การปิดกั้นระบบสื่อสารอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายออนไลน์ของรัฐบาลอียิปต์ท่ามกลางเหตุประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ถูกยกให้เป็นการปิดกั้นครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อินเทอร์เน็ต เบื้องต้นพบ ทราฟฟิกอินเทอร์เน็ตของชาวอียิปต์มากกว่า 97% หายเกลี้ยงในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ขณะที่ประชาชนเมืองมัมมี่พยายามกลับไปใช้โทรศัพท์พื้นฐาน เครื่องแฟกซ์ รวมถึงวิทยุสื่อสารสมัครเล่นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ริค เฟอร์กูสัน (Rik Ferguson) ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตจากบริษัทเทรนด์ไมโคร (Trend Micro) บริษัทรักษาความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์รายใหญ่อันดับ 3 ของโลก คือผู้ที่ยกตำแหน่ง"ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์" ให้กับกรณีการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตในอียิปต์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา โดยเฟอร์กูสันชี้ว่า นี่คือครั้งแรกในโลกอินเทอร์เน็ตที่มีการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่อย่างเต็มรูปแบบและรวดเร็วจนน่าเป็นห่วง
ประชาชนในกรุงไคโรของอียิปต์ระบุว่าไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงการเข้าหน้าเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ ทั้งหมดนี้ทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชุมชนเครือข่ายสังคม และกลุ่มสิทธิมนุษยชนพร้อมใจกันเรียกร้องให้รัฐบาลอียิปต์ยุติการปิดกั้นการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ของประชาชนโดยรวมอย่างมาก
จุดนี้ จูเลียน คูลอน (Julien Coulon) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Cedexis ผู้พัฒนาระบบจัดการและตรวจตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตสัญชาติฝรั่งเศส ให้ข้อมูลว่าในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง ระบบพบว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศอียิปต์นั้นหายไปมากกว่า 97% ขณะที่บริษัท Renesys บริษัทตรวจตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตสัญชาติอเมริกัน ให้ข้อมูลว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้ง 4 รายในอียิปต์นั้นตัดการเชื่อมต่อระหว่างประเทศตลอดปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
การปิดกั้นอินเทอร์เน็ตครั้งมโหฬารนี้เกิดขึ้นอย่างไม่น่าแปลกใจสำหรับนักสังเกตการณ์ เนื่องจากอียิปต์เป็นประเทศที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูง โดยสถิติล่าสุดคือ 23 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรอียิปต์ การปิดกั้นช่องทางสื่อสารออนไลน์จึงถูกมองว่าจะทำให้สามารถยับยั้งขัดขวางประชาชนฝ่ายตรงข้ามได้เป็นธรรมดา
เบื้องต้น พบว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในอียิปต์นามว่า Noor Group คือไอเอสพีรายเดียวที่ไม่ปิดกั้นการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ โดยขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าเพราะเหตุใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ Noor Group กลายเป็นหนึ่งในช่องทางที่ชาวอียิปต์หลายรายต้องการใช้งาน โดยทั้งเฟซบุ๊ก บริการเครือข่ายสังคมซึ่งมีผู้ใช้บริการมากกว่า 600 ล้านคนทั่วโลก และทวิตเตอร์ ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 175 ล้านคน ล้วนถูกปิดกั้นไม่ให้ใช้งานในประเทศอียิปต์ต่อเนื่องหลายวัน
รายงานระบุว่า ประชาชนอียิปต์หลายรายเริ่มหันมาใช้งานโทรศัพท์พื้นฐาน เครื่องรับส่งโทรสาร และวิทยุสื่อสารสมัครเล่นในการรับส่งข้อมูลระหว่างกัน ถือเป็นความยากลำบากที่ริดรอนสิทธิมนุษยชนในระดับร้ายแรง หลังจากรัฐบาลพยายามควบคุมการติดต่อสื่อสารของประชาชน ด้วยการบล็อกอินเทอร์เน็ต สัญญาณโทรศัพท์มือถือ
ล่าสุด รัฐบาลอียิปต์ได้ปิดสถานีโทรทัศน์อัล จาซีรา โดยตัดสัญญาณออกอากาศท่ามกลางสถานการณ์การประท้วงในกรุงไคโรที่ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง ทั้งการปล้นสะดมร้านค้า ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และสถานที่ราชการอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย โดยการปะทะระหว่างผู้ประท้วงมีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน และบาดเจ็บมากกว่าพันคนแล้ว