าไปเพื่อให้นิ่มและทนแรงกระแทกได้ดีขึ้น โดยในที่นี้เลือกใช้ดินเหนียวที่มีอนุภาคขนาดนาโนเมตร นำมาปรับสภาพทางเคมีและทำให้กระจายตัวได้ดีในเนื้อพลาสติก PLA พบว่าทำให้พลาสติกแข็งแรงขึ้น 3 เท่า ทนแรงกระแทกเพิ่มขึ้น 20% และทำให้ก๊าซซึมผ่านได้น้อยลง 20% และมีความใส เรียบเนียน สามารถพัฒนาต่อไปเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับเก็บรักษาอาหารได้ และการเติมดินเหนียวยังช่วยลดต้นทุนการผลิตพลาสติกชีวภาพที่ยังมีราคาสูงอยู่ได้ด้วย

"ไม่เคยคิดว่าความเป็นผู้หญิงจะเป็นอุปสรรคในการทำงานวิจัยเลย แต่คิดว่าผู้หญิงมีคุณสมบัติพิเศษในเรื่องความละเอียด รอบคอบ สะอาด และเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งในการทำงานวิจัยบางอย่างจำเป็นต้องอาศัยความเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้หญิงก็จะทำงานในส่วนนี้ได้ไม่ยาก" ผศ.ดร.อนงค์นาฏ กล่าว และหลังจากนี้เธอก็จะมุ่งมั่นพัฒนาพลาสติกชีวภาพให้มีคุณสมบัติดีขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้งานบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

มุ่งสร้างองค์ความรู้ใหม่ พร้อมแก้ปัญหาให้อุตสาหกรรมไทย

ส่วน ผศ.ดร.จูงใจ เป็นนักวิศวกรรมเคมีหญิงเก่งอีกคนหนึ่งที่ได้รับทุนวิจัยจากผลงาน "การสังเคราะห์อนุภาคขนาดนาโนเมตรสำหรับการประยุกต์ใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา" ซึ่งเธอบอกว่าตัวเร่งปฏิกิริยาจำเป็นอย่างยิ่งในอุตสากรรมที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาเคมี และปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าตัวเร่งปฏิกิริยาเหล่านี้ปีละกว่าหมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย ภาคเอกชนของไทยหลายแห่งจึงเริ่มหันมาสนใจพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาขึ้นใช้เอง

ผศ.ดร.จูงใจ ได้ศึกษาการออกแบบและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นอนุภาคของโลหะและโลหะออกไซด์ขนาดนาโนเมตร เช่น ไททาเนียมไดออกไซด์, ซิงค์ออกไซด์, ซิลิกา และอะลูมินา เป็นต้น โดยพบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อความว่องไวและการเลือกเกิดผลิตภัณฑ์ในปฏิกิริยาเคมีต่างๆ ซึ่งเหล่านี้เป็นองค์ความรู้พื้นฐานสำหรับพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาต่อไปที่เหมาะสมในแต่ละอุตสาหกรรมได้ และขณะนี้นักวิจัยยังได้ร่วมกับภาคเอกชนหลายแห่งพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนให้ภาคอุตสาหกรรมและลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

"ตัวเร่งปฏิกิริยาช่วยประหยัดเวลา ลดการสิ้นเปลืองพลังงาน และลดการเกิดของเสียได้ ถ้าเราเลือกใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่เหมาะสม ซึ่งการทำงานวิจัยทำให้เราได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ และเมื่อเป็นอาจารย์ด้วยก็ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ไปสู่ลูกศิษย์ ขณะเดียวกันก็ได้ใช้องค์ความรู้นี้แก้ปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรม และเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ" ผศ.ดร.จูงใจ กล่าว

ทั้งนี้ นักวิจัยสตรีทั้ง 4 คน ได้รับทุนวิจัยทุนละ 200,000 บาท โดยได้มีพิธีมอบทุนวิจัย "เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" ไปเมื่อช่วงเย็นวันที่ 17 พ.ย. 52 ณ พระที่นั่งเทวราชย์สภารม์ พระราชวังพญาไท ซึ่งมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เป็นประธานในพิธีดังกล่าว
ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ (ภาพโดย ลอรีอัล)
รศ.ดร.อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ (ภาพโดย ลอรีอัล)
ผศ.ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ (ภาพโดย ลอรีอัล)
ผศ.ดร.จูงใจ ปั้นประณต (ภาพโดย ลอรีอัล)
(ภาพโดย ลอรีอัล)
กำลังโหลดความคิดเห็น