xs
xsm
sm
md
lg

สองครูวิทย์พร้อมทะยานฟ้ากับ "ดิสคัฟเวอรี" พุธนี้หลังฝึกมา 5 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลูกเรือดิสคัฟเวอรีเที่ยวล่าสุด (ภาพประกอบจากเอเอฟพี)
เที่ยวบินแรกในรอบปีของนาซากำหนดแล้ว วันที่ 11 มี.ค.นี้ "ดิสคัฟเวอรี" พร้อมทะยานฟ้า หลังเลื่อนกำหนดมาเป็นเดือน เพราะระบบวาล์วเชื้อเพลิงขัดข้อง ด้าน 2 คุณครูวิทยาศาสตร์ที่ฝึกซ้อมมานาน 5 ปีก็พร้อมเดินทางไปกับเที่ยวบินนี้ด้วย และนับเป็นครั้งแรกที่มีครูขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่พร้อมๆ กันถึง 2 คน

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) กำหนดส่งกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี (Discovery) ทะยานฟ้าเป็นเที่ยวบินแรกในรอบปี คืนวันที่ 11 มี.ค.52 ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเดิมกำหนดส่งกระสวยอวกาศในชวงกลางเดือน ก.พ.นี้ แต่ติดปัญหาเรื่องระบบวาล์วเชื้อเพลิงไฮโดรเจนของยานขัดข้อง โดยหลังจากตรวจสอบอย่างเข้มงวด นาซาเชื่อว่ากระสวยอวกาศปลอดภัยต่อการบินแล้ว

ทั้งนี้ สำนักข่าวเอพีเปิดเผยว่าผู้จัดการโครงการกระสวยอวกาศนาซา ได้สั่งให้ทดสอบวาล์วก๊าซไฮโดรเจนอย่างเข้มงวด หลังพบว่าวาล์วตัวหนึ่งเสียหายระหว่างการบินครั้งล่าสุด โดยวาล์วดังกล่าวมีหน้าที่ควบคุมการไหลของก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งเปิดเข้าสู่ถังเชื้อเพลิงระหว่างการไต่ระดับสู่วงโคจร 8 นาทีครึ่ง แม้วาล์วที่เสียหายนั้นไม่ได้สร้างปัญหาใดๆ

จอห์น แชนนอน (John Shannon) ผู้จัดการโครงการกระสวยอวกาศของนาซากล่าวว่า นาซาต้องการความแน่ใจว่า มีโอกาสที่ดิสคัฟเวอรีจะระเบิดจากรอยแตกของวาล์วได้หรือไม่ หากเป็นได้จริง ต้องแน่ใจว่าจะไม่เป็นสถานการณ์ที่เลวร้าย ซึ่งเทคนิคตรวจสอบหารอยร้าวเล็กๆ แบบใหม่ในวาล์วแสตนเลสช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ทีมวิศวกรมากขึ้น โดยเมื่อกว่า 2 สัปดาห์ก่อน ดิสคัฟเวอรีได้เปลี่ยนวาล์วใหม่ 3 ตัวซึ่งปลอดจากรอยร้าว หลังตรวจผลรอบร้าวเล็กๆ ในวาล์วตัวเก่าด้วยเทคนิคตรวจสอบใหม่

"เป็นไปได้ว่า กระสวยอวกาศจะบินขึ้น-ลงอยู่หลายเที่ยวก่อนที่รอยแตกในวาล์วจะขยายใหญ่ขึ้น คาดว่าจะเป็นผลจากรอยแตกที่ถูกดึงออกเรื่อยๆ แต่วาล์วก็ยังดูเป็นปกติ" แชนนอนกล่าว

สำหรับเที่ยวบินแรกแห่งปีของนาซานี้ จะมีลูกเรือขึ้นไปปฏิบัติภารกิจทั้งหมด 7 คน ซึ่งหนึ่งในภารกิจคือการขึ้นไปประกอบแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้เสร็จสมบูรณ์ และนับเป็นเที่ยวบินแรกที่มีครูวิทยาศาสตร์ขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่พร้อมๆ กัน 2 คน คือ โจเซฟ อคาบา (Joseph Acaba) วัย 41 และ ริชาร์ด อาร์นอล์ด ทู (Richard Arnold II) วัย 45 ซึ่งทั้งสองมีโอกาสขึ้นไปปฏิบัติภารกิจเป็นครั้งแรกในคราวนี้ หลังจากฝึกหนักมา 5 ปี และระหว่างภารกิจต่อเติมสถานอวกาศนานาชาติเป็นเวลา 2 อาทิตย์ ครูวิยาศาสตร์ทั้งสองต้องปฏิบัติภารกิจเดินอวกาศอยู่หลายครั้ง ซึ่งถือเป็นงานที่อันตรายที่สุดในวงโคจร

เที่ยวบินนี้ ห่างจากเที่ยวบินที่มีครูขึ้นไปปฏิบัติภารกิจประมาณปีครึ่ง โดยก่อนหน้านี้บาร์บารา มอร์แกน (Barbara Morgan) ได้เป็นตัวแทนครูเดินทางขึ้นบนอวกาศเมื่อปี 2550 ถือเป็นการรอคอยต้อนรับคุณครูสู่อวกาศนานถึง 2 ทศวรรษ นับแต่เกิดเหตุเศร้าสลดกับเที่ยวบินของกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ (Challenger) เมื่อปี 2531 ซึ่งคร่าชีวิต คริสตา แม็คออลิฟฟ์ (Christa McAuliffe) คุณครูมัธยมกลางอากาศ

ขณะเกิดเหตุกับแม็คออลิฟฟ์เมื่อวันที่ 28 ม.ค.31 นั้น อคาบายังเป็นเพียงน้องใหม่ในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานตาบาร์บารา (University of California at Santa Barbara) ส่วนอาร์นอล์ดเพิ่งจบจากมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ดีใช่ว่าทั้งคู่จะด้อยประสบการณ์ เพราะต่างมีความสามารถที่เหมาะต่อภารกิจในเที่ยวบินนี้อย่างยิ่ง อีกทั้งทั้งคู่ยังทำงานในแขนงของสถานีอวกาศที่ศูนย์อวกาศจอห์นสัน (Johnson Space Center) ในฮุสตัน สหรัฐฯ เกี่ยวกับทางด้านฮาร์ดแวร์และเชิงเทคนิคด้วย

นอกไปจากการติดแผงโซลาร์เซลล์ใหม่ให้กับสถานีอวกาศแล้ว นักบินอวกาศยังเตรียมหน่วยประมวลผลสำหรับระบบหมุนเวียนน้ำปัสสาวะบนสถานีอวกาศขึ้นไปติดตั้งด้วย รวมทั้งรับมือกับงานซ่อมบำรุงบางอย่าง และส่งโคอิชิ วากาตะ (Koichi Wakata) นักบินอวกาศจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (แจกซา) ซึ่งจะใช้ชีวิตอยู่ในวงโคจรอย่างน้อย 3 เดือน

ส่วนนักบินอวกาศคนอื่นๆ อีก 4 คน ได้แก่ ลี อาร์ชัมบอล์ท (Lee Archambault) ผู้บัญชาการเที่ยวบิน และลูกเรือที่เหลือ คือ โดมินิค โทนี อันโทเนลลี (Dominic "Tony" Antonelli) สตีเฟน สวันสัน (Steven Swanson) และ จอห์น ฟิลลิปส์ (John Phillips).
โจเซฟ อคาบา (ภาพประกอบจากรอยเตอร์)
 ริชาร์ด อาร์นอล์ด ทู
กำลังโหลดความคิดเห็น