บีบีซีนิวส์ - อีซาส่ง "จูลส์ เวิร์น" ยานขนสัมภาระสู่สถานีอวกาศแบบอัตโนมัติที่ลำเลียงของได้มากที่สุด และเป็นภารกิจอันท้าทายของจรวดขนส่ง ที่จะนำยานไปจอดรอสถานีอวกาศ ก่อนที่จะเชื่อมต่อได้เองโดยไม่ต้องมีคนบังคับ นับเป็นก้าวแรกสู่การพัฒนาระบบขนส่งนักบินอวกาศของยุโรปเอง
"จูลส์ เวิร์น" (Jules Verne) คือชื่อยานขนส่งไร้คนขับอัตโนมัติหรือยานเอทีวี (Automated Transfer Vehicle : ATV) ขององค์การอวกาศยุโรป (อีซา) ที่สามารถลำเลียงสัมภาระต่างๆ ทั้งอากาศ อาหาร น้ำ เชื้อเพลิง เครื่องใช้ส่วนตัวของลูกเรือและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) ได้ถึง 7.6 ตัน
ยานลำนี้ออกเดินทางเพื่อปฏิบัติภารกิจครั้งแรกในอวกาศโดยการลำเลียงของจรวดแอเรียน 5 (Ariane 5) จากฐานปล่อยจรวดคูรู ในเฟรนซ์เกียอานา วันที่ 9 มี.ค.51 เวลา 11.03 น.ตามเวลาประเทศไทย
การสร้างยานขนส่งสัมภาระนี้เป็นบทบาทของยุโรป ในการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งแทนที่จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อบริหารจัดการสถานีอวกาศ อีซาก็เลือกที่จะรับหน้าที่นี้เป็นหลัก
การเดินทางครั้งแรกของยานจูลส์ เวิร์นนี้จะเป็นการประกาศว่ายุโรปมีความสามารถทางเทคโนโลยีใหม่ที่สำคัญที่จะแข่งขันในวงการสำรวจอวกาศได้
สิ่งที่โดดเด่นทีุ่สุดของเอทีวีจากยุโรป คือเทคโนโลยีการนัดพบในอวกาศและการเชื่อมต่อโดยอัตโนมัติของยานจูลส์ เวิร์น ทั้งนี้ยานสามารถหาหนทางด้วยตัวเองเพื่อไปถึงยังสถานีอวกาศและเชื่อมต่อได้เองโดยไม่ต้องมีมนุษย์เข้าไปแทรกแซง
"ยานเอทีวีคือสิ่งที่เรามีส่วนร่วมด้านค่าดำเนินการของสถานีอวกาศ โดยการขนส่งสัมภาระหลายๆ ตัน อีกทั้งยังเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ในการพัฒนา ยานเอทีวีเป็นเหมือนการผสานกันอย่างแนบแน่น (ในความสามารถ) ของยานอวกาศที่มีมนุษย์บังคับกับดาวเทียม กลายเป็นยานที่มีความซับซ้อนและอุตสาหกรรมของยุโรปก็มีโอกาสที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและเทคนิคใหม่ๆ ที่ได้ผลออกมาเป็นยานเอทีวี" คำกล่าวของอลัน เทิร์กเกทเทิล (Alan Thirkettle) ผู้จัดการโครงการสถานีอวกาศนานาชาติขององค์การอวกาศยุโรป
เที่ยวบินของยานเอทีวีในวันที่ 9 มี.ค.นี้เป็นเที่ยวบินที่น้ำหนักถึง 20 ตันขณะอยู่ที่ฐานปล่อย ซึ่งจรวดแอเรียน 5 ต้องได้รับการเพิ่มพลังเป็นเฃพิเศษเพื่อรับภาระอันเฉพาะเจาะจงนี้ โดยจรวดจะขนส่งยานที่มีขนาดประมาณรถโดยสารสองคันขึ้นไปในวงโคจรที่มีความสูง 260 กิโลเมตร ซึ่งอยู่เบื้องล่างทางด้านหลังของสถานีอวกาศ จากนั้นยานเอทีวีก็เพิ่มความสูงของตัวเองเข้าไปใกล้ท่าเทียบที่อยู่เหนือชุดวงโคจร
สำหรับจรวดแอเรียน 5 เองภารกิจนี้ก็นับเป็นหลักไมล์ที่สำคัญในความพยายามขนส่งสัมภาระเดี่ยวๆ ที่หนักที่สุดขึ้นไปยังวงโคจร ซึ่งโดยมากแล้วจรวดแอเรียนจะรับภารกิจขนส่งดาวเทียมสื่อสารขึ้นไปยังวงโคจรระนาบเส้นศูนย์สูตร (equatorial orbit) ซึ่งอยู่สูงจากโลกออกไป 36,000 กิโลเมตร แต่สำหรับเที่ยวบินนี้จรวดของแอเรียนต้องทำวงโคจรที่ลาดเอียงอย่างมากเหนือมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อวางยานเอทีวีในตำแหน่งที่อยู่ต่ำกว่าวิถีของสถานีอวกาศอย่างแม่นยำ
จรวดแอเรียนท่อนสุดท้ายจะจุดระเบิด 2 รอบ รอบแรกเป็นการจุดระเบิดเพื่อเข้าสู่วงโคจรก่อนจะแยกออกจากยานและครั้งที่สองเป็นการทำลายตัวเองเพื่อความปลอดภัยก่อนที่จะตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก จากนั้นยานเอทีวีก็จะหยุดนิ่งอยู่ในอวกาศและต้องรอจนกว่ากระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) จะปฏิบัติภารกิจที่กำลังจะมาถึงจนเสร็จเรียบร้อยจึงจะเข้าเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศได้ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นวันที่ 3 เม.ย.นี้
คอมพิวเตอร์ของยานอยู่ในความควบคุมของระบบจีพีเอส (GPS) และระยะต่อจากนั้นเซนเซอร์ตรวจวัดแสงจะนำทางยานไปยังตำแหน่งท้ายของโมดุลซเฟซดา (Zvezda) ของรัสเซียที่ติดตั้งบนสถานีอวกาศ โดยที่มีการควบคุมของมนุษย์อีกทีที่เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส แต่จะมไมีการแทรกแซงการทำงานจนกว่าจะเกิดปัญหาขึ้น
นอกจากนั้นนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศเองก็จะเพียงดูการเข้าประชิดของยานเอทีวีแต่จะไม่ทำอะไร ยกเว้นเกิดเหตุฉุกเฉิน หากนักบินอวกาศเห็นสัญญาณอันตรายพวกเขาจะสั่งให้ยานเอทีวีถอยกลับด้วยการกดปุ่มสัญญาณสีแดงขนาดใหญ่ที่ติดอยู่บนแผงของซเฟซดา และยานเอทีวีจะอยู่ที่สถานีอวกาศเป็นเวลา 6 เดือน
ทั้งนี้ยุโรปมีความคาดหวังต่อยานเอทีวีและเทคโนโลยีของยานสูงมาก แม้ว่านักบินอวกาศจะไม่ได้อาศัยยานเอทีวีขึ้นสู่สถานีอวกาศแต่ความดันภายในยานก็พอเหมาะกับที่นักบินอวกาศจะเข้าไปโดยทีมไต้องสมชุดอวกาศ นับว่ายานเอทีวีเป็นจุดเริ่มต้นที่ยุโรปจะพัฒนาระบบขนส่งลูกเรือเองได้ แต่ ณ เวลานี้นักบินอวกาศของอีซาไม่สามารถออกไปนอกโลกได้โดยไม่อาศัยกระสวยอวกาศของสหรัฐฯ หรือยานโซยุซ (Soyuz) ของรัสเซียได้