xs
xsm
sm
md
lg

"ดร.สุชนา ชวนิชย์" กับปฏิบัติการวิจัยขั้วโลกใต้ครั้งที่สองของคนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ผศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์
อีกครั้งกับปฏิบัติการในขั้วโลกใต้ของนักวิจัยไทยร่วมกับทีมวิจัยญี่ปุ่น หลังห่างหายไปนานถึง 5 ปี นับแต่นักวิจัยไทยคนแรก ได้นำหุ่นยนต์ดำน้ำลงไปสำรวจใต้ท้องทะเลแอนตาร์กติกา มาหนนี้นักวิจัยหญิงตัวแทนคนล่าสุดจะมุ่งศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบจากโลกร้อนทีขั้วโลก

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ นักวิทยาศาสตร์ไทยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางไปทำวิจัยที่ขั้วโลกใต้ พร้อมกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาญี่ปุ่นที่ 46 (JARE-51: Japanese Antarctic Research Expedition) โดยการสนับสนุนของสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งญี่ปุ่น (์์National Institute of Polar Research) ที่ให้การสนับสนุนเขาในการร่วมเดินทางไปกับทีมสำรวจของญี่ปุ่น ภายใต้คววามร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

หลังจากปฏิบัติการสำรวจขั้วโลกของ ผศ.ดร.วรณพครั้งนั้น ก็ไม่มีคนไทยได้ร่วมเดินทางไปกับคณะสำรวจของญี่ปุ่นอีก จนกระทั่งญี่ปุ่นได้เปิดโอกาสให้คนไทยได้เข้าร่วมอีกครั้ง

หนนี้ผู้ที่เป็นตัวแทนของคนไทยคนใหม่ ไปร่วมสำรวจสภาพแวดล้อมอันหนาวเหน็บและเต็มไปด้วยภูเขาน้ำแข็งคือ ผศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ นักวิทยาศาสตร์หญิงวัย 37 ปี จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.สุชนาจะร่วมเดินทางไปกับคณะสำรวจ JARE-51 ซึ่งเป็นการสำรวจขั้วโลกใต้ของญี่ปุ่นเป็นปีที่ 51 แล้ว โดยจะเดินทางจากประเทศไทยในวันที่ 24 พ.ย.นี้ เพื่อไปร่วมกับคณะสำรวจที่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนอกจากคนไทยที่ได้ร่วมเดินทางไปครั้งนี้ ยังมีตัวแทนจากประเทศอื่นๆ ที่ร่วมเดินทางไปกับทีมญี่ปุ่นด้วย ได้แก่ เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ อินเดีย อีกทั้งยังมีสื่อมวลชนหญิงไทย ที่ได้รับทุนให้ร่วมเดินทางไปกับทีมสำรวจเพื่อถ่ายทำสารคดีด้วย

จากนั้นทีมสำรวจจะเดินทางไปขึ้นเรือตัดน้ำแข็ง เอจีบี ชีเรส ทู (AGB Shirase II) ที่ได้เดินทางล่วงหน้าจากกรุงโตเกียวไปรอรับคณะสำรวจ ณ เมืองเฟรแมนเทิล ฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศออสเตรเลีย แล้วมุ่งหน้าสู่สถานีวิจัยโชว์วะ (Syowa Station) สถานีวิจัยขั้วโลกใต้ของญี่ปุ่น

ระยะเวลาในการเดินทางสู่สถานีขั้วโลกใต้ ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ จากนั้นทีมวิจัยมีเวลาทำวิจัยอยู่ที่สถานีวิจัยบนแผ่นทวีปแอนตาร์กติกานาน 8-9 สัปดาห์ แล้วเดินทางกลับในช่วงเดือน ก.พ.53 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่ทะเลจะกลายเป็นน้ำแข็งอีกครั้ง แล้วใช้เวลาช่วงเดินทางกลับ 4-5 สัปดาห์ทำการสำรวจทางด้านสมุทรศาสตร์

สำหรับภารกิจของ ผศ.ดร.สุชนา ในการเดินทางครั้งนี้ คือการสำรวจแบคทีเรียและจุลินทรีย์ในตะกอนดินแถบชายฝั่งทะเลและทะเลสาบ วัดอุณหภูมิของน้ำ ความเค็มของดิน ศึกษาประชากรนกเพนกวิน พฤติกรรมปลา ซึ่งเป็นภารกิจในกลุ่มวิจัยชีววิทยาและสมุทรศาสตร์ และนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลที่มีว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อวิเคราะห์ว่าการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในแอนตาร์กติกหรือไม่

“แอนตาร์กติกาเป็นด่านแรก ที่จะบอกเราว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นจะส่งผลกระทบอย่างไร เราจะได้เตรียมตัวได้ เพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นจุดที่รวมสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์ปล่อยไป ทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากโลกหมุนสิ่งเหล่านั้นจึงตกที่ขั้วโลกใต้และได้รับผลกระทบโดยตรง และสัตว์ในแอนตาร์กติกาจะทนอุณหภูมิได้ระดับหนึ่งเท่านั้น อุุณหภูมิที่เปลี่ยนไปเพียง 1-2 องศาเซลเซียสย่อมส่งผลกระทบ" ผศ.ดร.สุชนากล่าว

งานวิจัยของทีมสำรวจ ไม่จำกัดเพียงแค่ด้านสมุทรศาสตร์หรือชีววิทยา แต่ ผศ.ดร.สุชนาบอกว่ายังมีงานวิจัยทางด้านธรณีวิทยา สำรวจหินและแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งจุดประสงค์หลักในการสำรวจครั้งนี้ของคณะญี่ปุ่นคือการศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสิ่งมีชีวิตและสิงแวดล้อมในแอนตาร์กติกา และศึกษาประสิทธิภาพของเรือตัดน้ำแข็งลำใหม่ด้วย

ทั้งนี้ผลจากการศึกษาและสำรวจขั้วโลกใต้ของ ผศ.ดร.สุชนาไม่สามารถนำมาใช้กับงานวิจัยทางทะเลของไทยได้โดยตรง ส่วนหนึ่งคือทะเลไทยไม่มีเพนกวิน แต่ผลที่ได้สามารถนำมาเปรียบเทียบกับการสำรวจท้องทะเลไทยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นส่งผลกระทบต่อทะเลไทยอย่างไร

หลังข้อเสนองานวิจัยได้รับคัดเลือกแล้ว ทางคณะกรรมการได้ตรวจสุขภาพ ผศ.ดร.สุชนาอย่างละเอียดทั้งสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต และได้เข้ารับการฝึกภาคฤดูร้อน ซึ่งเป็นการฝึกเพื่อเตรียมพร้อมทางด้านความปลอดภัย ขณะที่ตัวเธอเองก็พยายามฟิตซ้อมร่างกาย และการเป๋นนักกีฬาว่ายน้ำและครูสอนดำน้ำ อีกทั้งยังพอคุ้นชินกับสภาพอากาศหนาวเมื่อครั้งไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ ทำให้ตัวแทนประเทศไทยคนล่าสุดมีความมั่นใจยิ่งขึ้น

ในฐานะที่เป็นรุ่นพี่ผู้มีประสบการณ์ไปทำวิจัยที่ขั้วโลกมาก่อน ผศ.ดร.วรณพ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับขั้วโลกใต้ว่า ขั้วโลกใต้เป็นแผ่นทวีปที่ไม่ติดกับแผ่นดินทวีปอื่น ไม่มีชุมชนมนุษย์อาศัยอยู่ จึงเป็นแผ่นดินบริสุทธิ์ สัตว์ท้องถิ่นในทวีปนี้ก็ไม่กลัวคน และแผ่นน้ำแข็งอยู่บนผืนดิน จึงไม่ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลเท่าขั้วโลก อุณหภูมิของแอนตาร์กติกาวัดได้ต่ำสุด -89 องศาเซลเซียส

อีกทั้ง เท่าที่เขาเคยฟังประสบการณ์ผู้ที่เคยสัมผัสอุณหภูมิ -60 องศาเซลเซียสนั้น ความรู้ขณะหายใจเหมือนโดนทิ่มปอด และจากความบริสุทธิ์ของพื้นที่นี้ยังเป็นแหล่งข้อมูลชั้นบรรยากาศในอดีตย้อนกลับไปได้กว่า 8 แสนปี

ส่วนการเดินทางไปทำวิจัยถึงขั้วโลกใต้เป็นเวลาร่วม 4 เดือนนี้ของไทยคนล่าสุดนี้ ผศ.ดร.สุชนาบอกว่าได้เตรียมความพร้อมและจัดเก็บอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่จำเป็น ซึ่งต้องเตรียมพร้อมอย่างละ 2 ชุด เพื่อไว้สำรองเพราะไม่สามารถหาซื้อได้ อีกทั้งสถานีวิจัยเป้าหมายนั้นเครื่องบินไม่อาจลงจอดได้ตลอด นอกจากนี้ด้วยชีวิตโสดทำให้เธอไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องครอบครัวมากนัก

“การได้ไปทำวิจัยที่ขั้วโลกใต้ เป็นความใฝ่ฝันองนักวิจัยทางด้านธรรมชาติวิทยาและสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นพื้นที่อันบริสุทธิ์ และไม่สามารถไปกันได้ง่ายๆ อีกทั้งไทยไม่ได้เป็นภาคีของสนธิสัญญาว่าด้วยทวีปแอนตาร์กติกา จึงเข้าไปทำวิจัยไม่ได้โดยตรง แต่เข้าไปได้ด้วยความร่วมมือกับประเทศที่เป็นภาคีเช่นนี้ อยากให้คนไทยเห็นความสำคัญกับแอนตาร์กติกา อย่าคิดว่าไกลตัวเกินไปเพราะสิ่งที่เกิดกับแอนตาร์กติกาก็ส่งผลกระทบกับเมืองไทยเหมือนกัน" ผศ.ดร.สุชนาฝากทิ้งท้าย.

ผศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ (กลาง) พร้อมด้วย ผศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ (ขวา) ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ขวาสุด) นางสดับพิณ คำนวณทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งให้การสนับสนุนทุนเครื่องมือวิทยาศาสตร์สำหรับงานวิจัย และ ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ผลักดันโครงการร่วมมือวิจัยขั้วโลกใต้ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เมื่อ 5 ปีก่อน ร่วมแสดงความยินดี
เรือตัดน้ำแข็งเอจีบี ชีเรส ทู ที่ ผศ.ดร.สุชนาจะโดยสารไปขั้วโลกใต้
ทิวทัศน์ขั้วโลกใต้
เพนกวินอเดลีขั้วโลกใต้
ฝูงเพนกวิน
แมวน้ำขั้วโลกใต้
สถานีวิจัยโชว์วะ ของญี่ปุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น