xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตนักวิจัย 2 เดือนที่ขั้วโลกใต้ของ "ดร.สุชนา ชวนิชย์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สุชนา ชวนิชย์ นักวิจัยหญิงไทยคนแรก และนักวิจัยคนที่ 2 ซึ่งเดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้กับคณะญี่ปุ่น


ชมบรรยากาศที่ขั้วโลกใต้
ของฝากจาก "ดร.สุชนา ชวนิชย์"
หญิงไทยคนแรกที่ได้ร่วมวิจัยกับทีมนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น


ดร.สุชนาหน้าสถานีวิจัยโชว์วะ
ลุล่วงไปแล้วสำหรับปฏิบัติการสำรวจแอนตาร์กติกาอันหนาวเหน็บของ "ดร.สุชนา ชวนิชย์" หญิงไทยคนแรกที่ได้ร่วมวิจัยกับทีมนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น ซึ่งพบอุปสรรคทั้งทะเลน้ำแข็งที่หนากว่าปกติทำให้การเดินทางล่าช้า หรือพายุหิมะพัดกระหน่ำจนต้องหยุดภารกิจ แต่งานทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย

“สุชนาทำงานได้ครบทุกอย่างตามเป้าหมาย แต่มีเรื่องจำนวนงานที่อาจจะลดไปจากที่ตั้งเป้าไว้ เช่น สำรวจทะเลสาบที่กำหนดไว้ 10 แห่ง ก็สำรวจได้เพียง 3-4 แห่ง เป็นต้น" ผศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์วัย 38 ปีจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV- ผู้จัดการออนไลน์ หลังกลับจากการเดินทางไปสำรวจทวีปแอนตาร์ติกา และเพิ่งมาถึงเมืองไทยเมื่อวันที่ 19 มี.ค.53 ที่ผ่านมา

อุปสรรคก้อนแรก น้ำแข็งหนา 4.5 เมตร

ทั้งนี้ ดร.สุชนาได้เดินไปสำรวจขั้วโลกใต้ร่วมกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาญี่ปุ่น คณะที่ 51 (๋Japanese Antarctic Research Expedition: JARE-51) ณ สถานีวิจัยโชว์วะ (Syowa Station) ของประเทศญี่ปุ่น เกาะอีส อองกูร์ (East Ongul Island) ทวีปแอนตาร์ติกา ตั้งแต่เดือน พ.ย.52 ที่ผ่านมา โดยเดินทางไปกับเรือตัดน้ำแข็งลำใหม่ของญี่ปุ่น "ชิเรส 2” (Shirase II) ซึ่งจอดรอคณะเดินทางอยู่ทางตอนใต้ของออสเตรเลียฝั่งตะวันตก และใช้เวลาเดินทาง 3 สัปดาห์จึงไปถึงขั้วโลกใต้

การเดินทางสู่ทวีปแอนตาร์กติกาของคณะสำรวจเจออุปสรรคตั้งแต่การเดินทางด้วยเรือตัดผ่านทะเลน้ำแข็ง ซึ่งแม้เรือชิเรสจะได้รับการออกแบบมาใหม่ให้ทำงานได้ดีกว่าเรือตัดน้ำแข็งรุ่นก่อนๆ โดยจะฉีดน้ำเพื่อละลายน้ำแข็งจากนั้นจึงพุ่งชน แต่เมื่อต้องเผชิญกับน้ำแข็งที่หนากว่าปกติ ทำให้การทำงานเริ่มต้นล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ ซึ่งปกติฤดูร้อนของขั้วโลกใต้จะมีน้ำแข็งหนาเพียง 1-2 เมตร

"ปีนี้มีหิมะตกหนักกว่าปกติจนทำให้น้ำแข็งหนาถึง 4.5 เมตร การพุ่งชนแต่ละครั้งตัดน้ำแข็งออกได้เพียง 20 เมตร และวันหนึ่งตัดน้ำแข็งได้เพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น เหมือนเรือลอยนิ่งๆ อยู่บนทะเลแข็ง" ดร.สุชนากล่าว

เผชิญพายุหิมะกระหน่ำสถานีวิจัย

เมื่อไปถึงสถานีวิจัย ดร.สุชนายังไม่สามารถเริ่มปฏิบัติงานได้ทันที เนื่องจากเรือตัดน้ำแข็งที่ขนสัมภาระสำหรับงานวิจัยยังเข้าไปไม่ถึงสถานีวิจัย ทางคณะสำรวจต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์เข้าไปยังสถานีวิจัยก่อน ซึ่งหลังจากไปถึงเป้าหมายได้ไม่นานนักวิจัยหญิงไทยคนแรกในขั้วโลกใต้ยังเผชิญกับพายุหิมะหลายสิบครั้ง ทำให้ออกไปสำรวจนอกอาคารที่พักไม่ได้ เนื่องจากทัศนวิสัยไม่ดี โดยเมื่อเกิดพายุหิมะแต่ละครั้งนักวิจัยไม่สามารถมองเห็นเส้นทางหรือสิ่งที่อยู่รอบตัวได้ แม้อยู่ในระยะ 2-3 เมตรก็ตาม

ทั้งนี้เคยมีนักวิจัยญี่ปุ่นในรุ่นที่ 4 หรือเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว เสียชีวิตเนื่องจากอยู่นอกอาคารขณะเกิดพายุหิมะและหาทางกลับอาคารไม่เจอ กว่าจะพบศพของนักวิจัยคนดังกล่าวใช้เวลาหลังจากนั้น 7 ปี โดยศพอยู่ห่างจากสถานีวิจัยออกไป 6-7 กิโลเมตร ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันโศกนาฏกรรมเช่นนั้นอีก

“เขาไม่อยากให้เกิดเหตุเช่นนั้นอีก แม้ 1 ชีวิต ไม่มาก แต่เขาไม่อยากให้เกิดการสูญเสีย ดังนั้นการออกไปนอกอาคารต้องบอกคนอื่นๆ และบันทึกในตารางว่าในแต่ละช่วงเวลาจะอยู่ที่ไหน เมื่อออกข้างนอกต้องไปเป็นคู่ หากจะออกนอกเส้นทางต้องใช้วิทยุสื่อสารบอกคนอื่นให้รับทราบ” ดร.สุชนากล่าว

หากต้องออกไปนอกอาคารระหว่างเกิดพายุหิมะนักสำรวจต้องใช้เชือกซึ่งมีคลิปสำหรับเกี่ยวเชือกที่เชื่อมระหว่างอาคารเป็นสิ่งนำทาง และต้องพกเชือกดังกล่าวไว้เสมอ และนอกจากเชือกแล้วทุกคนต้องพกนกหวีด เข็มทิศและที่เจาะน้ำแข็งขนาดเล็กไว้ติดตัวเสมอ เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับตัวเองให้เป่านกหวีดให้ดังที่สุดเพื่อให้คนอื่นๆ ได้ยินและไปช่วยเหลือได้ทัน

ครั้งหนึ่งระหว่างออกไปสำรวจนอกพื้นที่อาคาร ขาข้างหนึ่งของ ดร.สุชนาได้ติดเข้ากับร่องน้ำแข็งที่ลึก 4.5 เมตร ซึ่งมากพอที่ผู้หญิงร่างเล็กและสูงเพียง 1.5 เมตรอย่างเธอจะหล่นหายไปได้ ด้วยความตกใจเธอจึงตะโกนร้องให้เพื่อนช่วยจนลืมเป่านกหวีด แต่โชคดีที่เธอช่วยเหลือตัวเองออกมาได้

เมื่อออกไปนอกอาคารทุกคนต้องสวมหมวกคล้ายหมวกกันน็อคตลอดเวลา เนื่องจากอาจมีสิ่งของปลิวมากระแทกศรีษะได้ โดยหมวกกันดังกล่าวยังมีผ้าคลุมใบหน้าบริเวณแก้มและต้นคอ เพื่อป้องกันความหนาวเย็น และมีแผ่นกระจกบริเวณหน้าผากเพื่อป้องกันหิมะและเศษดินเข้าตาเมื่อมีพายุหิมะหรือลม และเนื่องจากรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีจะส่องตรงมายังบริเวณขั้วโลกใต้ จึงต้องสวมผ้าสำหรับปกคลุมใบหน้าทั้งหมด และสวมแว่นตาป้องกันรังสียูวีตลอดเวลา

ดร.สุชนาต้องปฏิบัติงานตั้งแต่ 08.00-18.00 น. หลายครั้งต้องเดินเท้าไปเก็บตัวอย่างถึง 3 ชั่วโมง และใช้เวลาเดินกลับอีก 3 ชั้วโมง หรือไปเก็บตัวอย่างที่ทะเลสาบต้องใช้เวลาเดินทางไป-กลับรวมถึง 4 ชั่วโมง ส่วนการเก็บตัวอย่างปลาต้องเจาะน้ำแข็งแล้วใช้เบ็ดตกปลา ซึ่งกว่าจะได้ปลาแต่ละตัวใช้เวลานาน 1-2 ชั่วโมง ทั้งนี้เธอเก็บตัวอย่างปลามาได้ 3 ชนิดรวมกว่า 40 ตัว และขุดดินตัวอย่างมา 3-4 กิโลกรัมจากบริเวณต่างๆ 6-7 จุด พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำแข็ง น้ำทะเลและตัวอย่างสิ่งมีชีวิตจำพวกกริลล์ (krill) หรือเคอย

ตัวอย่างที่เก็บมานั้นส่วนหนึ่งเก็บไปให้นักวิจัยที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ นำไปศึกษาต่อ แต่ตัวอย่างส่วนใหญ่จะนำขึ้นเรือซิเรสแล้วส่งตรงไปยังญี่ปุ่นก่อนที่จะส่งกลับมาเมืองไทย เนื่องจากต้องขออนุญาตินำเข้าสิ่งมีชีวิตจากกรมประมงเสียก่อน โดยตัวอย่างปลานั้นจะนำมาผ่าท้องดูอาหารที่ปลากิน เพื่อหาข้อสรุปว่าปลาปรับตัวอย่างไรในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง

นอกจากการสำรวจเชิงสมุทรศาสตร์แล้ว ดร.สุชนายังได้ร่วมกับชุดสำรวจธรณีวิทยาเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดการสั่นสะเทือนของแผ่นดิน และอุปกรณ์ตรวจวัดการเคลื่อนตัวของแผ่นน้ำแข็ง และจากการศึกษาพบว่าแผ่นน้ำแข็งบริเวณชายฝั่งของทวีปแอนตาร์กติกาเคลื่อนตัวประมาณ 5 เมตรต่อปี ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราส่วนการเคลื่อนตัวเฉลี่ยของเปลือกโลกบริเวณทวีปแอนตาร์กติกาที่มีค่าประมาณ 1 เซนติเมตรต่อปี รวมถึงการสำรวจอุกกาบาต ซึ่งปีนี้ญี่ปุ่นสำรวจพบอุกกาบาตแล้ว 635 ชั้น โดยชิ้นใหญ่ที่สุดหนักถึง 5 กิโลกรัม

ในระหว่างการเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปศึกษาต่อเธอได้พบซากแมวน้ำ 4 ตัว ซึ่งตายมาแล้วกว่า 10 ปี แต่ซากยังสมบูรณ์อยู่ และไม่ทราบสาเหตุการตาย ทางทีมวิจัยจึงได้ขุดดินบริเวณโดยรอบกลับมาศึกษาหาชนิดจุลินทรีย์ ซึ่งอาจทำให้ทราบถึงสาเหตุ

ดร.สุชนาพร้อมด้วยคณะสำรวจภาคฤดูร้อนใช้เวลาทำวิจัยที่สถานีวิจัยโชว์วะเป็นเวลา 2 เดือน และใช้เวลาเดินทางกลับโดยเรือชิเรสเป็นเวลา 5 สัปดาห์ ซึ่งระหว่างนั้นได้แวะเยี่ยมสถานีวิจัยขั้วโลกใต้ของจีนด้วย ส่วนนักสำรวจภาคฤดูหนาวจะใช้เวลาอยู่ที่สถานีวิจัยนาน 14 เดือน

ร้างราความร่วมมือวิจัยขั้วโลกใต้ไทย-ญี่ปุ่นเกือบ 6 ปี

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน พ.ย.ปี 2546 ผศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ไทยคนแรกจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาญี่ปุ่น คณะที่ 46 เพื่อมุ่งหน้าสำรวจขั้วโลกใต้ โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านทางสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งญี่ปุ่น (์์National Institute of Polar Research) และรัฐบาลไทยผ่านทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการร่วมกันเฉพาะกิจเพื่อสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชนและคนทั่วไป ส่วนการเดินทางสู่ขั้วโลกใต้ของ ดร.สุชนาครั้งนี้เป็นความร่วมมือโดยตรงระหว่างสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งญี่ปุ่น (์์National Institute of Polar Research) และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

ในช่วงเวลาไม่ถึง 6 ปี การสำรวจขั้วโลกใต้ของนักวิทยาศาสตร์ไทยทั้งสองคนมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดย ดร.วรณพได้เผชิญพายุหิมะเพียงไม่กี่ครั้งก่อนเดินทางกลับ ขณะที่ ดร.สุชนาพบพายุหิมะหลายสิบครั้ง และระหว่างเดินทางกลับเธอยังเห็นปรากฏการณ์แสงออโรร่า (Aurora) หลายครั้ง ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเฉพาะที่ขั้วโลกเหนือและใต้ เนื่องจากอนุภาคมีประจุวิ่งกระทบกับอนุภาคในชั้นบรรยากาศ ซึ่งส่วนใหญ่คือไนโตรเจนและออกซิเจน และหากกระทบไนโตรเจนจะเกิดแสงสีแดง ส่วนออกซิเจนจะให้แสงสีเขียว

นอกจากนี้ในช่วงระยะเวลาที่แตกต่างกันนั้นความสะดวกสบายบนสถานีวิจัยที่ขั้วโลกใต้ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย เนื่องจากญี่ปุ่นได้เดินทางสำรวจขั้วโลกใต้มากว่า 50 ปีแล้ว ปัจจุบันมีอินเตอร์เน็ตให้ใช้ และสามารถโทรศัพท์จากขั้วโลกใต้กลับไปยังญี่ปุ่นได้

คณะสำรวจที่ 51 ของญี่ปุ่นไม่ได้มีเพียง ดร.สุชนา เป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียว แต่ยังมี นางศศิวิมล อยู่คงแก้ว สื่อมวลชนไทยร่วมเดินทางไปในครั้งนี้ด้วย รวมถึงนักวิจัยจากชาติอื่นๆ ได้แก่ อินเดีย เกาหลีใต้ และจีน
ระหว่างสำรวจเก็บตัวอย่าง ดร.สุชนาได้พบซากแมวน้ำที่ตายมาแล้วกว่า 10 ปี และได้เก็บดินบริเวณนั้นมาศึกษา
“แอนตาร์กติกา” หนาวสุดขั้วโลกใต้


ทวีปแอนตาร์กติกา (Antarctica) หรือขั้วโลกใต้ เป็นทวีปที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งถึง 98% ซึ่งมีชั้นน้ำแข็งปกคลุมหนาเฉลี่ย 2,450 เมตร และเป็นทวีปที่มีอุณหภูมิต่ำสุดในโลก โดยอุณหภูมิต่ำสุดบันทึกได้ในปี 2526 คือ -89.2 องศาเซลเซียส และไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่เนื่องจากเป็นแผ่นดินที่อยู่ห่างไกล โดดเดี่ยวและหนาวบเหน็บ ส่วนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จะอพยพเข้ามาบริเวณชายฝั่งทวีปในช่วงฤดูร้อนสั้นๆ เท่านั้น นอกจากนี้น้ำแข็ง 90% ของโลกยังรวมอยู่ที่ทวีปนี้ด้วย

การสำรวจขั้วโลกใต้เริ่มต้นเมื่อกว่า 200 ปีก่อน โดยกัปตัน เจมส์ คุก (James Cook) ชาวอังกฤษได้เดินเรือผ่านน่านน้ำมหาสมุทรแอนตาร์กติก ห่างออกจากชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติกาเพียง 121 กิโลเมตร และเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันพิชิตดินแดนแห่งนี้ โดย แอล. คริสเตนเซน (L. Kristensen) ชาวนอร์เวย์เป็นคนแรกที่เหยียบฝั่งทวีปแอนตาร์กติกา ส่วนผู้ที่พิชิตขั้วโลกใต้สำเร็จคือ คณะสำรวจของ อาร์. อามุนด์เซน (R. Amundsen) ชาวนอร์เวย์ ซึ่งไปถึงขั้วโลกใต้สำเร็จเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2454 และคณะของ อาร์ เอฟ สก็อตต์ (R.F. Scott) ชาวอังกฤษ ซึ่งไปถึงจุดดังกล่าววันที่ 17 ม.ค.2455

เพื่อกำหนดให้ทวีปแอนตาร์กติกาเป็นสมบัติของมนุษยชาติ ห้ามกิจกรรมทางการทหารและการพาณิชย์ ยับยั้งการอ้างสิทธิเหนือดินแดน แต่ส่งเสริมความร่วมมือทางการวิจัย ในวันที่ 1 ธ.ค.2502 จึงมี 12 ชาติที่ร่วมลงนามภายใต้สนธิสัญญาว่าด้วยทวีปแอนตาร์กติกา (Antarctic Treaty) โดยชาติเอเชียมีเพียงญี่ปุ่นเป็นตัวแทนชาติเดียว

ดร.สุชนาเก็บตัวอย่างน้ำ

“ดร.สุชนา ชวนิตย์” สตรีไทยคนแรกในขั้วโลกใต้


ดร.สุชนา ชวนิตย์ อาจารย์วัย 38 ปี จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคนแรกที่ได้เดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้ร่วมกับคณะสำรวจญี่ปุ่น โดยขณะศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่จุฬาลงกรณืมหาวิทยาลัย สนใจงานวิจัยเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตทางทะเลเป็นพิเศษ จึงฝึกดำน้ำเพื่อศึกษาสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลทั้งเขตร้อนและเขตหนาว จนสอบผ่านและได้รับประกาศนียบัตรเป็นครูสอนดำน้ำสากล จากนั้นได้ศึกษาทางด้านชีววิทยาในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเซ็นทรัลคอนเนคติกัตสเตท (Central Connecticut State University) สหรัฐฯ และสัตววิทยาในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยนิวแฮมไชร์ (University of New Hampshire) สหรัฐฯ

เมื่อปี 2551 ได้รับทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และในปี 2552 ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งญี่ปุ่นให้ร่วมเดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้กับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาญี่ปุ่น คณะที่ 51

ภูเขาน้ำแข็งที่มีความยาวมากกว่า 20 กิโลเมตร และมีความสูงมากกว่า 50 เมตร
ดวงอาทิตย์ที่ขั้วโลกใต้ ซึ่งแสงแดดกระทบกับผลึกน้ำแข็งที่อยู่รอบๆ ในอากาศ ทำให้แสงหักเหจนกลายเป็นวงกลม
แสงออโรร่าระหว่าง ดร.สุชนาเดินทางกลับ
เรือตัดน้ำแข็งชิเรส 2
กำลังโหลดความคิดเห็น