xs
xsm
sm
md
lg

กลัวเสียมารยาทโยน "ยุทธศาสตร์โลกร้อน" ให้รัฐบาลหน้าลงรายละเอียด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดร.ยงยุทธ ปัดไม่ขอกำหนดแนวทางดำเนินการใดๆ ในแผนยุทธศาสตร์โลกร้อนอีก หลัง ครม.ไฟเขียวดำเนินการตามแผนได้ ชี้เป็นสิทธิ์ของรัฐบาลหน้ารับไปพิจารณาได้ตามความเหมาะสม เผยไม่อยากก้าวก่ายเพราะจะเป็นการเสียมารยาท

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ม.ค.51 อนุมัติยุทธศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2551-2555 โดยวางยุทธศาสตร์ 6 ด้านหลักเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว และเตรียมรับมือกับปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น

ครั้นผู้สื่อข่าวสอบถามถึงรายละเอียดของยุทธศาสตร์ดังกล่าวต่อ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะรักษาการ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เมื่อสัปดาห์ก่อนเขาเปิดเผยว่า จะส่งต่อให้ ครม.ชุดใหม่รับช่วงพิจารณาและดำเนินการต่อไปจะเป็นการเหมาะสมที่สุด เพราะตามมารยาทแล้วจะไม่เหมาะที่รัฐบาลชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระจะไปเจาะจงหรือชี้แนะประเด็นใดๆ เพิ่มเติมอีก

ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลใหม่ปรับแก้ยุทธศาสตร์หรือวางแนวทางอย่างไรก็เป็นสิทธิที่ทำได้ โดยที่ผ่านมา ครม.ปัจจุบันได้ริเริ่มงานเพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปแล้วใน 2 จุดสำคัญคือ การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการวางกรอบยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน

อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์ 6 ด้านที่มีการชี้แจงก่อนหน้านี้ได้แก่ 1. การสร้างความสามารถในการปรับตัวและลดความล่อแหลมต่อผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายเพื่อป้องกัน รักษา หรือเพิ่มมูลค่าตลอดจนคุณค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติ และป้องกันรักษาหรือปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชนจากผลกระทบทางสภาพภูมิอากาศ

อาทิ การจัดทำหลักเกณฑ์และกำหนดฮอตสปอต (Hot Spots) และการฟื้นฟูป่า แหล่งน้ำ ป่าชายเลน ชายฝั่งทะเล และดินที่เสื่อมโทรมเพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ

2.การสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มแหล่งดูดซับก๊าซบนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศและปรับปรุงฐานของเทคโนโลยีการผลิตไปสู่เทคโนโลยีสะอาดที่มีประสิทธิภาพ

อาทิ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานอย่างการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า การส่งเสริมการประหยัดไฟฟ้าในทุกภาคส่วน และการส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น

3.การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องและมีฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการเชิงนโยบาย การวางแผน และการดำเนินงาน อาทิ การสร้างสถานการณ์จำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตของประเทศไทยเชื่อมโยงกับข้อมูลการคาดการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโลก

4.การสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนมีความตระหนักรู้ มีจิตสำนึกรับผิดชอบ และมีส่วนร่วมตามบทบาทและหน้าที่ที่เหมาะสม อาทิ เผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในด้านต่างๆ โดยกำหนดเป็นข้อปฏิบัติที่เข้าใจง่ายและปรับให้เหมาะสมกับกลุ่มชุมชนแต่ละท้องถิ่น

5.การเพิ่มศักยภาพของบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายเพื่อองค์กรและบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งด้านวิชาการ การวางแผน การดำเนินการ และการติดตามประเมินผล มีความสามารถและศักยภาพในการทำงานที่รับผิดชอบ และการทำงานร่วมกันเชิงบูรณาการ

อาทิ การสร้างเครือข่ายของบุคลากรและหน่วยงานที่ดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศและท้องถิ่น และการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรกระจายบริการให้ทั่วถึงในการป้องกันเยียวยาภัยพิบัติ หรือโรคระบาด

และ 6.การพัฒนาการดำเนินงานในกรอบความร่วมมือกับต่างประเทศ เป้าหมายเพื่อสร้างศักยภาพขององค์กรและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือกับต่างประเทศ ส่งเสริมให้มีการดำเนินงานอย่างบูรณาการและต่อเนื่อง และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ภายในและระหว่างองค์กรและพัฒนาการทำงานเป็นทีมที่มีเป้าหมายร่วมกัน

อาทิ การสร้างเครือข่ายที่เกี่ยวข้องและทีมเจรจาในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้กรอบความร่วมมือกับประเทศต่างๆ

"จาก 6 ยุทธศาสตร์ตรงนี้ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ยุทธศาสตร์ที่ 3 ไล่ไปจนถึงยุทธศาสตร์ที่ 6 จะเป็นการส่งเสริม 2 ยุทธศาสตร์แรก คือเรื่องของการสร้างความสามารถในการปรับตัวและลดความล่อแหลม และการสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวิจัยพัฒนา ผลิตกำลังคน การรณรงค์ให้คนรู้ว่ามีปัญหาเกิดแล้วจริงๆ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ หรือการสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ" ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว

ส่วนความเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการด้านอื่นๆ ของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2551 -2555 จะเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 พ.ศ.2550 -2554 แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2550 -2554 ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาด้านพลังงาน ยุทธศาสตร์การจัดการและป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

นอกจากนี้ยังรวมถึงแผนบรรเทาภาวะโลกร้อนด้านการเกษตร ยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และร่างแผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2551 -2554
กำลังโหลดความคิดเห็น