นักวิจัยหญิงไทยถึงขั้วโลกใต้แล้ว พร้อมเริ่มต้นขุดเจาะชั้นน้ำแข็ง เตรียมสำรวจและเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในทะเลแอนตาร์กติกามาตรวจวิเคราะห์ข้อมูลผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
ผศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ นักวิจัยหญิงคนแรกของประเทศไทย ที่ได้ได้เดินทางร่วมคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาญี่ปุ่นที่ 51 (JARE-51; 51th Japanese Antarctic Research Expedition) เดินทางถึงสถานีวิจัย โชวะ (Syowa Station) ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้เริ่มต้นเก็บข้อมูลเพื่อทำการวิจัยแล้ว
ขณะนี้ ผศ.ดร.สุชนา ได้เริ่มต้นทำงานวิจัยจากการเตรียมพื้นที่ศึกษาบนผืนน้ำแข็งที่ปกคลุมผิวหน้าน้ำทะเล (ทะเลน้ำแข็ง) ร่วมกับทีมนักวิจัยของญี่ปุ่น โดยทำการขุดเจาะผืนน้ำแข็งซึ่งมีความหนาประมาณ 2 เมตร ให้เป็นช่องที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 เซนติเมตร หลายหลุม เพื่อที่ใช้ในการเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในทะเลขึ้นมา ซึ่งระดับความลึกของน้ำทะเลบริเวณดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 50-60 เมตร และมีหลุมใหญ่อีกหนึ่งหลุมที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 150 เซนติเมตร เพื่อเก็บน้ำทะเลและน้ำแข็งมาตรวจวิเคราะห์ ภายใต้อุณหภูมิของน้ำทะเลบริเวณผิวน้ำอยู่ที่ประมาณ 0 องศาเซลเซียส
จากข้อมูลปริมาณการตกของหิมะในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมาพบว่า มีพายุหิมะมากกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีหิมะที่ปกคลุมผืนน้ำแข็งหนากว่าปกติ จึงต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะขุดเจาะผืนน้ำแข็งได้สำเร็จ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาขุดเจาะน้ำแข็งสักระยะหนึ่งจึงจะสามารถเริ่มการสำรวจและเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในทะเลเพื่อศึกษาวิจัยต่อไป
ในช่วงนี้ อุณหภูมิเวลากลางวันที่สถานีโชว์วะ อยู่ที่ประมาณ – 1 ถึง – 2 องศาเซลเซียส แต่เนื่องจากมีกระแสลมที่ค่อนข้างแรง ทำให้มีความรู้สึกว่าหนาวกว่าปกติ ขณะที่อุณหภูมิในช่วงเวลากลางคืนอยู่ที่ประมาณ – 5 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูร้อนของแอนตาร์กติกา ดวงอาทิตย์จึงไม่มีการลับขอบฟ้า ซึ่งหมายถึงการมีแสงแดดตลอด 24 ชั่วโมง
(ข้อมูลและภาพประกอบโดย คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)