xs
xsm
sm
md
lg

ประชุมโลกร้อนรอบ “กรุงเทพฯ” หนทางหลังพิธีสารเกียวโตหมดอายุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 31 มี.ค.-4 เม.ย.51 ณ กรุงเทพฯ มีผู้แทนกว่า 900 คนจากกว่า 160 ประเทศร่วมงาน (ภาพจากเอเอฟพี)
ยูเอ็นเอฟซีซีซี/เอเอฟพี- เมืองหลวงของไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมโลกร้อนในระดับสหประชาชาติอีกครั้ง หวังระดมความร่วมมือจากประชาคมโลกสร้างความชัดเจนในความร่วมมือลดการปล่อยก๊าซก่อสภาวะเรือนกระจก ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เพื่อให้ทันใช้ต่อจากพิธีสารเกียวโตที่กำลังจะหมดอายุลงในอีก 4 ปีข้างหน้า

ตลอด 5 วันระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-4 เม.ย.51 ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอฟซีซีซี) ณ อาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนนานาชาติกว่า 900 คนจากกว่า 160 ประเทศเข้าร่วมประชุม

จุดประสงค์หลักๆ ก็เพื่อสร้างความชัดเจนในกรอบความร่วมมือระดับโลกเพื่อลดหรือบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ ขณะนี้ โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ที่เป็นที่ถกเถียงกันมาพักใหญ่ว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะเป็นหัวหอกเริ่มต้นก่อนได้หรือไม่ ส่วนการเคลื่อนไหวจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นไปได้ในทิศทางไหน?

นายบัน คี-มูน (Ban Ki-Moon) เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวผ่านวิดีโอในวาระเปิดการประชุมว่า เขาต้องการให้นานาชาติหันมาทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกของปัญหา โดยสถานการณ์ของโลกเวลานี้เรียกร้องให้พวกท่านจงมีความทะเยอทะยานในสิ่งที่มุ่งหวัง และในความพยายามอย่างหนักเพื่อบรรลุถึงข้อตกลงนั้นๆ

สำหรับการประชุมล่าสุดถือเป็นการสานต่อความพยายามของการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 13 และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 3 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 3 -14 ธ.ค.50 ที่ผ่านมา ซึ่งก่อให้เกิดแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาในระดับโลกอย่างจริงจัง

ทว่ายังต้องมีการหารือถึงความชัดเจนร่วมกันต่อไป เพื่อสรุปผลความร่วมมือ โดยเฉพาะในด้านการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้แล้วเสร็จภายในปลายปี 2552 ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก และก่อนพิธีสารเกียวโตจะหมดอายุลงในปี 2555 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า

คณะทำงานอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ยูเอ็นเอฟซีซีซี) ผู้จัดงานตั้งเป้าหมายของการประชุมไว้คือ การออกแบบข้อตกลงที่จะลดหรือชะลอการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศภายใน 10-15 ปี และต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างฮวบฮาบในปี 2593 โดยมีข้อแม้ว่าต้องตั้งอยู่บนแนวทางที่ปฏิบัติได้จริงและยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย อีกทั้งยังต้องบูรณาการแผนการทำงานทั้งหมดให้กลายเหลือเพียงแผนเดียว

อีโว เดอ โบร์ (Yvo De Boer) เลขาธิการยูเอ็นเอฟซีซีซี กล่าวว่า สิ่งที่กลุ่มทำงานเฉพาะเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวภายใต้กรอบอนุสัญญา (Ad hoc Working Group on Long-term Cooperative Action under the Convention) และกลุ่มทำงานเฉพาะเพื่อขยายผลข้อตกลงกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วภายใต้พิธีสารเกียวโต (Ad hoc Working Group on further Commitments for Annex I Parties under the Kyoto Protocol) คือการตั้งเป้าที่จะไปถึงได้ในอนาคต

รวมถึงการสำรวจระดับความตั้งใจจริงของประเทศอุตสาหกรรมที่พยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดทั้งการตรวจสอบว่าระดับไหนที่ประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถทำได้จริงซึ่งวัดและพิสูจน์ได้ โดยนำมาซึ่งเม็ดเงินตอบแทน รวมถึงการมุ่งเน้นไปยังมาตรการเพื่อการปรับตัวที่จะมีขึ้นในอนาคต

สำหรับข้อตกลงในพิธีสารเกียวโตได้เรียกร้องให้มีการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงเฉลี่ย 5% เมื่อถึงปี 2555 เมื่อเทียบกับปีฐานคือปี 2533 โดยหลายประเทศนำไปปฏิบัติตามด้วยดี เช่น ญี่ปุ่น และยุโรปตอนใต้บางประเทศ ส่วนแคนาดาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ตระหนักถึงปัญหาและดำเนินการตามแบบฉบับของตัวเอง

นอกจากนั้นอียูยังเสนอเพิ่มตัวเลขในการประชุมที่กำลังดำเนินอยู่ให้เป็น 25-40% ในปี 2563 ด้วย หนึ่งในข้อเสนอของอียูยังรวมถึงการสนับสนุนให้ชาติกำลังพัฒนาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบฮวบฮาบรวดเร็วซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าตามที่เซอร์ นิโคลัส สเติร์น (Nicolas Stern) อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกเสนอไว้

ทว่าอลัน ออกซ์ลีย์ (Alan Oxley) ประธานกลุ่มเวิร์ลด์ โกร์ธ (World Growth) ได้หยิบงานวิจัยอีกชิ้นของ ศ.วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ (William Nordhaus) จากมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกาที่ชี้ว่าแนวคิดดังกล่าวผิด 100% และจะซ้ำเติมปัญหาความยากจนในประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีนและอินเดียด้วย

อีกความพยายามล่าสุดของยูเอ็นยังเป็นการกำหนดบทลงโทษแก่ผู้ที่ฝ่าฝืนข้อตกลงให้รุนแรงขึ้น จากแต่เดิมที่ผู้ละเมิดพิธีสารเกียวโตอาจถูกกีดกันในการค้าคาร์บอนเครดิตเท่านั้น อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ที่พยายามเหนี่ยวรั้งพิธีสารเกียวโตไว้ และชี้แจงว่ามีต้นทุนมากเกินไป ก็เรียกร้องมาโดยตลอดให้มาตรการดังกล่าวมีผลต่อประเทศที่โตเร็วอย่างจีน อินเดีย และบราซิลด้วย ซึ่งรัฐบาลแคนาดาเห็นด้วยกับจุดยืนนี้

"โดยส่วนตัว ผมคิดว่าการลงโทษทางจิตใจจะมีความสำคัญกว่าการลงโทษทางกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลจะขาดความเชื่อถือ หากหนังสือพิมพ์พาดหัวว่าพวกเขาล้มเหลวในการปฏิบัติตามพิธีสารเกียวโต" เดอ โบร์ เผยถึงเหตุผลที่พิธีสารไม่มีบทลงโทษใดๆ ชัดเจนนัก

ประธานยูเอ็นเอฟซีซี เผยอีกว่า เขายังต้องการทราบด้วยว่าประเทศร่ำรวยจะมีอะไรเป็นเครื่องมือที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตก่อนที่พวกเขาจะตกปากรับคำว่าจะลดได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมกลุ่มทำงานเฉพาะของพิธีสารเกียวโตถึงเน้นย้ำแต่แรกถึงวิธีการไปถึงเป้าหมายทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

ขณะที่หัวข้ออื่นๆ ที่มีการพูดคุยในการประชุม เจ้าหน้าที่ยูเอ็นรายหนึ่งประมาณเล่นๆ ว่า การเดินทางจากทั่วทุกสารทิศเพื่อร่วมประชุมครั้งนี้ของผู้ร่วมประชุมได้ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 4,181 ตันคาร์บอน การโดยสารเครื่องบินจึงเป็นตัวการอย่างหนึ่งของการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำคัญ แต่ยังไม่มีการพูดถึงในพิธีสารเกียวโต แต่มีข้อเสนอว่าควรจะกำหนดลงในพันธะสัญญาครั้งใหม่หลังพิธีสารเกียวโตสิ้นสุดลงด้วย

"การบินและการขนส่งทางเรือเป็นแหล่งใหญ่มากของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และพวกมันยังโตเร็วมากด้วย" เดวิด โดนิเกอร์ (David Doniger) หัวหน้าฝ่ายนโยบายสภาพภูมิอากาศของสภาความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติสหรัฐฯ ประจำมหานครนิวยอร์กกล่าว

เขาเสริมว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้หากจะปล่อยไว้โดยไร้การควบคุม อย่างการเดินทางทางอากาศที่เป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2-4% ของทั้งโลก ยิ่งไปกว่านั้นจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าในอีก 12 ปีข้างหน้า

บิล แฮร์ (Bill Hare) ผอ.นโยบายภูมิอากาศกรีนพีซ สนับสนุนการควมคุบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการบินของเหล่าประเทศร่ำรวยลงในข้อตกลงฉบับใหม่ และชี้ว่าประเทศผู้ขายพลังงานเองก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ

"ถ้าคุณอยากจะเป็นศูนย์การบิน ดังนั้นแล้วก็จะมีค่าใช้จ่ายของคาร์บอนเกิดขึ้นด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาเครื่องยนต์และยานบินที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น"

แฮร์ ชี้ว่า ภายใต้พิธีสารเกียวโต องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) และองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (ไอเอ็มโอ) ยังมีแผนที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งก่อนหน้านี้ พวกเขาไม่ได้ทำอะไรเลย อีกทั้งมีบางประเทศที่พยายามผลักดันประเด็นนี้ออกจากการพิจารณาของยูเอ็น

ต่างจากสหภาพยุโรป (อียู) ได้พูดถึงวิธีการยึดตัวผู้ประกอบการเป็นหลัก ซึ่งมองว่าธุรกิจการบินจะต้องรับผิดชอบการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นี้ หรือจะซื้อเป็นคาร์บอนเครดิตจากอุตสาหกรรมอื่นมาทดแทนก็ได้

ขณะที่ทอม บอลแลนไทน์ (Tom Ballantyne) นักวิเคราะห์จากนิตยสารโอเรียนเอเวียชัน (Orient Aviation) กล่าวว่าความคิดนี้ของอียูได้รับการต่อต้านอย่างมากจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเขาไม่เห็นความจำเป็นของการยอมตามข้อตกลงใหม่หลังพิธีสารเกียวโตอย่างแนบแน่น โดยธุรกิจการบินต่างทราบดีถึงปัญหาที่กำลังประสบ แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจเป็นหนึ่งเดียวกับการดำเนินการใดๆ กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในตอนนี้

"สิ่งที่น่ายากและน่าสนใจที่สุดในการประชุมคือประเทศร่ำรวยจะมีความปรารถนาที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2563 แค่ไหน แม้การประชุมนี้จะยังไม่มีการหารือถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ตาม" เดอ โบร์ เสริม ส่วนสิ่งที่น่าติดตามต่อไปในความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เขามองว่าน่าสนใจมากที่จะทราบว่าจะเลือกใช้ปีอะไรเป็นปีฐาน ปีไหนที่ควรยึดเป็นปีที่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด และการตัดสินไปว่าโลกต้องการจะเป็นอย่างไรในกลางศตวรรษนี้

ต่อจากการประชุมที่กรุงเทพฯ กลุ่มทำงานทั้ง 2 กลุ่มของยูเอ็นเอฟซีซีซีจะจัดประชุมย่อยครั้งที่ 28 ณ กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี ในเดือนกรกฎาคม และจะมีการนัดรวมตัวอีกครั้งในเดือนสิงหาคม ก่อนจัดการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 14 และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 4 ในเดือนธันวาคมที่ประเทศโปแลนด์

"การประชุมนี้อาจจะเป็นข้อตกลงนานาชาติที่ซับซ้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมาเพื่อรับประกันว่าทุกอย่างจะได้รับการตกลงในขั้นตอนที่ทุกอย่างยังไม่ได้รับการตกลงจนกว่ามันจะเป็นที่ตกลงถ้วนหน้ากัน ซึ่งผมมั่นใจว่ามันสามารถทำได้" เดอ โบร์ชิงแสดงความมั่นใจตั้งแต่วันแรกของการประชุม

ทั้งนี้หลังจากเห็นท่าทีที่เปลี่ยนไปในเชิงสร้างสรรค์มากขึ้นของบรรดาตัวแทนจากสหรัฐฯ ในการประชุมรอบกรุงเทพฯ ก็ทำให้เขามีความหวังมากขึ้น เดอ โบร์เชื่อว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนบุชซึ่งจะพ้นตำแหน่งในเดือนมกราคมปีหน้าจะเป็นตัวตัดสินและเป็นนิมิตหมายที่ดีของการที่ชาติร่ำรวยจะตัดสินใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทศวรรษหน้าง่ายขึ้น อันจะนำไปสู่การเจรจาวาระต่างๆ ที่ชัดเจนขึ้นต่อไป.
(ภาพจากยูเอ็นเอฟซีซีซี)
(ภาพจากเอเอฟพี)
นายฮาร์แลน วัตสัน (Harlan Watson) ผู้แทนสหรัฐฯ (ภาพจากเอเอฟพี)
กลุ่มกรีนพีซถือป้ายรณรงค์ไม่เอานิวเคลียร์หน้าสถานที่จัดการประชุม ซึ่งพลังงานนิวเคลียร์เป็นตัวเลือกด้านพลังานที่สำคัญที่คาดหมายว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ (ภาพจากเอเอฟพี)
(ภาพจากเอเอฟพี)
นายบัน คี-มูน เปิดการประชุมผ่านวิดีโอเทป (ภาพจากเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น