นครศรีธรรมราช - เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราชเผยชาวสวนมะพร้าว 885 ราย ได้รับผลกระทบจากแมลงดำหนามหลังสภาพอากาศแปรปรวน แนะแนวทางการควบคุมให้เกษตรกร โดยชีววิธี แตนเบียนศัตรูธรรมชาติของแมลงดำหนามมะพร้าว
นายเหมวงศ์ ประกอบบุญศิลป์ เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวถึงความเสียหายของเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวที่เกิดจากการทำลายของแมลงดำหนามในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งหมด 124,315 ไร่ เกษตรกร 23,658 ราย พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอขนอม สิชล และท่าศาลา และพบว่าขณะนี้มีการแพร่ระบาดทำลายของแมลงดำหนามในพื้นที่อำเภอ สิชล ท่าศาลา และร่อนพิบูลย์ ประมาณ 5,366 ไร่ เกษตรกร 885 ราย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าการแพร่ระบาดของศัตรูมะพร้าวมีแมลงดำหนามระบาดอยู่บางส่วนจริงเพียงชนิดเดียวซึ่งศัตรูพืชชนิดนี้เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานประมาณ 10 ปีเศษ แต่ไม่ได้ทำความเสียหายให้กับชาวสวนมะพร้าวแต่อย่างใด
เนื่องจากมีธรรมชาติ ที่สมบูรณ์คอยควบคุมโดยไม่มีการแพร่ระบาด แต่หากเกิดสภาพอากาศแปรปรวน ขาดความสมดุลก็จะเกิดการแพร่ระบาดออกไปในพื้นที่อื่นๆ เร็วขึ้นแมลงดำหนามเป็นแมลงศัตรูสำคัญของมะพร้าว มีแหล่งกำเนิดแถบอินโดนีเซีย และปาปัวนิวกีนี แพร่ระบาดเข้ามาในเมืองไทย โดยการติดมากับพืชตระกูลปาล์มที่นำเข้าจากต่างประเทศ พบว่าเริ่มระบาดในเมืองไทยครั้งแรกในจังหวัดนราธิวาสเมื่อปี 2543 และได้ลุกลามแพร่ระบาดไปในแหล่งปลูกมะพร้าวสำคัญๆ ของประเทศในทุกๆ ที่ หากไม่มีมาตรการป้องกันกำจัดอย่างถูกวิธีอาจจะแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นจนถึงขั้นส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมการผลิตและการแปรรูปมะพร้าว และยังจะทำลายทัศนียภาพของแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย
เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต่อว่าในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว ได้พยายามติดตาม ตรวจสอบ และให้คำแนะนำเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวอย่างต่อเนื่อง โดยจะขอแนะนำให้เกษตรกรได้รู้จักวงจรชีวิต ลักษณะการทำลายและการป้องกันกำจัด กล่าวคือไข่ มีรูปร่างคล้ายแคปซูลค่อนข้างแบน ความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร กว้าง 1 มิลลิเมตร สีน้ำตาล อาจจะมีฟองเดียว หรือเป็นแถวๆ ละ 4-5 ฟอง พบบริเวณยอดอ่อนมะพร้าวที่ยังไม่คลี่ ระยะไข่ประมาณ 5 วัน จึงฟักออกเป็นตัวหนอน ตัวหนอนมีสีขาว มีขา 3 คู่ ด้านข้างมีหนามยื่นออกมาทุกปล้อง ปล้องสุดท้ายมีอวัยวะคล้ายคีมยื่นออกมา 1 คู่ ระยะตัวหนอน ประมาณ 30-40 วัน ดักแด้ มีสีน้ำตาลเข้ม มีปีก 2 คู่ ยาว 1 ใน 2 ของลำตัว ระยะนี้จะหยุดกินอาหาร เข้าดักแด้ ที่กาบใบมะพร้าวประมาณ 4-7 วัน จึงฟักออกเป็นตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัย ขนาดยาวประมาณ 8.5-9.5 มิลลิเมตร กว้าง 2-2.5 มิลลิเมตร ส่วนอกที่ต่อจากส่วนหัวเป็นเหลี่ยม สีน้ำตาลปนส้ม ปีกคู่แรกสีดำ หรือสีส้ม ยาวประมาณ 1 ใน 3 ของปีกคู่หลัง เพศเมียวางไข่ ได้มากกว่า 100 ฟอง ระยะตัวเต็มวัยมีอายุมากกว่า 3 เดือน
“ลักษณะการทำลาย แมลงดำหนามทั้งระยะตัวหนอนและตัวเต็มวัย จะกัดกินยอดอ่อนมะพร้าว ที่ยังไม่คลี่ทั้งต้นเล็กและต้นโต โดยซ่อนตัวในใบอ่อนที่พับอยู่และจะย้ายไปกัดกินยอดอ่อนอื่นๆ ต่อไป ทำให้ยอดอ่อนชะงักการเจริญเติบโต ถ้ามีการทำลายมากๆ จะมองเห็นใบมะพร้าวมีสีขาวชัดเจน” เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราชกล่าว
นายเหมวงศ์ ประกอบบุญศิลป์ เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต่อว่า แนวทางการควบคุมแมลงดำหนามมะพร้าว ปัจจุบันมี 3 วิธีคือ 1.การใช้สารเคมี ใช้สารเคมีที่มีอันตรายน้อยและสลายตัวเร็ว เช่น คาร์บาริล(เซฟวิน 85% wp) อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรในแปลงเพาะชำหรือต้นเล็ก 2.การกักกันการเคลื่อนย้าย ต้นกล้าและพืชอาศัยตระกูลปาล์มจากพื้นที่ที่มีการระบาดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด 3.การควบคุมโดยชีววิธี ศัตรูธรรมชาติของแมลงดำหนามมะพร้าวมีทั้ง แตนเบียนทำลายหนอน แตนเบียนทำลายไข่ แมลงตัวห้ำ เช่น แมลงหางหนีบ กินหนอนและดักแด้ หรือเชื้อราเมตตาไรเซียม เป็นเชื้อรา ฆ่าหนอน ดักแด้และตัวเต็มวัย
"ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอที่มีการปลูกมะพร้าว สำรวจตรวจสอบการแพร่ระบาดของแมลงดำหนาม และสำนักงานเกษตรจังหวัดได้ประสานงานกับศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้งในด้านวิชาการ และการสนับสนุนพันธุ์แตนเบียนไข่แมลงดำหนาม เพื่อนำมาปล่อยขยายพันธุ์ในพื้นที่ปลูกมะพร้าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้พบว่าเริ่มเห็นผลในการแก้ปัญหาแล้ว" เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวในที่สุด