"จันทรายาน" ของอินเดียพาเรดาร์ของ "นาซา" สำรวจพบน้ำแข็งหลายร้อยล้านตันอัดกันแน่นอยู่ในหลุมอุกกาบาตแถบขั้วโลกเหนือของดวงจันทร์ เพราะอยู่ในพื้นที่มืดมิดตลอดกาล อุณหภูมิหนาวเย็นยิ่งกว่าดาวพลูโต ชี้ดวงจันทร์ยังมีสิ่งน่าดึงดูดใจให้มนุษย์ไปค้นหามากกว่าที่คิด
ภายในการประชุมวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์และดวงจันทร์ ครั้งที่ 41 (41st Lunar and Planetary Science Conference) เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ในมลรัฐเทกซัส สหรัฐ นักวิทยาศาสตร์ได้เปิดเผยผลการสำรวจดวงจันทร์ โดยเรดาร์มินิ-ซาร์ (Mini-SAR) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) สำรวจพบน้ำแข็งอัดแน่นอยู่ในหลุมอุกกาบาตบริเวณใกล้กับขั้วโลกเหนือของดวงจันทร์กว่า 40 หลุม ชี้ให้เห็นว่าดวงจันทร์มีสิ่งที่น่าตื่นตาและน่าค้นหามากกว่าที่คิดไว้
เรดาร์สำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ของนาซาดังกล่าวได้พบหลุมอุกกาบาตกว่า 40 หลุม บริเวณใกล้กับขั้วโลกเหนือของดวงจันทร์ แต่ละหลุมมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 2-15 กิโลเมตร ภายในหลุมเต็มไปด้วยน้ำแข็ง ซึ่งจะมีมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความลึกของหลุม แต่จากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่าในแต่ละหลุมมีน้ำแข็งรวมกันไม่ต่ำกว่า 600 ล้านตัน
บีบีซีนิวส์ระบุว่า บริเวณที่สำรวจพบหลุมกักเก็บน้ำแข็งดังกล่าวเป็นบริเวณกว้างที่อยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ในส่วนที่ไม่เคยได้รับแสงจากดวงอาทิตย์เลย และบางหลุมที่มืดมิดตลอดกาลเหล่านี้มีอุณหภูมิต่ำถึง -248 องศาเซลเซียส ซึ่งหนาวเย็นยิ่งกว่าพื้นผิวของดาวพลูโตเสียอีก จึงทำให้น้ำแข็งเหล่านั้นได้รับการรักษาสภาพไว้ได้เป็นอย่างดี
"สิ่งที่ค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ดวงจันทร์มีความน่าสนใจและเป็นจุดหมายปลายทางที่ชวนให้มนุษย์ไปสำรวจค้นหามากกว่าที่เราเคยคิดกันมาก่อนหน้านี้" ดร.พอล สพูดิส (Dr. Paul Spudis) นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันดวงจันทร์และดาวเคราะห์ (Lunar and Planetary Institute) เมืองฮุสตัน มลรัฐเทกซัส ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมการสำรวจของเรดาร์ตัวนี้ กล่าวในเอเอฟพี
ทั้งนี้ เรดาร์มินิ-ซาร์ ถูกส่งไปพร้อมกับจันทรายาน-1 (Chandrayaan-1) ยานสำรวจดวงจันทร์ของอินเดีย โดยช่วงเวลาตลอดปีที่ผ่านมา จันทรายาน-1 ได้นำมินิ-ซาร์ สำรวจบริเวณขั้วโลกเหนือของดวงจันทร์โดยอาศัยการสะท้อนของคลื่นวิทยุ เพื่อทำแผนที่พื้นผิวดวงจันทร์บริเวณที่อยู่ในเงามืดตลอดเวลาและไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากโลก
เจสัน ครูแซน (Jason Crusan) ผู้บริหารภารกิจสำรวจอวกาศของนาซา เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากเรดาร์ ทีมนักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่านี่เป็นตัวชี้วัดน้ำแข็งบนดวงจันทร์ ซึ่งจะช่วยกำหนดทิศทางและเป้าหมายใหม่สำหรับภารกิจสำรวจดวงจันทร์ในอนาคตซึ่งผลการวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร จีโอฟิสิคัล รีเซิร์ช เล็ตเตอร์ (Geophysical Research Letters) ร่วมกับการค้นพบจากอุปกรณ์อื่นๆ ของนาซา
สพูดิส กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้ ทำให้สามารถพูดได้อย่างมั่นใจพอประมาณว่ามีความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะปักหลักบนดวงจันทร์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่สำรวจพบบนดวงจันทร์ได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา บารัค โอบามา (Barack Obama) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพิ่งประกาศยกเลิกโครงการส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์อีกครั้งภายในปี 2020 ของนาซา เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณสนับสนุนไม่เพียงพอ
นอกจากผลสำรวจของเรดาร์มินิ-ซาร์แล้ว ข้อมูลที่ได้จากยานแอลครอส (LCROSS) ที่นาซาส่งไปยิงพื้นผิวบริเวณขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งอยู่ในเงามืดถาวร ปรากฏว่ามีไอน้ำพวยพุ่งออกมาด้วย และจากการวิเคราะห์พบว่าน้ำแข็งบางส่วนบนดวงจันทร์อยู่ในรูปของผลึก แทนที่จะเป็นการเรียงตัวกันแบบสุ่มของโมเลกุลน้ำจนไม่เป็นรูปเป็นร่าง
นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ข้อมูลจากการพุ่งชนพื้นผิวดวงจันทร์ของยานแอลครอสยังพบอีกว่ามีสารระเหยหลายชนิดรวมอยู่ด้วย เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และพบว่ามีสารประกอบไฮโดรคาร์บอนปะปนอยู่ในสิ่งที่พวยพุ่งขึ้นมาจากการชนด้วย เช่น เอทิลีน (ethylene) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสารไฮโดรคาร์บอนบนเหล่านั้นถูกนำพามายังพื้นผิวดวงจันทร์โดยดาวหางและอุกกาบาตที่เคยพุ่งชนดวงจันทร์มาก่อนหน้านั้น