อินเดียเผยถึงความล้มเหลวของปฏิบัติการส่ง "จันทรายาน" สำรวจดวงจันทร์ ซึ่งขึ้นไปโคจรและสำรวจดวงจันทร์เป็นเวลาเกือบปี แต่ระบบคอมพิวเตอร์สื่อสารขัดข้องจนติดต่อไม่ได้ คาดยานสำรวจดาวบริวารดวงแรกของแดนภารตะโหม่งพื้นดวงจันทร์แล้ว
หลังอินเดียประสบความสำเร็จในการส่ง "จันทรายาน-1" (Chandrayaan-1) ยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกของชาติขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ และปฏิบัติการโคจรรอบดาวบริวารมากกว่า 3,400 รอบ ในช่วง 312 วัน แต่เมื่อช่วงย่างสู่เช้าวันเสาร์ที่ผ่านมาองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organization) หรือไอเอสอาร์โอ (ISRO) ไม่สามารถรับสัญญาณวิทยุจากจันทรายานได้
สำนักข่าวเอพีระบุคำเปิดเผยของ เอส สาทิส (S. Satish) โฆษกไอเอสอาร์โอว่า หน่วยติดตามสัญญาณจันทรายานขององค์การอวกาศอินเดียซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองบังกาลอร์ในอินเดียนั้น ไม่ได้รับการติดต่อจากยานมาเป็นเวลาพอสมควร ซึ่งขณะนี้ทีมวิจัยกำลังศึกษาข้อมูลที่ส่งมาจากระยะไกล และพยายามค้นหาว่าอะไรคือปัญหา
สาทิสยังกล่าวด้วยว่า จันทรายานถูกควบคุมโดยศูนย์ติดตามสัญญาณ ซึ่งส่งคำสั่งไปยังยานอวกาศเพื่อเปลี่ยนแปลงทิศทาง ความเร็วและจับโฟกัสของกล้องที่ติดตั้งบนยาน และองค์การอวกาศรัสเซียได้รับข้อมูลปริมาณจากจันทรายาน ซึ่งเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์โดยอัตโนมัติ และวัตถุประสงค์หลักๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์ของภารกิจที่มีกำหนดเวลาทั้งหมด 2 ปี ได้ลุล่วงไปแล้วประมาณ 95%
พร้อมกันนี้ เอเอฟพีรายงานประกาศของไอเอสอาร์โอว่าโครงการยานอวกาศมูลค่าเกือบ 3,000 ล้านบาทนี้ ได้สูญเสียการติดต่อสัญญาณวิทยุจากยานอวกาศ ซึ่งความสูญเสียครั้งนี้องค์การอวกาศอินเดียโทษว่าเป็นปัญหาในการทำงานที่ผิดพลาดของคอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารกับยานได้ และคาดว่าตอนนี้ยานสำรวจดวงจันทร์ของอวกาศน่าจะพุ่งชนพื้นผิวของดวงจันทร์แล้ว
ในช่วง พ.ค.ที่ผ่านมาจันทรายานยังสูญเสียชิ้นส่วนสำคัญคือเซนเซอร์ตรวจหาดาว และก่อนหน้านี้ 2 เดือน ยานอวกาศของอินเดียยังประสบปัญหาอุณหภูมิสูงเกิน แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์ของอินเดียก็สามารถกู้คืนให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ
ทั้งนี้อินเดียได้ส่งจันทรายานขึ้นไปตั้งแต่ 1 ต.ค.51 และผลักให้อินเดียเข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่แข่งขันสำรวจดวงจันทร์ โดยประเทศอื่นๆ ที่มียานอวกาศสำรวจคล้ายๆ กันได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย องค์การอวกาศยุโรป ญี่ปุ่นและจีน และหลังจากนี้อินเดียยังมีโครงการส่งยานไปลงจอดดวงจันทร์ในปี 2564 ด้วย