xs
xsm
sm
md
lg

เพราะไทยไม่นิยม "สเต็ก" จึงปล่อยก๊าซโลกร้อนน้อยกว่าฝรั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรีนพีซเปิดรายงานผลกระทบจากภาคการเกษตรเชิงอุตสาหกรรมต่อการเกิดภาวะโลกร้อน ชี้คนไทยกินเนื้อแกะ-เนื้อวัวน้อยกว่าฝรั่ง ทำให้ปล่อยก๊าซโลกร้อนน้อยกว่าหลายเท่าตัว หากหันมาบริโภคพืชผักมากขึ้นก็จะลดไปได้อีกมาก เผยภาคการเกษตรทั่วโลกทำโลกระอุอันดับ 2 รองจากภาคพลังงาน ปล่อยก๊าซโลกร้อนรวม 17 -32% แนะหากใช้เกษตรวิถีธรรมชาติจะลดก๊าซเรือนกระจกได้ 6 พันล้านตัน

กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แถลงข่าวเปิดตัวรายงาน "ลดโลกร้อนด้วยเกษตรกรรมเชิงนิเวศ" ขึ้นเมื่อวันที่ 25 ม.ค.51 ที่กรุงเทพฯ โดยสะท้อนถึงผลกระทบภาพรวมของการเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรมในทุกภูมิภาคทั่วโลกที่มีต่อปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาเหตุหลักของปัญหาโลกร้อน พร้อมชี้แนะแนวทางการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทดแทน

รายงานดังกล่าวจัดทำโดย ศ.พีท สมิธ จากมหาวิทยาลัยอเบอร์ดีน ประเทศสก็อตแลนด์ ผู้เขียนรายงานด้านการเกษตรของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ฉบับล่าสุด

น.ส.ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์กรีนพีซ กล่าวถึงตอนหนึ่งของรายงานว่าการบริโภคเนื้อสัตว์จำนวนมากถือเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งมูลสัตว์จำนวนมากเป็นแหล่งที่มาของก๊าซมีเทนจำนวนมหาศาล ซึ่งก๊าซมีเทนมีความร้ายแรงที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 21 เท่า

อีกทั้งการขยายพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ยังเป็นที่มาของการรุกล้ำพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อันเป็นตัวดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ตัวอย่างที่สำคัญคือ ป่าฝนอเมซอน ประเทศบราซิล ที่ถูกรุกล้ำเพื่อปลูกถั่วเหลืองป้อนภาคปศุสัตว์รายใหญ่ของโลก

รายงานยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า การบริโภคเนื้อสัตว์แต่ละชนิดยังมีผลให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการเลี้ยงดูไม่เท่ากัน โดยเมื่อเทียบอัตราการบริโภคใน 1 กก.เนื้อแกะจะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก 17.4 กก. รองลงมาคือเนื้อวัว 12.9 กก. เนื้อหมู 6.35 กก. เนื้อไก่และสัตว์ปีกอื่นๆ 4.57 กก. ซึ่งการบริโภคอาหารจำพวกพืชผักแทบจะไม่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเลย

"ผู้บริโภคก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน แม้ว่าจะไม่ใช่ผู้มีบทบาทสำคัญมากที่สุด แต่หากเราลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลดลง และพึ่งพาอาหารธรรมชาติมากขึ้น การทำลายป่า การขยายพื้นที่การเกษตรก็จะลดลง เช่น หากเราลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงได้เพียง 5% ก็จะลดการเกิดการเรือนกระจกได้จำนวนมหาศาล ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคช่วยกันได้ แม้ว่าประเทศเราจะไม่ได้กินเนื้อวัวหรือเนื้อแกะมากเหมือนคนยุโรป แต่เราก็ช่วยได้เช่นกัน" น.ส.ณัฐวิภาย้ำ

ทั้งนี้ น.ส.ณัฐวิภา ยังกล่าวถึงรายงานเดียวกันว่า ยังสะท้อนภาพรวมของภาคการเกษตรทั่วโลกที่มีต่อการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งแบบทางตรงและทางอ้อมถึง 8.5 -16.5 พันล้านตัน/ปี หรือคิดเป็นร้อยละ 17 -32% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก โดยการโหมใช้ปุ๋ยมากเกินจำเป็นถือเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดก๊าซไนตรัสออกไซด์ ซึ่งมีความร้ายแรงถึง 300 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ผู้ประสานงานรณรงค์กรีนพีซ กล่าวว่า ในประเทศไทยตลอด 40 ปีที่ผ่านมาก็มีการนำเข้าปุ๋ยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยเกษตรกรไทยใช้ปุ๋ยเฉลี่ย 16.16 กก./ไร่ แม้จะยังไม่ใช่การเกษตรแบบอุตสาหกรรมเต็มตัวแบบจีนที่เป็นอันดับหนึ่งของโลกในการใช้ปุ๋ยด้านการเกษตร เฉลี่ย 51.36 กก./ไร่ เทียบกับฟิลิปปินส์ 11.2 กก./ไร่ และสหรัฐอเมริกา 18.05 กก./ไร่ ตรงข้ามกับประเทศแถบยุโรปตะวันตกที่ลดการใช้ปุ๋ยลดอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ดี น.ส.ณัฐวิภา เผยต่อไปว่า ปัญหาดังกล่าวในประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นรุนแรงนัก จึงนำตัวอย่างกรณีปัญหาของประเทศอื่นๆ ได้รับ เช่น จีนซึ่งเสนอในรายงานไปใช้ในการปรับตัวได้ เพื่อไม่รอให้เกิดปัญหาและถูกใช้เป็นข้อกีดกันระหว่างประเทศในอนาคต

ส่วนแนวทางลดปัญหาที่ ศ.สมิธ กล่าวถึงในรายงานนั้น น.ส.ณัฐวิภา เผยว่าได้แก่ การหันไปปลูกพืชตามวิถีดั้งเดิมอย่างการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีการเกษตรลง ซึ่งประเทศไทยมีอยู่บ้างแล้วแต่ยังจำกัดในวงแคบ โดยรายงานในหลายประเทศชี้ให้เห็นว่าการเกษตรที่เป็นมิตรกับธรรมชาตินี้จะไม่ส่งผลให้ปริมาณพืชผลการเกษตรลดลงแต่อย่างใด ทว่าหากเปลี่ยนวิถีการเกษตรได้จริงจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดได้ถึง 6 พันล้านตันต่อปี

ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่มีการนำเสนอเช่น การใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการพื้นที่ปศุสัตว์ การฟื้นฟูดินและเพิ่มพื้นที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การจัดการน้ำ การใช้ปุ๋ยในภาคการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ลง ซึ่งการบรรลุผลได้นั้นจำเป็นต้องประสานกันระหว่างภาครัฐที่เน้นการจัดการอย่างจริงจัง ภาคเกษตรกรผู้ปลูกพืชและทำปศุสัตว์ ตลอดจนผู้บริโภคในท้ายที่สุด





กำลังโหลดความคิดเห็น