xs
xsm
sm
md
lg

สังคมจวกนักวิทย์มะกัน ฐานทำจีเอ็มโอใน "ตัวอ่อนมนุษย์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การดัดแปลงพันธุกรรมในตัวอ่อนของมนุษย์เป็นหนึ่งในประเด็นร้อนของวงการวิทยาศาสตร์ที่สังคมหมู่มากหวาดหวั่นว่าจะนำไปสู่การสร้าง ทารกออกแบบได้ หรือ มนุษย์จีเอ็มโอ ในอนาคต
เอพี/ซีจีเอส - หวั่นนักวิทย์มะกันทำตัวอ่อนมนุษย์จีเอ็มโอปูทางสู่ "ทารกออกแบบได้" องค์กรเฝ้าระวังด้านจริยธรรมจวกนักวิจัยทำไปโดยไม่ผ่านการเห็นชอบของผู้คนในสังคม ด้านทีมวิจัยเจ้าของเรื่องโต้ ทำไปเพื่อศึกษาเรื่องสเต็มเซลล์เท่านั้น ทั้งยังใช้เซลล์ตัวอ่อนที่ผิดปกติ ไม่มีทางเจริญเป็นตัวอ่อนมนุษย์ได้จริง

เมื่อเดือน ก.ย. 2550 ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) สหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์ความสำเร็จในการดัดแปลงพันธุกรรมในเซลล์ของตัวอ่อนมนุษย์เป็นครั้งแรกในวารสารเฟอร์ติลิตีแอนด์สเตอริลิตี (Fertility and Sterility) ทว่าเรื่องดังกล่าวแพร่กระจายสู่วงกว้าง ได้สร้างความกังวลในหมู่นักวิทยาศาสตร์และสังคมอย่างยิ่งว่าอาจนำไปสู่การตัดต่อพันธุกรรมตัวอ่อนเพื่อสร้าง "ทารกออกแบบได้" (designer baby) ให้มียีนตามที่ต้องการได้ในอนาคต ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ต้องหยิบยกเอาเรื่องนี้มาถกกันอย่างจริงจัง

มาร์ซี คาร์โนฟสกี (Marcy Darnovsky) รอง ผอ.ศูนย์พันธุศาสตร์และสังคมศาสตร์ (Center for Genetics and Society: CGS) กล่าวว่า สิ่งที่ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยทำนั้นอาจนำไปสู่การสร้างมนุษย์ดัดแปลงพันธุกรรมได้ และพวกเขาก็กำลังทำสิ่งนั้นอยู่โดยปราศจากการทำประชาพิจารณ์จากผู้คนในสังคม

"นักวิทยาศาสตร์กลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งได้ตัดสินใจทำสิ่งที่เกินกว่าขอบเขตของจริยธรรมที่คนทั่วโลกเฝ้าระวังอยู่ ไม่มีการอภิปรายเพื่อหาข้อสรุปร่วมกับสาธารณชน สื่อ และองค์กรของภาครัฐ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ไม่ได้มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์อันสมควรแก่การทดลองนี้ พวกเขากำลังพัฒนาวิทยาการที่จะผลักดันพวกเราเข้าสู่โลกที่เหมือนกับในภาพยนต์เรื่องกัตตาก้า (GATTACA) โดยที่สังคมไม่มีโอกาสได้ถกเถียงกันก่อนตัดสินใจ" คาร์โนฟสกีกล่าวถึงผลงานวิจัยเรื่องอื้อฉาวโดยนำไปเปรียบกับภาพยนต์เรื่อง กัตตาก้า ฝ่าโลกพันธุกรรม (GATTACA) ที่ฉายเมื่อปี 2540 ซึ่งยีนเป็นตัวกำหนดชนชั้นของคนในสังคม และพ่อแม่สามารถเลือกยีนให้ลูกที่กำลังจะเกิดมาได้

คาร์โนฟสกี กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เพราะความจริงในข้อนี้เองที่ทำให้การทดลองที่มีข้อกังขามากๆ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าทำไมนานาชาติต้องมีระบบการบังคับควบคุมและเฝ้าระวังในเรื่องนี้ถึงเกินขอบเขตออกไปมาก และทำไมจึงจำเป็นต้องมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างคนทั้งโลกต่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้

ทั้งนี้ แนวคิดในการออกแบบมนุษย์อาจเป็นจริงขึ้นในอนาคต ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จะสามารถสอดแทรกยีนต่างๆ เข้าไปในตัวอ่อนได้ตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นยีนที่ทำให้ฉลาด หรือยีนที่ทำให้เป็นอัจฉริยะด้านกีฬาก็ย่อมได้ เพื่อสร้างให้เป็นทารกในอุดมคติ ขณะเดียวกันกลุ่มคนที่ต่อต้านก็กล่าวว่าการกระทำเช่นนั้นจะทำให้เด็กน้อยไม่ต่างไปจากสิ่งของอื่นๆ ที่ถูกออกแบบขึ้นโดยมนุษย์ และยังอาจนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่หากใครมียีนเด่นมากกว่าก็จะได้รับโอกาสที่ดีกว่าผู้ที่เกิดมาพร้อมกับยีนด้อย

ทว่าในหลายประเทศยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อห้ามในการดัดแปลงพันธุกรรมในมนุษย์ แม้แต่ในประเทศสหรัฐฯ เองก็ตาม แต่ในประเทศอังกฤษมีกฎหมายที่อนุญาตให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาวิจัยและรักษาคนไข้ที่มีปัญหาในเรื่องการมีบุตรได้โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักงานการเจริญพันธุ์มนุษย์และตัวอ่อนวิทยา (Human Fertilization and Embryology Authority: HFEA) ซึ่งจากการแก้ไขกฎหมายเมื่อปี 2533 ก็ได้อนุญาตให้ทำการทดลองในลักษณะเดียวกับกรณีของมหาวิทยาลัยคอร์เนลได้ แต่กระนั้นก็ยังไม่มีการอนุญาตให้นำตัวอ่อนที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมไปฝากในท้องของสตรีเพื่อให้ตั้งครรภ์และคลอดออกมาเป็นทารกอย่างเด็ดขาด

ขณะที่ ดร.เดวิด คิง (Dr. David King) ผอ.องค์กรเฝ้าระวังด้านพันธุศาสตร์มนุษย์ (Human Genetics Alert) ของอังกฤษ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลชะลอแผนการพิจารณาเพื่อออกกฏหมายอนุญาตให้สร้างตัวอ่อนดัดแปลงพันธุกรรมที่กำลังจะนำเข้าไปหารือในรัฐสภาสัปดาห์นี้

ด้านจำเลยอย่าง ดร.เซฟ โรเซนแวกซ์ (Dr. Zev Rosenwaks) ผอ.ศูนย์การแพทย์ด้านการเจริญพันธุ์และผู้มีบุตรยาก (Center for Reproductive Medicine and Infertility) ศูนย์การแพทย์นิวยอร์ก-เพรซบิเทอเรียน/วีล คอร์เนล (NewYork-Presbyterian/Weill Cornell Medical Center) ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยชี้แจงว่า พวกเขาไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะออกแบบและสร้างมนุษย์จีเอ็มโอแต่อย่างใด และในงานวิจัยดังกล่าวก็เป็นการทำให้ตัวอ่อนที่มีความผิดปกตินั้นมีโครโมโซมชนิดพิเศษ และจะไม่สามารถเติบโตและอยู่รอดต่อไปได้อีก

พวกเขาใส่ยีนที่สามารถถ่ายทอดสู่เซลล์ใหม่ได้ทุกครั้งที่มีการแบ่งเซลล์ ทำให้ตัวอ่อนที่ได้มียีนนั้นอยู่ เพื่อศึกษาว่ายีนดังกล่าวสามารถชักนำให้ตัวอ่อนที่ผิดปกติพัฒนาไปเป็นสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนได้หรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจได้ว่าทำไม่ตัวอ่อนที่ผิดปกติจึงไม่สามารถเจริญเติบโตได้ และก็ไม่มีการเก็บเอาสเต็มเซลล์ที่ได้จากตัวอ่อนที่ศึกษาด้วย จากการที่ตัวอ่อนที่ผิดปกติมักจะไม่มีพัฒนาที่ดีพอต่อการสร้างสเต็มเซลล์

อย่างไรก็ดี สำหรับนักวิทยาศาสตร์บางคนอาจยังไม่เห็นว่าผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยคอร์เนลในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าตระหนกมากนัก ซึ่งเคธี ฮัดสัน (Kathy Hudson) ผอ.ศูนย์พันธุศาสตร์และนโยบายสาธารณะ (Genetics and Public Policy Center) กรุงวอชิงตัน ดีซี กล่าวว่า เธอไม่ได้กังวลกับงานวิจัยนี้สักเท่าไหร่ เนื่องจากว่าการดัดแปลงพันธุกรรมให้กับทารกโดยการสอดแทรกยีนต่างๆ เข้าไปนั้นยังมีปัญหาทางด้านเทคนิคอยู่อีกมาก.
มนุษย์จีเอ็มโออาจเป็นที่มาของความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ถูกกำหนดด้วยยีนเด่นและยีนด้อยในร่างกายของแต่ละบุคคล
กำลังโหลดความคิดเห็น