xs
xsm
sm
md
lg

อดีตทูตจิงโจ้สับอียูลดโลกร้อนแบบฮวบฮาบ ผลักภาระชาติกำลังพัฒนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข้อถกเถียงเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนทวีความเข้มข้นทุกขณะ ประเทศต่างๆ ก็กำลังงัดข้อกันอยู่เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของตัวเอง (ภาพจาก learners.in.th)
อดีตทูตออสซี่สวมหมวกประธานกลุ่มเวริลด์โกร์ธประณามแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนของอียู ชี้สกัดกั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา  เหตุเพราะความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบรวดเร็วและฉับพลัน จะเป็นการดักคอไม่ให้ประเทศกำลังพัฒนาแก้ปัญหาความยากจนในประเทศได้ เสนอการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามความพร้อมของแต่ละประเทศ ไม่ถูกเรียกร้องจากผู้ใด

3 เดือนหลังจากการประชุมนานาชาติว่าด้วยแผนปฏิบัติการการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียได้ผ่านพ้นไป ล่าสุดระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-4 เม.ย.51 ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)ได้จัดการประชุมความคืบหน้าของแผนปฏิบัติการ (UN Climate Change Conference) อีกครั้ง ณ อาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ

นายอลัน ออกซ์ลีย์ (Alan Oxley) ประธานกลุ่มเวิร์ลด์ โกรธ (World Growth) องค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไรด้านการเจรจาการค้า โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน และอดีตเอกอัครราชทูตสันถวไมตรีของออสเตรเลีย ได้กล่าวแสดงจุดยืนในเวลาต่อมาว่า กลุ่มเวิร์ลด์ โกรธ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาพรวมทั้งโลกของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ได้นำเสนอในที่ประชุมครั้งนี้

เขาอธิบายว่า เพราะข้อเสนอดังกล่าวจะไม่สามารถส่งผลในทางปฏิบัติได้จริง อีกทั้งยังส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาได้รับความยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะการบั่นทอนความพยายามแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศ เนื่องจากข้อเสนอในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศจะกระทบโดยตรงต่อการใช้พลังงานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้

ทั้งนี้ ข้อเสนอในการแก้ปัญหาของอียูตั้งอยู่บนข้อมูลที่อ้างอิงจากเซอร์ นิโคลัส สเติร์น (Nicolas Stern) อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ที่เสนอว่าการผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างฮวบฮาบในเวลาอันสั้นจะมีต้นทุนต่ำ โดยอียูได้นำมาใช้กดดันประเทศกำลังพัฒนาว่าหากไม่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเร็วที่สุดแล้ว ประเทศกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากความยากจนมากที่สุด

อย่างไรก็ดี นายออกซ์ลีย์ชี้ว่า นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากไม่เห็นด้วยกับแนวทางของสเติร์น และยืนยันว่าแนวทางนี้ผิด 100% โดยเฉพาะในรายงานของ ศ.วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ (William Nordhaus) จากมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐฯ ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันดับต้นๆ ของโลก ที่ออกมาปฏิเสธแนวทางนี้

นอร์ดเฮาส์ ได้เสนอว่า การกระทำดังกล่าวควรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากปริมาณน้อยๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งใช้เวลายาวนานกว่า แต่จะเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาความยากจนได้ และเมื่อประเทศกลุ่มนี้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ก็จะสามารถแบกรับต้นทุนในการบรรเทาและปรับตัวกับปัญหาได้เอง

นอกจากนั้น นายออกซ์ลีย์ ได้ยกรายงาน "ภัยคุกคามที่เห็นจริงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อประเทศกำลังพัฒนาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างฮวบฮาบและฉับพลันทันที" (The Real Climate Threat to Developing Countries -EArly, Deep Cuts in Emissions) ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มเวิร์ลด์โกรธมาประกอบด้วยว่า รัฐบาลของชาติต่างๆ ในเอเซียจะไม่ยอมรับข้อเสนอนี้อย่างแน่นอนเพราะทราบดีว่าหากกระทำตามข้อเสนอนี้แล้วแทนที่จะลดปัญหาความยากจน กลับจะเป็นการซ้ำเติมปัญหามากกว่า

"รายงานของกลุ่มเวิร์ลด์โกรธได้ประมาณมูลค่าที่เกิดขึ้นตามแนวทางของสเติร์นพบว่า หากมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างฮวบฮาบและทันที จะทำให้ทุกๆ 1% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่ลดลง จะทำให้เกิดการสูญเสียมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในประเทศจีนมากถึง 15% ในอินเดีย 12% ในบราซิล 4% และในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงไทย 12%" ประธานกลุ่มเวิร์ลด์ โกรธกล่าว

"แนวทางของสเติร์นเป็นการประเมินต้นทุนที่ต่ำกว่าความเป็นจริงขณะที่หวังผลที่จะได้รับสูงเกินไป ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการผลิตภาพของออสเตรเลียยังตั้งข้อชวนสังเกตว่าสเติร์นกำลังทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงมากกว่าจะทำหน้าที่นักวิเคราะห์"

พร้อมกันนี้ นายออกซลีย์ ได้เสนอเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แท้จริง แต่ละประเทศควรเริ่มลงมือปฏิบัติที่ตัวเองก่อน การเสนอแนวทางต่างๆ เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ไม่ควรเรียกร้องหรือตีกรอบให้แก่ประเทศอื่น โดยแนวทางที่ดีที่สุดคือการหันหน้ามาเจรจาเพื่อหาความร่วมมือและทางออกของปัญหาร่วมกัน อาทิ ประเทศไทยที่เขามองว่ามีศักยภาพในการผลิตพลังงานจากน้ำได้อีกมาก

"สิ่งที่ยังขาดหายไปในความพยายามแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือวาระการแก้ปัญหาที่ไม่ชัดเจนว่าใครจะทำอะไรและอย่างไรบ้าง ซึ่งข้อตกลงจะทำการใดๆ ก็ยังไม่มีความชัดเจนอยู่เลย" นายออกซ์ลีย์วิเคราะห์
อลัน ออกซลีย์
นิโคลัส สเติร์น (ภาพจาก www.theaustralian.news.com.au)
 วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ (ภาพจาก nordhaus.econ.yale.edu)
กำลังโหลดความคิดเห็น