ประชาชนบนแดนมังกรจะออกมาเดินประท้วงขับไล่ผู้นำประเทศเหมือนอย่างที่ประชาชนบนดินแดนมัมมี่กำลังทำกันในขณะนี้หรือไม่
นี่คือคำถามจากผู้สื่อข่าวชาติตะวันตก ซึ่งบางคนในช่วงแรกที่เกิดเหตุการณ์ ถึงกับเปรียบเทียบสภาพของจัตุรัสทาห์รีในกรุงไคโร ที่รถถังของกองทัพเคลื่อนกำลังเข้ามาว่าเหมือนกับสภาพของจัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อครั้งการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2532 ไม่ผิด
ผู้สื่อข่าวชาติตะวันตกยังพากันตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ย่างเข้าเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว ที่ชาวโลกเฝ้าติดตามรายงานข่าวเหตุจลาจลวุ่นวายในอียิปต์ แต่สื่อมวลชนของรัฐบาลจีนแทบไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย
หนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลี กระบอกเสียงหลักของพรรคคอมมิวนิสต์จีนแทบมิได้พาดหัวหน้าหนึ่ง ขณะที่สำนักข่าวซินหัว ซึ่งเป็นของรัฐ ก็มิได้รายงานข่าวมากมายนัก ส่วนหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลีเสนอข่าวการประท้วงบนแดนอียิปต์บนหน้าแรกเพียง 2-3 ครั้ง ภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ บนท้องถนนในกรุงไคโร นาน ๆ จะปรากฏให้ผู้อ่านเห็นสักครั้ง จนเป็นที่ผิดสังเกต
การรายงานข่าวของสื่อทางการจีนยังเลี่ยงเอ่ยถึงรายละเอียดของปัจจัยทางการเมือง และเสียงเพรียกหาประชาธิปไตย ซึ่งเป็นชนวนให้ชาวอียิปต์ลุกฮือ พยายามล้มล้างอำนาจประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัก ที่ผูกขาดการปกครองประเทศมานานถึง 30 ปี เพียงแต่เอ่ยอย่างธรรมดา ๆ ว่า เป็น “การต่อต้านรัฐบาล” หรือ “การต่อต้านอเมริกา”
ส่วนข้อมูลข่าวสารออนไลน์ก็หาได้ละเอียดครอบคลุมมากไปกว่า นอกจากนั้นระบบเซ็นเซอร์ยังปิดกั้นการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุจลาจล โดยการใช้คำค้นว่า “อียิปต์” ไม่สามารถค้นหาข้อมูลในเว็บไซต์ไมโครบล็อกชั้นนำในจีนได้
อย่างไรก็ตาม การควบคุมการเสนอข่าวเกี่ยวกับอียิปต์ และการแสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ตดังกล่าวมิใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก ซึ่งเป็นการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารแบบเดียวกับกรณีเหตุปะทะระหว่างชาวฮั่นกับชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงเมื่อปี 2552 โดยจีนไม่รอช้าตัดสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคดังกล่าวทันที
“คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับประชาธิปไตย แต่เมื่อเข้ามาสู่ระบบทางการเมือง ประชาธิปไตยตามรูปแบบของชาติตะวันตกนั้นเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในจำนวนไม่กี่ทางเลือก การประยุกต์ประชาธิปไตยให้เหมาะสมกับชาติต่าง ๆ เป็นสิ่งต้องใช้เวลาและความพยายาม และต้องกระทำโดยปราศจากการปฏิวัติอันยุ่งเหยิงวุ่นวาย” บทบรรณาธิการของโกลบอล ไทมส์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของทางการระบุจุดยืนของจีนเมื่อไม่กี่วัน ที่ผ่านมา
แม้ยอมรับว่า “อะไร ๆ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น” แต่ริชาร์ด เบอร์เกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีน ซึ่งอาศัยอยู่ทั้งในไต้หวัน และแผ่นดินใหญ่ เชื่อว่า กรณีของจีนแตกต่างจากอียิปต์
“จีนทำได้ดีกว่าอียิปต์และตูนิเซียอย่างมากในแง่ไม่ให้ประชาชนตกงาน และการปิดปากประชาชน” เบอร์เกอร์อธิบาย
“โครงการภาคสาธารณะ และการให้เงินอุดหนุนภาคธุรกิจของจีน ที่รัฐบาลจีนทำนั้น ช่วยให้ควบคุมปัญหาการว่างงานได้ ผิดกับในตูนิเซีย บรรยากาศในจีนโดยทั่วไปเป็นไปในแง่บวก”
ขณะที่ ซี. คัสเตอร์ ให้ความเห็นในบล็อก “ChinaGeeks” อย่างรอบคอบกว่าว่า เหตุผลสำคัญที่จีนระมัดระวังการเสนอข่าวอียิปต์ก็เพราะการประท้วงได้รับแรงจูงใจจากปัจจัย ที่ก็มีอยู่ในจีนเช่นกัน เช่น ความไม่เท่าเทียมด้านความมั่งคั่ง, การทุจริตคอร์รัปชั่น, การเซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ แม้จีนมิใช่อียิปต์ แต่ความไม่พอใจเหล่านี้ก็มีแรงขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา
ส่วนอีวาน ออสโนส์ แห่งนิตยสาร “New Yorker” เห็นว่า สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมืองจีนโดยเฉลี่ยมีการปรับปรุงพัฒนาอย่างรวดเร็วมากพอที่พวกเขามองไม่เห็นเหตุผล ที่จะต้องลุกขึ้นมาโค่นล้มระบอบการปกครองในปัจจุบัน
ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนมองว่า การประท้วงครั้งสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในจีนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปะทุจากปัญหาทุกข์ยากคับข้องใจเฉพาะกรณี เช่นความตึงเครียดด้านเชื้อชาติ ปัญหากรรมสิทธิที่ดิน ความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม แต่ความคับข้องใจเหล่านี้มิได้พัวพันไปถึงรัฐบาลปักกิ่ง
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนกล่าวเตือนอย่างระมัดระวังว่า อาจจะเป็นการดี ถ้าเราจะถอยออกมา และค้นหาดูว่า ปัจจุบันจีนมีสถาบันต่าง ๆ ที่เข้มแข็งเพียงพอสำหรับให้พลเมืองจีนได้ระบายความไม่สมหวัง ความโกรธ และความคับข้องใจมากเพียงพอแล้วหรือไม่