xs
xsm
sm
md
lg

จีนยิง “ปฏิบัติการเดินอวกาศ” อัดฉีดความภาคภูมิแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

กระสวยอวกาศเสินโจว 7 เตรียมพร้อมปฏิบัติการไปกับจรวดขนส่ง “ฉางเจิง 2-เอฟ” ที่สถานียิงดาวเทียมจิ่วเฉวียน มณฑลกันซู่วันที่ 20 กันยายน  นับเป็นเที่ยวบินอวกาศที่มีมนุษย์อวกาศไปด้วยครั้งที่สามของจีน โดยไฮไลท์ของเสินโจว 7 คือ ปฏิบัติการเดินอวกาศ ซึ่งเป็นสุดยอดของความสำเร็จในโลกอวกาศที่จีนไปถึง ณ เวลานี้-ภาพรอยเตอร์
ผู้จัดการออนไลน์/เอเจนซี- จีนลุ้นระทึก... เปิดตำนานชัยชนะครั้งใหญ่เหนือโลกอวกาศในปลายสัปดาห์นี้ เมื่อมนุษย์อวกาศพิชิตปฏิบัติการเดินอวกาศ ลอยตัวอยู่เหนือนอกยานอวกาศท่ามกลางห้วงจักรวาล เหนือพื้นโลก 341 กิโลเมตร

ยานอวกาศเสินโจว 7 จะทะยานออกจากสถานียิงดาวเทียมจิ่วเฉวียนมณฑลกันซู่ โดยมีดีเดย์เหิรสู่โลกอวกาศตั้งแต่วันพฤหัสฯ(25 ก.ย.)นี้ หากสภาพอากาศเป็นใจ โดยจะมีนักบินอวกาศโดยสารไปด้วย 3 คน และหนึ่งในนั้น จะเป็นพระเอกเดินอวกาศ (space walk) คนแรกของจีน ซึ่งเป็นสุดยอดของความสำเร็จในโลกอวกาศที่จีนไปถึง ณ เวลานี้

พญามังกรประกาศแจ้งเกิดเหนือโลกอวกาศ ในปี 2003 หลังจากประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศเสินโจว 5 ปฏิบัติการอวกาศที่มีมนุษย์อวกาศไปด้วยครั้งแรก ทำให้จีนกลายเป็นชาติที่สาม ต่อจากพญาหมีขาวแห่งรัสเซีย และพญาอินทรีแห่งสหรัฐอเมริกา ที่สามารถส่งมนุษย์ไปปฏิบัติการในอวกาศได้ ต่อมาในปี 2005 จีนยังได้ส่งเสินโจว 6 พร้อมมนุษย์อวกาศ เป็นครั้งที่สอง

เสินโจว 7 เป็นปฏิบัติการอวกาศที่มีมนุษย์อวกาศไปด้วยครั้งที่สามของจีน โดยจะเป็นครั้งแรกที่มนุษย์อวกาศจะเดินออกนอกตัวยานสุญญากาศ ซึ่งจะประกาศศักดาฤทธิ์ของจ้าวอวกาศน้องใหม่ ที่พัฒนาไปอีกขั้น

หวง ไห่ ประจำมหาวิทยาลัยอวกาศในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า เสินโจว 7 เป็นก้าวใหญ่อีกก้าวบนเส้นทางพัฒนาสถานีทดลองอวกาศ โดยการเดินอวกาศและการทดลองต่างๆระหว่างปฏิบัติการเสินโจว7 นั้น เป็นการเข้าสู่ขั้นตอนของแผนระยะยาวคือการสร้างสถานีทดลองบนอวกาศ

นอกไปจากนี้ ปฏิบัติการอวกาศครั้งนี้ ยังมีนัยที่มากไปกว่าความสำเร็จทางด้านเทคโนโลยี นั่นก็คือกระสวยอวกาศ “เสินโจว” ชื่อที่หมายถึง “แผ่นดินเทวดา” นี้ ยังได้ "บรรทุก" สัญลักษณ์อำนาจอันเบ้อเริ่มของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชูเหนือจักรวาล

เสินโจว 7 ออกปฏิบัติการในจังหวะเวลาที่สวยงามของจีน ในการกระตุ้นกระแสรักชาติให้ลุกโหมยิ่งขึ้นในปีนี้ ต่อเนื่องจากโอลิมปิก ปักกิ่ง ซึ่งกระแสลัทธิชาตินิยมลุกร้อนแรงขึ้นมาระหว่างการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกทั่วโลกสืบเนื่องจากการประท้วงในกรณีความขัดแย้งทิเบต นอกจากนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ซื่อชวน (เสฉวน) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ยังช่วยกระตุ้นเลือดรักชาติของชาวจีนทั่วประเทศ ร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว
กระสวยอวกาศ “เสินโจว” ชื่อที่หมายถึง “แผ่นดินเทวดา” นี้ ยังได้แบกสัญลักษณ์อำนาจอันเบ้อเริ่มของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชูเหนือจักรวาล ในภาพ(เอเอฟพี) สาวจีนกำลังอ่านหนังสือวันที่ 23 ก.ย. โดยฉากหลังเป็นภาพเขียนมนุษย์อวกาศบนกำแพงที่พิพิธภัณฑ์วิทยาและเทคโนโลยีแห่งซื่อชวนในเมืองเฉิงตู
เป้าสนใจของโลก

สำหรับพระเอกในปฏิบัติการอวกาศเสินโจว 7 คือ พันเอก ไจ๋ จื้อกัง วัย 41 ปี นักบินเครื่องบินขับไล่ ผู้จะสร้างประวัติศาสตร์แก่มาตุภูมิ ในฐานะนักเดินอวกาศคนแรกของประเทศ ซึ่งออกปฏิบัติการในชุดที่หนักอึ้ง 120 กิโลกรัม เขาจะเป็นวีรบุรุษมนุษย์อวกาศ ที่ประชาชนหลายร้อยล้านตบมือให้ ซึ่งภาพการแสดงชัยชนะนี้ มีความสำคัญมากสำหรับกลุ่มผู้นำจีนที่มีจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์

“ความสำเร็จของปฏิบัติการ จะชนะความสนใจของผู้คนในประเทศ และกระทั่งผู้คนทั้งหมดในโลกด้วย และเหนือสิ่งอื่นใด มันเป็นเครื่องมือสร้างอารมณ์แห่งความสมานฉันท์ในสาธารณชน ตลอดจนเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการสร้างความชอบธรรม ” เจ้าหน้าที่ในกองทัพปลดแอกประชาชนจีน หรือพีแอลเอ ระบุในรายงานการศึกษายุทธศาสตร์อวกาศของจีน ปี 2008

ในศตวรรษที่ 19 กลุ่มนักคิดจีนกล่าวโทษอำนาจครอบงำของกลุ่มชาติอำนาจตะวันตกและญี่ปุ่น ทำให้จีนต้องตกอยู่ในความล้าหลังทางเทคโนโลยี

หลังจากที่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์พิชิตชัยครองอำนาจเหนือแผ่นดินใหญ่ในปี ค.ศ.1949 ก็ได้กำหนดบทพิสูจน์ถึงพลังอำนาจ ได้แก่ การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ สร้างอภิมหาโครงการเขื่อน และโครงการอันน่าตื่นตะลึงแก่ชาวโลก ที่เหล่าชาติกำลังพัฒนาไม่อาจเอื้อมถึง

ในประวัติศาสตร์โครงการอวกาศจีน ฉบับกึ่งทางการ ระบุว่าแม้ขณะนั้น ประเทศชาติเต็มไปด้วยศึกขัดแย้งภายในและความอดอยาก ผู้นำใหญ่แห่งการปฏิวัติจีนใหม่ เหมา เจ๋อตง ก็ได้รับรองแผนข้อเสนอพัฒนาเที่ยวบินอวกาศที่มีมนุษย์อวกาศขึ้นไปปฏิบัติการด้วยในเดือนกรกฎาคมปี 1970  สี่เดือนหลังจากที่จีนยิงดาวเทียมรุ่นโบราณดวงแรกของตน

ผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง หัวหอกแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ ผู้ยึดแนวปฏิบัติการได้จริงในปลายทศวรรษที่ 1970 ได้ผลักดันโครงการอวกาศอย่างเร่งรีบมากขึ้น เพื่อสร้างความนับถือแก่ประเทศชาติในฐานะชาติอำนาจที่ทันสมัย ในปี 1979 เติ้ง เสี่ยวผิงได้เยี่ยมเยือนศูนย์อวกาศจอห์นสันในฮุสตัน มลรัฐเท็กซัส และได้พบกับนักอวกาศรุ่นบุกเบิกจอห์น เกลนน์ ทั้งนี้จากเอกสารประวัติศาสตร์โครงการอวกาศจีน ฉบับกึ่งทางการที่ตีพิมพ์ในปี 2005 ระบุ

“พวกคุณ ในอเมริกา มีหลายสิ่งที่ควรค่าสำหรับพวกเรา ที่กำลังศึกษา” เติ้ง กล่าวที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งสหรัฐฯ หรือนาซา

นับจากนั้นมา บรรดาผู้นำจีน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นวิศวกรนั้น ต่างมองโครงการมนุษย์อวกาศ เป็นเครื่องมือลบล้างภาพลักษณ์ความล้าหลังในอดีตของประเทศ โจน จอห์นสัน-ฟรีส (Joan Johnson-Freese) ผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการที่ Naval War College สหรัฐอเมริกา ใน โรห์ด ไอสแลนด์ กล่าว พร้อมกับบอกว่า ฉันคิดว่าจีนพยายามดันตัวเองขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในเอเชีย ซึ่งเทคโนโลยีนี้ เป็นทั้งเครื่องชี้วัดอำนาจ และเครื่องมือสำหรับแผ่อิทธิพลเหนือประเทศอื่น”

จีนเผด็จศึกแผนอวกาศก้าวแรก ด้วยการส่งยานเสินโจวที่ไร้มนุษย์อวกาศในปี 1999 โดยมีกลุ่มหน่วยงานรัฐบาลและทหารทำงานร่วมกันอย่างลับๆ และเก็บเงียบเรื่องบประมาณ จนในปี 2003 กลุ่มเจ้าหน้าที่ถึงได้เผยตัวเลขในปฏิบัติการเสินโจว เท่ากับ 18,000 ล้านหยวน (2,600 ล้านเหรียญสหรัฐ)

คู่แข่งขันในโลกอวกาศ

หลังเวทีโชว์ความสำเร็จด้านอวกาศ โครงการอวกาศของจีนได้กระตุ้นความวิตกในวอชิงตัน และหมู่ชาติอำนาจในเอเชียที่มีแรงบันดาลใจในโลกอวกาศเช่นกัน อาทิเมื่อจีนยิงยานสำรวจดวงจันทร์ ที่ใช้ชื่อเทพธิดาดวงจันทร์ในตำนานจีน “ฉางเอ๋อ1” ในวันที่ 14 ตุลาคม 2007 ตามหลังญี่ปุ่นซึ่งได้ยิงยานอวกาศสำรวจดวงจันทร์ “คางูยะ” ชื่อเทพธิดาดวงจันทร์ของแดนปลาดิบในเดือนกันยายน ในต้นปี 2008 นี้ อินเดีย ก็ยิง “จันทรายาน1” ไปเยือนดวงจันทร์ด้วยเช่นกัน

รัฐบาลจีนได้เปิดเผยค่าใช้จ่ายอย่างเป็นทางการในการส่งมนุษย์อวกาศ ประมาณ 1,000 ล้านหยวน (150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สำหรับแต่ละเที่ยว แม้จะดูเป็นเศษเสี้ยวของงบประมาณแผ่นดินก้อนมหึมา แต่เมื่อรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการ ก็น่าจะหนักเพียบไม่ใช่เล่น

ด้านกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จีน ก็ได้พยายามโน้มน้าวผู้นำจีนให้เดินหน้าเที่ยวบินมนุษย์อวกาศ โดยชี้ว่าโครงการแห่งเกียรติภูมินี้ ยังช่วยจีนดึงดูดวิศวกรที่กำลังหันเหไปสู่ธุรกิจเอกชน โพลพีเลอร์นักวิเคราะห์แห่งวอชิงตันชี้

โพลพีเลอร์ระบุในการศึกษาเมื่อเร็วๆนี้ ว่ามหาวิทยาลัยอวกาศจีน มีนักศึกษา 23,000 คน โดยประมาณ 1 ใน 3 ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงการอวกาศ และวิศวกรรุ่นหนุ่มสาวเหล่านี้ ยังเป็น “จุดได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์สำหรับจีน”

แม้จีนพูดเสมอว่าการพัฒนาเทคโนโลยีของตน มีเป้าหมายสันติภาพล้วนๆ ทว่า ในปี 2007 จีนได้โชว์ศักยภาพในอวกาศ ได้แก่การระเบิดทิ้งดาวเทียมรุ่นเก่าของตน ทำวอชิงตันและชาติเอเชียต่างๆตื่นตะลึงในความสามารถที่เป็นศักยภาพทางทหารด้วยนี้ของจีน

ยิ่งประเทศต่างๆหันมาพัฒนาเทคโนโลยีทางอวกาศ ก็จะยิ่งคุกคามความรู้สึกของอเมริกา เนื่องจากการใช้ประโยชน์สองทางของเทคโนโลยี มันเป็นวงจรอุบาทว์ ” Johnson-Freese

ด้านผู้เชี่ยวชาญจีนชี้ความเสี่ยงต่ออำนาจครอบงำของจีน จะทำให้โลกอวกาศกลายเป็นสนามศึกเผชิญหน้าทางการทหาร และศึกชิงทรัพยากร “ศึกแข่งขันด้านอาวุธในอวกาศ ได้เริ่มขึ้นแล้ว จากฝ่ายสหรัฐฯ” นักวิเคราะห์อาวุโสในปักกิ่ง เขียนไว้ในวารสารกิจการระหว่างประเทศ (China International Studies)

แต่ทั้งผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯและในจีนหลายคน ต่างเห็นพ้องกันว่า จีนยังอยู่หลังสหรัฐฯอย่างทิ้งห่างมากในสนามแข่งขันอวกาศ โดยยังต้องใช้เวลาหลายปี ถึงจะตามทัน อาทิ การสร้างสถานีอวกาศ จีนยังจะต้องสร้างจรวดขนส่ง “ฉางเจิง” หรือ “ลองมาร์ช” ชั่วรุ่นใหม่ ซึ่งขณะนี้ ส่อเค้าว่าแผนการนี้ จะถูกเลื่อนล่าช้าออกไปถึงกลางทศวรรษหน้า นอกจากนี้ ยังต้องระดมเครื่องมืออุปกรณ์ และวิศวกรอีกนับไม่ถ้วน

มันเป็นเรื่องเกินจริง ที่จะประกาศว่าเราทัดเทียมกับอเมริกา และรัสเซียแล้ว ขณะนี้ เราทำได้ดีที่สุดก็คือ ลดช่องว่างนี้ลงเท่านั้น” เจียว เหวยซิน นักวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศ แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าว

“เปรียบเทคโนโลยีจีนกับของเมกาแล้ว เหมือนเทียบ ฟอร์ด เฟียสตา กับเมอร์ซีเดส คุณภาพและข้อได้เปรียบยังห่างชั้นกันมาก” Johnson-Freese.

คลิกอ่าน: โครงการอวกาศจีน


คลิกอ่าน: พลิกปฏิทินครึ่งศตวรรษโครงการอวกาศมังกร
 
กำลังโหลดความคิดเห็น