xs
xsm
sm
md
lg

พบนิ้วโป้งเทียมเก่าแก่ที่สุด ช่วยมัมมี่อียิปต์เดินปกติตอนมีชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิ้วโป้ไคโรของทาบาเคเทนมุต มัมมี่หญิงซึ่งเป็นบุตรสาวนักบวชชั้นสูงของอียิปต์ เชื่อว่านิ้วเท้านี้ช่วยให้เธอเดินได้อย่างปกติระหว่างมีชีวิตอยู่ (University of Manchester/ฟอกซ์นิวส์)
นักวิจัยพบนิ้วโป้งเทียมในเท้ามัมมี่หญิงไม่ใช่แค่เครื่องประดับหลังความตาย แต่เป็นอวัยวะเทียมที่ช่วยในการเดิน เป็นหลักฐานว่ากำเนิดอวัยวะเทียม น่าจะมีมานานกว่าที่เข้าใจหลายร้อยปี พร้อมทำเลียนแบบทดสอบในอาสาสมัครได้ผลน่าพอใจ

อวัยวะเทียมดังกล่าวถูกพบตั้งแต่ปี 2000 ใกล้เมืองลักซอร์ในสุสานเมืองธีบส์ของอียิปต์ นิ้วโป้งเทียมดังกล่าว ทำขึ้นจากไม้และหนัง และเป็นของ “ทาบาเคเทนมุต” (Tabaketenmut) บุตรสาวนักบวชชั้นสูงของอียิป ต์ซึ่งมีอายุอยู่ระหว่าง 950-710 ปีก่อนคริสตศักราช

เอเอฟพีรายงานว่า จากการทดสอบกับคนไข้ที่มีชีวิตอยู่ด้วยอุปกรณ์ที่ทำเลียนแบบขึ้นนั้น ยืนยันได้ว่านิ้วโป้งเทียมนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อเป็นเครื่องประดับให้แก่ชีวิตหลังความตายเท่านั้น หากแต่เป็นอวัยวะเทียมที่ออกแบบมาอย่างชาญฉลาดเพื่อช่วยในการเดิน

แจคคิวลีน ฟินช์ (Jacqueline Finch) นักวิจัยหญิงจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (University of Manchester) อังกฤษ ได้ศึกษาในอาสาสมัคร 2 คนที่มีความพิการไม่ต่างจากทาบาเคเทนมุต ซึ่งอาจจะสูญเสียหัวแม่เท้าข้างขวาจากเนื้อตายเพราะเบาหวาน โดยเขาได้ทำนิ้วโป้งเทียมขนาดใหญ่ เลียนแบบที่พบในเมืองธีบส์ ซึ่งทำขึ้นจากเปเปอร์มาเชผสมกับปูนและกาวจากสัตว์

จากการสวมใส่อุปกรณ์เลียนแบบของชาวอีบิปต์โบราณที่คล้ายกับรองเท้าสานนี้ ช่วยให้อาสาสมัครที่ทดสอบรับรู้ถึงแรงกดจากการก้าวเดินได้เป็นอย่างดี โดยฟินช์อธิบายว่า นิ้วโป้งขนาดใหญ่นี้น่าจะรับน้ำหนักร่างกายได้ถึง 40% และตอบสนองการก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างดีด้วย แต่หากจะประเมินอย่างแม่นยำกว่านี้ ต้องใช้การประยุกต์เทคนิควิเคราะห์การก้าวเดิน

สำหรับนิ้วโป้งเทียมของทาบาเคเทนมุตนี้ ทำขึ้นจากไม้ 2 ชิ้น ที่เจาะเป็นรูเล็กๆ และเย็บด้วยเส้นหนัง ซึ่งแสดงถึงความใส่ใจต่อลักษณะทางกายวิภาคเป็นอย่างดี ซึ่ง 2 อาสาสมัครกล่าวว่าอวัยวะเทียมนี้มีประสิทธิภาพสูง และทั้งคู่ยังกล่าวชื่นชมนิ้วเทียมจากไม้ว่า ให้ความรู้สึกสวมใส่สบายอย่างยิ่ง ส่วนรายงานฟอกซ์นิวส์ยังระบุความเห็นของพวกเขาด้วยว่า นิ้วเทียมนี้ให้ความรู้สึกเหมือนของจริง

“ใครก็ตามที่ทำอุปกรณ์อย่างนี้ขึ้นมาในยุคโบราณ ต้องได้ถกถึงความพอดีและความรู้สึกในการสวมใส่ระหว่างปรึกษาหารือกับ “คนไข้” ของพวกเขา” ฟินช์ให้ความเห็น โดยเธอได้เผยแพร่งานวิจัยครั้งนี้ ลงวารสารการแพทย์ของอังกฤษ “เดอะแลนเซท” (The Lancet)

งานวิจัยของฟินช์ยังแสดงให้เห็นว่า การทำอวัยวะเทียมอาจมีมานานกว่าที่เข้าใจหลายร้อยปี ซึ่งจากรายงานของฟอกซ์นิวส์ระบุว่า ก่อนหน้านี้เชื่อว่าขาเทียม “โรมันคาปัว” (Roman Capua leg) ที่มีอายุ 300 ปีก่อนคริสตศักราชนั้น เป็นอวัยวะเทียมที่เก่าแก่ที่สุด โดยนิ้วโป้งเทียมมีจัดแสดงอยู่ 2 แห่งคือที่พิพิธภัณฑ์อังกฤษ (British Museum) ซึ่งเก็บรักษา “นิ้วโป้งเกรวิลล์เชสเตอร์” (Greville Chester toe) ไว้ และที่พิพิธภัณฑ์อียิปต์ (Egyptian Museum) ในกรุงไคโร ได้เก็บรักษานิ้วโป้ไคโร (Cairo toe) ซึ่งเป็นนิ้วเทียมของทาบาเคเทนมุตไว้ ซึ่งนิ้วทั้งคู่มีอายุเก่าแก่กว่า 600 ปีก่อนคริสตศักราช

สิ่งที่กระตุ้นให้ฟินช์ฉุกคิดว่านิ้วเทียมนี้น่าจะเป็นอวัยวะที่ใช้สวมใส่ระหว่างมีชีวิตอยู่ คือร่องรอยการสึกหรอและเสียดสีในนิ้วเท้า ซึ่งพบทั้งในนิ้วโป้งเกรวิลล์เชสเตอร์ ที่ตั้งชื่อตามนักบุญผู้ค้นพบนิ้วเท้านี้ และในนิ้วโป้งไคโร จึงนำมาสู่การศึกษาครั้งนี้.
ฟินช์และนิ้วเท้าเทียมที่ทำเลียนแบบเพื่อทดสอบในอาสาสมัคร (University of Manchester)
นิ้วโป้เกรวิลล์เชสเตอร์ (University of Manchester)
กำลังโหลดความคิดเห็น