xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์สหสาขาวิชาชีพเร่งช่วย “น้องแตงโม” คาด 3 เดือนทุเลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพทย์สหสาขาวิชาชีพวางแนวทางการรักษา หากอาการผิวหนังดีขึ้น จะรักษาตา-หูต่อไป คาดอีก 3 เดือน อาการทุเลา ชี้ โรคเด็กดักแด้ในไทยพบเพียง 20 ราย เท่านั้น

ภายหลังที่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงมีพระเมตตาโปรดให้รับ ด.ช.กนก แก้วกงพาน หรือ น้องแตงโม อายุ 7 เดือน อยู่บ้านเลขที่ 24/1 หมู่ 5 ตำบลคลองสระบัว อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ป่วยด้วยโรคผิวหนังคล้ายเด็กดักแด้ เป็นผู้ป่วยในพระอุปถัมภ์ โดยทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ดำเนินการรักษา

วันนี้ (11 ก.พ.) ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ พร้อมด้วยพญ.ศิริวรรณ วนานุกูล หัวหน้าหน่วยโรคผิวหนังเด็ก ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ จัดแถลงข่าว “อาการเบื้องต้นและแนวทางการรักษาอาการของน้องแตงโม หรือ ด.ช.กนก แก้วกงพาน”

โดย ศ.นพ.อดิศร กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลได้รับการประสานงานจากมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ ทรงพระเมตตาโปรดให้รับน้องแตงโมเป็นผู้ป่วยในพระอุปถัมภ์ และทรงติดต่อให้ทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ดำเนินการช่วยเหลือ ซึ่งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้แทนพระองค์เดินทางไปรับน้องแตงโมจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อมารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ โดยขณะนี้น้องแตงโมพักรักษาตัวอยู่ที่หอผู้ป่วยกุมารติดเชื้อ ชั้น 17 ตึก สก แล้ว แต่ต้องให้อยู่ห้องแยกพิเศษจากผู้ป่วยรายอื่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ด้าน พญ.ศิริวรรณ กล่าวว่า โรคเด็กดักแด้ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ฮาเลควิน อิชทีโอซิส (Harlequin Ichthyosis) เกิดจากยีนผิดปกติ จนส่งผลให้การสร้างเซลล์ผิวหนังผิดปกติไปจากเดิม ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำผ่านผิวหนังมากกว่าคนทั่วไป ผิวแตกเป็นร่อง ทำให้มีการติดเชื้อที่ผิวหนัง หนังตาปิดไม่สนิท ทำให้เกิดแผลที่กระจกตาทั้งสองข้าง ปากปิดได้ไม่สนิท ทำให้มีการดูดและการกลืนได้น้อยกว่าปกติ แต่หากมีการดูแลรักษาอย่างดีก็จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยราว 20 ราย ขณะที่ทั่วโลกไม่ค่อยพบ

“อย่างไรก็ตาม สำหรับอาการของน้องแตงโม จากการตรวจร่างกาย พบว่า มีผิวหนังลอกเป็นแผ่นทั่วร่างกาย ตัวแดง มีการติดเชื้อที่ผิวหนังในบริเวณที่แตกเป็นแผล หนังตาปิดไม่สนิท และมีแผลที่กระจกตาทั้งสองด้าน โดยด้านขวามีแผลมากกว่าด้านซ้าย ขณะเดียวกัน น้องแตงโมยังไม่สามารถปิดริมฝีปากได้สนิท และยังมีภาวะขาดสารอาหารอยู่ โดยมีน้ำหนักตัวน้อย และมีอาการซีดเล็กน้อยร่วมด้วย ขณะนี้จำเป็นต้องอยู่ห้องแยกพิเศษเพื่อป้องกันการติดเชื้อ” พญ.ศิริวรรณ กล่าว

พญ.ศิริวรรณ กล่าวด้วยว่า เบื้องต้น แพทย์สหสาขาวิชาชีพจะมีแนวทางการรักษาใน 4 ด้าน ดังนี้ 1.ดูแลผิวหนังให้ชุ่มชื้นขึ้นด้วยการให้สารให้ความชุ่มชื้น และยาทาปฏิชีวนะ ซึ่งโรงพยาบาลพัฒนาขึ้นเอง 2.ดูแลแผลที่กระจกตาจากการที่ตาปิดไม่สนิท 3.ให้สารอาหารให้เต็มที่ เพื่อให้เด็กมีการเจริญเติบโตสมวัย อาทิ นมที่มีความเข้มข้นพิเศษ เป็นต้น และ 4.ให้ยาเพื่อให้ผิวหนังเจริญเติบโตตามปกติ ตามความเหมาะสม โดยแนวทางการรักษาน่าจะเห็นผลภายใน 3 เดือน ซึ่งเมื่อน้องแตงโมมีอาการทางผิวหนังที่ดีขึ้น จะมีการพิจารณาเพื่อรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อให้ตาของน้องแตงโมปิดได้สนิทขึ้น รวมทั้งดูแลเรื่องใบหูและตรวจการได้ยิน อีกทั้ง จะมีการดูแลในเรื่องของนิ้วมือนิ้วเท้าที่ขาดหายไปว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ขณะเดียวกันจะดูในเรื่องของการพัฒนาการสมวัยด้วย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์ดีขึ้นมาก การป้องกันการติดเชื้อก็มากขึ้นด้วย ทำให้ผู้ป่วยสามารถเติบโตได้มากขึ้น ซึ่งกรณีน้องแตงโมผ่านมา 7 เดือนแล้ว ถือว่าโชคดีที่ผ่านภาวะติดเชื้อรุนแรงในช่วง 1-2 เดือนแรกได้
กำลังโหลดความคิดเห็น