เพราะสาเหตุใหญ่ของภาวะโลกร้อนมาจากการปล่อยก๊าซก่อเรือนกระจกในภาคพลังงาน ดังนั้นจึงมีตั้งหลายวิธีที่คุณจะช่วยลดอุณหภูมิให้กับโลกได้ด้วยการประหยัดพลังงาน ไม่ว่าจะฮิตอินเทรนด์กับกระเป๋าแบกกระเป๋าผ้าต้าน "โลกร้อน" หันมาใช้บริการขนส่งมวลชน หรือตั้งเครื่องปรับอากาศไว้ที่ 25 องศาเซลเซียส แต่ทางที่ดีปิดแอร์ไปเลยดีกว่า
ทั้งนี้นักวิชาการจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ร่วมกันแปลหนังสือที่มีชื่อเป็นภาษาไทยว่า "ทางเลือกพลังงานเพื่อดับโลกร้อน" (Energy Future's Beyond Carbon) ของนิตยสารไซแอนทิฟิก อเมริกัน (Scientific American) พร้อมกันนี้ได้ร่วมเสวนาหัวข้อเดียวกันภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ประจำปี 2551 ณ ศูนย์การประชุมสิริกิติ์
กว่า 60% ของก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกมาจากการเผาพลาญเชื้อเพลิงในภาคพลังงาน และหากพิจารณาเฉพาะเจาะจงที่ประเทศไทยก็มีตัวเลขที่ไม่แตกต่างกันมากนักนั่นคือ 56% ดังนั้นสารพัดกลวิธีเพื่อประหยัดหลังงานจึงได้รับการชูให้เป็นหนทางกู้วิกฤตภาวะโลกร้อน (Global Warming) อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change)
รศ.ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร ผอ.JGSEE ให้ข้อมูลว่ามีการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ามานานแล้ว โดยเมืองไทยใช้อยู่ในสัดส่วน 20% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดแต่ส่วนใหญ่คือก๊าซธรรมชาติ 60% ซึ่งข้อดีของเชื้อเพลิงชนิดนี้คือมีปริมาณสำรองเยอะและราคาถูก แต่ข้อเสียคือทำให้เกิดมลพิษทางอากาศโดยชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง และยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยปล่อยมากกว่าก๊าซธรรมชาติถึง 2 เท่า
"ทุกหน่วยการใช้พลังงานปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ 1 กิโลกรัม แล้วเราจะไม่ใช้ได้ไหม? ถ่านหินยังมีข้อดีอยู่คือมีสำรองไว้ใช้ 100-200 ปี ขณะที่ก๊าซธรรมชาติในบ้านเราสำรองได้แค่ 20 ปี ส่วนน้ำมันก็เหลือใช้อีก 40 ปีก็จะหมด ที่เหลือก็อยู่ในแหล่งที่นำขึ้นมายาก แต่จะทำอย่างไรกับข้อเสียของถ่านหินซึ่งมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์"
ผู้อำนวยการ JGSEE กล่าวว่ามีทางออก 2 แนวทางคือ ในระยะใกล้ต้องใช้เทคโนโลยีเผาถ่านหินที่ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน ซึ่งอาจจะลดจาก 1 กิโลกรัมต่อหน่วยไฟฟ้า เหลือ 0.8 กิโลกรัม เป็นต้น ทั้งนี้โรงไฟฟ้าใหม่ๆ ที่จะสร้างขึ้นนั้นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ปล่อยคาร์บอนน้อยลง
"อีกแนวทางคือเก็บหรือดักคาร์บอนไดออกไซด์ ต้องหาทางเอาไปเก็บไว้ใต้ดิน ตามบ่อน้ำมันหรือหลุมก๊าซธรรมชาติที่ใช้แล้ว อัดลงไปในรูปของเหลวอย่างถาวร ถ้าทำได้ก็หมดห่วง แต่ตอนนี้ยังเป็นเทคโนโลยีในขั้นทดลอง ก็ฝากความหวังไว้กับการกักเก็บคาร์บอนไว้ใต้ดิน" รศ.ดร.บัณฑิตกล่าว
ส่วนเชื้อเพลิงชีวภาพจะเกิดได้ในเมืองไทยหรือไม่ รศ.ดร.บัณฑิตให้ความเห็นว่าแนวทางที่เป็นไปได้คือนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาหมักเพื่อให้ได้ก๊าซชีวภาพที่นำไปเป็นเชื้อเพลิงได้ แต่ทั้งนี้ในเมืองไทยมีการใช้ก๊าซที่ได้จากการหมักน้ำเสียจากฟาร์มสุกรและโรงงานอุตสาหกรรมอาหารเพื่อผลิตเป็นไฟฟ้าใช้ในระบบของฟาร์มและโรงงานมานานกว่า 20 ปีแล้ว
ขณะที่แนวทางช่วยลดปัญหาโลกร้อนนั้น รศ.ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร ประธานสายสิ่งแวดล้อม JGSEE กล่าวว่า การช่วยลดก๊าซเรือนกระจกเป็นปัญหาที่ทั่วโลกช่วยได้แต่ต้องรู้ที่มา-ที่ไปของก๊าซเรือนกระจกว่ามาจากไหน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงาน โดยระดับโลกคิดเป็น 60% ขณะที่ไทยคิดเป็น 56% ดังนั้นการลดใช้พลังงานจึงเห็นผลได้มากที่สุด
"การลดทำได้ไม่ยาก ปิดไฟที่ไม่จำเป็น ลดใช้ไฟฟ้าลง 1 หน่วยก็ช่วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1 กิโลกรัม การประหยัดไฟเป็นเรื่องใกล้ตัว การใช้ถุงผ้าก็เพื่อลดใช้ถุงพลาสติกซึ่งต้องใช้พลังงานในการผลิต เมื่อใช้ถุงผ้าจึงเป็นเรื่องของการลดใช้พลังงาน" รศ.ดร.สิรินทรเทพกล่าว
ขณะที่ ศ.ดร.สุรพงษ์ จิระรัตนานนท์ อาจารย์ประจำ JGSEE ซึ่งศึกษาทางด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ความเห็นว่าการใช้พลังงานสูงนั้นส่วนหนึ่งมาจากการใช้เครื่องปรับอากาศและการใช้รถยนต์ส่วนตัว ดังนั้นต้องพยายามรณรงค์ให้มีการใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น ลดการใช้เครื่องปรับอากาศซึ่งไม่เพียงแค่ตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 25 องศาเซลเซียส จริงๆ แล้วเครื่องปรับอากาศยิ่งตั้งอุณหภูมิก็ยิ่งประหยัดพลังงานไฟฟ้าแต่ทางที่ดีไม่เปิดเลยดีกว่า
"บ้านที่มีแอร์จะทราบว่า 70% ของพลังงานที่ใช้ในบ้านคือไฟฟ้าในการเปิดแอร์ ดังนั้นปิดไปเลยดีกว่า แล้วพัฒนาระบบที่มาทดแทนแอร์ ทำให้รู้สึกสบายเหมือนกันแต่ใช้พลังงานนอยกว่า หรือสร้างอาคารที่สามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพคือใช้พลังงานน้อยแต่ให้แสงสว่างและทำให้ผู้อยู่ในอาคารรู้สึกสบายได้ ระบบเก่าที่ใช้กันอยู่นั้นเปลืองพลังงานมาก"
ศ.ดร.สุรพงษ์กล่าววและยกตัวอย่างว่าที่มาเลเซียมีตึกที่ใช้พลังงานเพียง 25% ของการใช้ทั่วไป แต่ให้แสงสว่างและให้ผู้อยู่รู้สึกสบายได้ เช่นเดียวกับอาคารที่มีระบบเครื่องปรับอากาศทั่วไป พร้อมแนะว่าการใช้พัดลมในห้องแอร์เมื่อตั้งอุณภูมิจะช่วยให้รู้สึกเย็นสบายได้มากขึ้น แต่หากออกแบบบ้านให้มีฉนวนกันความร้อนดีๆ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศเลย
ด้าน ผศ.ดร.จำนง สรพิพัฒน์ ประธานสายพลังงาน JGSEE สรุปทิ้งท้ายว่าการจะช่วยลดปัญหาโลกร้อนนั้นต้องคิดจากตัวเองก่อน เข้าใจในบริบทของโลกแล้วทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้เช่นเดียวกับคำภาษิตที่ว่า Think global, act local
สำหรับหนังสือทางเลือกพลังงานเพื่อดับโลกร้อนจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วี วิชช์ ในเครืออี ไอสแควร์ ผู้สนใจซื้อในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติติดต่อที่บูท I05 โซนเพลนารี่ฮอลล์