เพชรบุรี - นายอำเภอบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี ร่วมกับเกษตรจังหวัดฯ นำ “แตนเบียน” แจกจ่ายให้แก่เกษตรกรชาวสวนมะพร้าว เพื่อกำจัด “แมลงดำหนาม” หลังได้รับผลกระทบหนักกว่า 3,500 ไร่
หลังจากที่เกษตรกรในพื้นที่ ต.บางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากแมลงดำหนามอาละวาดดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นมะพร้าว ที่ปลูกไว้ในพื้นที่ที่มีกว่า 4,000 ไร่ จนทำให้ต้นมะพร้าวมีอาการใบแห้ง เป็นสีขาวและไม่ออกดอกออกผล โดยต้นมะพร้าวในพื้นที่ ต.บางครก อ.บ้านแหลม ส่วนใหญ่ปลูกเพื่อสร้างผลผลิตด้านการทำน้ำตาลมะพร้าว ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีมะพร้าวที่ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 3,500 ไร่ มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 407 ราย
ล่าสุด นายไพบูลย์ ยิ้มแย้ม นายอำเภอบ้านแหลม นายศักดิ์ชาย วังทอง เกษตรจังหวัดเพชรบุรี ลงพื้นที่หมู่ 12 ต.บางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เพื่อนำมัมมี่ของแตนเบียนจำนวน 1,200 มัมมี่ แจกให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยครั้งนี้สามารถแจกให้เกษตรกรจำนวน 48 ราย เพื่อนำมัมมี่ของแตนเบียนไปผูกติดไว้ตามโคนต้นมะพร้าวโดย 1 ไร่จะใช้เพียง 5 มัมมี่เท่านั้น ซึ่งจะสามารถแพร่พันธุ์แตนเบียนได้ประมาณ 50 ตัว
แต่ทั้งนี้หากมีตัวเมียมากถึง 25 ตัวจะสามารถกำจัดแมลงดำหนามได้ดีเป็นพิเศษเนื่องจากแตนเบียนตัวเมียเมื่อกำจัดแมลงดำหนามแล้วจะเจาะและวางไข่ในลำตัวของแมลงดำหนามในตัวที่ทำลาย ซึ่งซากของแมลงดำหนามที่ตายแล้วก็จะถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นหลังจากแตนเบียนได้วางไข่ในซากของแมลงดำหนามจนกลายเป็นมัมมี่ดังกล่าว
นายศักดิ์ชาย วังทอง เกษตรจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า สำหรับแตนเบียนที่นำมาแจกให้เกษตรกรในครั้งนี้เป็นแตนเบียนที่เพาะได้เองโดยเกษตรกรในพื้นที่ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือและลดปัญหาการแพร่ระบาดของแมลงดำหนามได้ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น โดยที่ผ่านมาขาดความต่อเนื่องในการกำจัดเนื่องจากขาดงบประมาณ
แต่ทั้งนี้หลังจากนี้ต้องขอสนับสนุนงบประมาณจากทางจังหวัดเข้ามาช่วยเหลือและทำอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะสามารถช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยลงจากการถูกแมลงดำหนามเข้ามากัดกินต้นมะพร้าวที่ปลูกไว้เพื่อทำน้ำตาลมะพร้าวในพื้นที่
สำหรับช่วงระยะเวลาการปล่อยแตนเบียนหนอนที่ดีที่สุดเป็นช่วงเดือน มิ.ย-มี.ค ข้ามปี ส่วนเดือน เม.ย-พ.ค.อากาศแล้ง ปล่อยไม่ดี ต้องใช้แตนเบียนดักแด้ซึ่งจะสามารถทนร้อนได้ดีกว่าและปล่อยได้ตลอดปี แต่ปริมาณแตนเบียนดักแด้ และมัมมี่จะน้อยกว่าแตนเบียนหนอน
ส่วนอีกปัญหาหนึ่งที่เกษตรกรต้องเฝ้าระวังเป็นหนอนหัวดำเป็นศัตรูพืชที่สำคัญที่อาจลุกลามมาถึงพื้นที่ จ.เพชรบุรี ได้เนื่องจากขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อได้มีการแพร่ระบาดของหนอนหัวดำแล้ว