xs
xsm
sm
md
lg

การแกะพันธนาการจากสหรัฐอเมริกา

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

เศรษฐกิจที่ตกต่ำของสหรัฐอเมริกากำลังสร้างความหนักใจให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีการติดต่อค้าขายกับสหรัฐฯ อย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยหลักตรรกของการใช้เหตุผลก็คือ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศใหญ่ มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการติดต่อค้าขายกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก การติดต่อในทางเศรษฐกิจและธุรกิจเยี่ยงนั้นนำไปสู่การได้รายได้ของประเทศที่เป็นคู่ค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งได้นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในด้านการผลิต มีการเปิดโรงงานว่าจ้างแรงงาน มีเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก ความร่ำรวยของประเทศทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาอำนาจอย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น ยุโรป จีน อินเดีย และประเทศกำลังพัฒนาเช่นประเทศไทย ย่อมขึ้นอยู่กับอำนาจซื้อของสหรัฐฯ โดยอำนาจซื้อนั้นย่อมขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อีกส่วนหนึ่ง ตราบเท่าที่สหรัฐฯ มีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างสม่ำเสมอ ไร้ปัญหา สหรัฐฯ ก็จะเป็นคู่ค้าที่สำคัญและเป็นตัวแปรที่ช่วยเสริมให้เกิดความจำเริญทางเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ

แต่ในทางกลับกัน ถ้าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทรุดตัวทำให้การสั่งซื้อสินค้าลดจำนวนลง เงินตราและรายได้ที่เกิดขึ้นย่อมจะน้อยลงก็จะนำไปสู่ตัวคูณที่เป็นลบ ทำให้การว่าจ้างแรงงานถดถอย การใช้จ่ายของผู้มีรายได้ก็จะลดลงตามลำดับ และผลสุดท้ายถ้าเกิดขึ้นในขอบเขตที่กว้างขวางก็อาจนำไปสู่การทรุดตัวของเศรษฐกิจที่ค้าขายกับสหรัฐฯ และเป็นคู่ค้าที่สำคัญเช่นจีนและญี่ปุ่น จนอาจนำไปสู่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เป็นต้น

แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตโดยนักเขียนที่วิจัยการค้าระหว่างประเทศว่า ข้อสังเกตที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้นซึ่งเป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมานั้นอาจจะไม่เป็นความจริง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศจีนนั้นแม้จะเคยส่งสินค้าไปขายที่สหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันนี้การค้าขายกับสหรัฐฯ ลดลงเหลือเพียง 5% แต่สินค้าจีนที่ส่งไปบราซิล อินเดีย และรัสเซีย เพิ่มขึ้นถึง 60% และสินค้าที่ส่งไปขายประเทศที่ส่งออกน้ำมันนั้นเพิ่มขึ้นถึง 45% กล่าวอีกนัยหนึ่ง การส่งออกของจีนขณะนี้ส่งไปยังประเทศที่กำลังพัฒนาเศรษฐกิจกว่า 50% การส่งออกของเกาหลีใต้ที่ส่งไปยังสหรัฐฯ นั้นลดลง 20% ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2008 แต่การส่งออกที่เพิ่มขึ้นอีก 20% เกิดจากการส่งสินค้าไปยังประเทศพัฒนาอื่นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเห็นได้ว่าสหรัฐฯ ไม่ใช่เพียงตลาดแห่งเดียวที่เป็นประตูสำหรับจีนและเกาหลีใต้หรือแม้ประเทศอื่นก็เช่นเดียวกัน

ตัวแปรที่สอง ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศนั้นได้มีการบริโภคภายในเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกเหนือจากนี้การลงทุนทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น ตลาดภายในทั้งการบริโภคและการลงทุนก็จะเป็นตัวพยุงให้เศรษฐกิจดำเนินไปได้โดยการตกต่ำทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีผลกระทบน้อยลง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ในกรณีของประเทศจีนนั้นการลงทุนของประเทศจีนในการผลิตมีเพียง 15% เท่านั้นที่โยงกับการส่งออก ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อการบริโภคภายในเนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก นอกเหนือจากนั้นกว่าครึ่งของการลงทุนในประเทศจีนขณะนี้เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และอสังหาริมทรัพย์ ตัวอย่างเช่น การสร้างท่าเรือ สนามบิน ตึกระฟ้า การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจดังกล่าวนี้ก็เกิดขึ้นในประเทศที่ส่งออกน้ำมัน เช่น ดูไบ เป็นต้น ขณะเดียวกัน เม็กซิโก บราซิล รัสเซีย ก็มีการก่อสร้างขนาดใหญ่ซึ่งกว่าจะเสร็จสิ้นก็ใช้เวลาหลายปี สิ่งก่อสร้างที่กล่าวมานี้ย่อมจะนำไปสู่การใช้วัสดุและอุปกรณ์ และการอุปโภคภายในเป็นระยะเวลายาวนาน

ตัวแปรที่สาม เศรษฐกิจที่กำลังเติบโต 4 ประเทศ มีสัดส่วนถึง 2 ใน 5 ของรายได้มวลรวมโลกในปีที่ผ่านมา และเศรษฐกิจของ 4 ประเทศดังกล่าวนี้พึ่งพาสหรัฐฯ ไม่มากนัก เช่นในกรณีของจีนนั้นรายได้ที่มาจากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นเพียง 8% ของรายได้มวลรวมชาติของจีน 4% ของอินเดีย 3% ของบราซิล 1% ของรัสเซีย และเมื่อปีที่แล้วความจำเริญทางเศรษฐกิจของจีนสูงถึง 11.2% ความเจริญดังกล่าวนี้ 95% มาจากอุปสงค์ภายใน

อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนาเช่น ประเทศไทย มาเลเซีย และประเทศอื่นๆ อาจจะถูกกระทบจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำของสหรัฐฯ แต่การหาตลาดอื่นรวมทั้งการส่งเสริมให้มีการบริโภคภายในมากขึ้นอาจจะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้ถูกดึงลงเหว ในขณะเดียวกันความต้องการสินค้าจากประเทศใหญ่ที่กำลังเป็นประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน น่าจะเป็นทางออกสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ แต่ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ย่อมอยู่ที่ความสามารถในการหาตลาด

จากแนวโน้มที่กล่าวมาและจากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญชาวตะวันตกนั้น ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้สหรัฐฯ จะเป็นเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่และส่งผลกระทบในทางลบต่อประเทศต่างๆ เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทรุดตัวลง แต่อุปสงค์ภายในประเทศของประเทศเหล่านั้นก็จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญ จีน อินเดีย บราซิลและรัสเซีย มีประชากรเกือบครึ่งโลก ยิ่งถ้ารวมประเทศในแถบอาเซียนและญี่ปุ่นก็จะมีประชากรกว่าสามพันล้านคน เมื่อเป็นเช่นนี้การค้าขายภายในกันเองของ 4 ประเทศใหญ่ ซึ่งรวมทั้งญี่ปุ่นและประเทศกำลังพัฒนาก็มีความสำคัญพอที่จะทำให้ผลกระทบในทางลบจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่รุนแรงเท่าที่หวั่นเกรง แม้ผลกระทบนั้นยังคงมีอยู่อย่างปฏิเสธไม่ได้ก็ตาม

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ เวลาพูดถึงประเทศคนมักจะมองที่หน่วยการเมืองที่เรียกว่าประเทศ โดยมีอาณาเขต มีประชากร มีรัฐบาลตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เรียกว่ารัฐชาติ แต่ถ้ามองทางเศรษฐกิจจะต้องมองเป็นหน่วยเศรษฐกิจ เช่น ไต้หวันก็เป็นหนึ่งหน่วยเศรษฐกิจที่สำคัญ ฮ่องกงก็เช่นเดียวกัน ในกรณีของจีนนั้นต้องถือว่ามีหน่วยเศรษฐกิจกว่า 30 หน่วย มณฑลกวางตุ้งมณฑลมีประชากรเท่ากับเวียดนามทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นเพียงการค้าขายภายในประเทศจีนก็ทำให้อุปสงค์อุปทานเกิดความพลวัตถึง 30 หน่วยเศรษฐกิจ นี่เป็นเหตุที่ทำให้การส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ มีเพียง 15% ขณะเดียวกันจีนก็ไม่ได้ค้าขายอยู่กับสหรัฐฯ เท่านั้น แต่หากพยายามเจาะตลาดไปยังแอฟริกา ละตินอเมริกา เอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย แม้สหรัฐฯ จะเป็นหน่วยเศรษฐกิจที่ใหญ่ แต่จากการพัฒนาของหน่วยเศรษฐกิจต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้นทำให้น้ำหนักของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แตกต่างจากที่เคยเป็นในอดีต

ในกรณีของประเทศไทยนั้น ประชากรไทยมีประมาณ 62 ล้านคนซึ่งมีการพึ่งพาการส่งออกสูง ที่สำคัญคือการสั่งเข้าน้ำมันซึ่งเป็นมูลค่ามหาศาล และนี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของเราไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองเท่าที่ควร เพราะถ้าเกิดประเทศที่เป็นคู่ค้ากับประเทศไทยเกิดการทรุดตัวของเศรษฐกิจ รายได้หลักก็จะถูกกระทบกระเทือนทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมนั้นเป็นภาคส่งออกที่ใหญ่ที่สุด สิ่งที่จะคาดหวังได้ก็คือการพยายามประหยัดการใช้พลังงาน หรือหาพลังงานทดแทน หรือการเจาะตลาดในที่อื่นเพื่อมิให้พึ่งพาหน่วยเศรษฐกิจใหญ่ๆ เพียงไม่กี่หน่วย ซึ่งเปรียบได้กับการเอาไข่ไปใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียวหรือสองสามใบ ตัวแทนกระทรวงพาณิชย์ในประเทศต่างๆ จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการหาตลาดใหม่

นอกจากนั้นการค้นหาพลังงานทดแทนการเพาะปลูกด้วยการวิจัยตัดต่อพันธุกรรม เพื่อการเพิ่มผลผลิตของการปลูกปาล์มและพืชอื่นๆ ที่นำมาทำเป็นไบโอดีเซลเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะการเพิ่มผลผลิตโดยการขยายพื้นที่เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะกระทำได้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อธัญพืชที่นำมาใช้เป็นอาหารได้ มาตรการประหยัดพลังงาน การหาพลังงานทดแทน การวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตในการผลิตวัตถุดิบที่นำมาทำพลังงานชีวภาพ การเจาะหาตลาดใหม่เพื่อขยายการส่งออก และเพื่อลดการพึ่งพาหน่วยเศรษฐกิจใหญ่ๆ ไม่กี่หน่วยจึงเป็นภารกิจสำคัญอย่างยิ่งของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยต้องหาข้อมูลข่าวสารให้กับผู้ประกอบการ

ขณะเดียวกันการสร้างเกราะป้องกันตัวโดยสร้างภูมิต้านทาน ระมัดระวังการลงทุนในลักษณะเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อมิให้เศรษฐกิจฟองสบู่เกิดขึ้นเหมือนในอดีต เป็นเรื่องที่จะต้องพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียด เพื่อป้องกันไม่ให้ผลในทางลบเกิดขึ้นจนกลายเป็นตัวแปรที่เป็นลบทางการเมืองโดยไม่จำเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น