xs
xsm
sm
md
lg

ผวา! อนาคต กทม.อีก 20-30 ปี น้ำท่วม-ภัยพิบัติถี่ นักวิชาการชี้ตั้งรับไร้ทิศทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการชี้อีก 20-30 ปีข้างหน้า กทม.เกิดภัยพิบัติถี่ขึ้น-น้ำท่วม กทม.มากขึ้นหากยังไม่ช่วยกันลดโลกร้อน เผยแผนรับมือโลกร้อน กทม.ที่ยังไร้ทิศทางมองอะไรง่ายเกินไปแถมใช้การจัดการแบบแยกส่วนทั้งที่มีองค์ความรู้เยอะ

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 28 พ.ค.ที่สโมสรกองทัพบก ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดการสัมมนาว่าด้วยแผนปฏิบัติการลดปัญหาภาวะโลกร้อนของกทม. พ.ศ.2550-2555 โดยมีเครือข่ายพันธมิตร 36 องค์กร ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการเข้าร่วมกว่า 200 คน

นางบรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวในการเปิดการสัมมนาว่า ปัจจุบันสภาวะอากาศในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เนื่องจากปัญหาโลกร้อน เห็นได้จากปีนี้นี้มีฤดูร้อนเพียงเดือนเดียว คือกลางเดือน มี.ค.-กลางเดือน เม.ย. หลังจากนั้นเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้กทม.ต้องปรับแผนการขุดลอกท่อให้เสร็จในเดือนพ.ค. จากกำหนดเดิมต้องเสร็จ ก.ค. ซึ่งฝนที่ตกในกทม.ส่วนใหญ่จะตกเป็นหย่อมๆ แต่ละจุดจะตกในปริมาณมาก แต่ตกไม่นาน นอกจากนี้ กทม.ได้ร่วมกับมูลนิธิคลินตัน ในการปรับปรุงอาคารรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะนี้กทม.ได้จัดทำแบบบ้านประหยัดพลังงาน ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค. จากนั้นจะเชิญชวนประชาชนและผู้ประกอบการมาร่วมกันพิจารณาแบบบ้าน หลังจากนั้นสามารถนำแบบบ้านนี้ไปขออนุญาตก่อสร้างได้เลย

ด้านดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลก แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาระหว่าง กทม.และนักวิชาการด้านต่างๆ สรุปแผนการลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ 5 ด้าน ดำเนินการใน 5 ปี (2550-2555) และตั้งเป้าลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 15% โดยสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ กทม.นี้ หากปล่อยให้กิจกรรมต่างๆ เป็นไปและขยายตัวตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันโดยที่ไม่ดำเนินการใดๆ นั้น เป็นที่คาดการณ์ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2555 จะสูงถึง 48.69 ล้านตัน ขณะที่ปัจจุบัน กทม.มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก44 ล้านตัน หาก กทม.ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ที่ได้กำหนดขึ้นมาสำเร็จจะทำให้ภายในปี 2555 สามารถลดก๊าซเรือนกระจกเหลือเพียง 38.94 ล้านตัดหรือ 20% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต

ดร.อานนท์ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนปฏิบัติการดังกล่าวมี ดังนี้ 1.แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบการขนส่งมวลชนและการปรับปรุงระบบจราจร ถือว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด คือ เกินกว่าครึ่งของระบบทั้งหมด ประมาณ 20 ล้านตัน/ปี หากไม่ทำอะไรเลยจะทำให้เพิ่มขึ้น 25 ล้านตันในปี 2555 และหากทำตามมาตรการที่วางไว้จะลดลง 19.77 ล้านตัน 2.แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงทางเลือก จากข้อมูลในช่วงปี 2547-2550 พบว่าสัดส่วนของการใช้เชื้อเพลิง พลังงานทางเลือก เช่น แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซลยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งปัจจุบันปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในกทม.ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 21.18 ล้านตัน/ปี ขณะที่มีการใช้พลังงานทางเลือก 10 ล้านลิตร สามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 แสนตัน/ปี ดังนั้นเป้าหมายจึงจำเป็นต้องรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานทางเลือก เช่น เอทานอล ไบโอดีเซล แก๊สโซฮอล์ เป็นต้น หากดำเนินการตามมาตรการที่วางไว้ภายใน 5 ปี เพิ่มการใช้พลังงานทางเลือกให้ได้ 100 ล้านลิตร จะลดก๊าซลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0.61 ล้านตัน

ดร.อานนท์ กล่าวว่า 3.แผนปฏิบัติการด้านการปรับปรุงการใช้พลังงานไฟฟ้าในอาคาร ปัจจุบันพบว่าการใช้ไฟฟ้าในอาคารและบ้านเรือนต่างๆ เป็นสาเหตุสำคัญในการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก โดยพบว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 15 ล้านตัน/ปี โดยปี 2550 มีการใช้ไฟฟ้า 29,000 กิโลวัตต์ หากเราไม่ทำอะไรเลยในปี 2555 จะมีการใช้ไฟฟ้ากว่า 31,000 กิโลวัตต์/ปี ทำให้การผลิตไฟฟ้าต้องเพิ่มสูงขึ้น หรือเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านตัน 4.แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการขยะ ซึ่งปัจจุบันนี้ กทม.มีปริมาณขยะ 8,300 ตัน/วัน คิดเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ล้านตัน/ปี ในปี 2555 ต้องลดให้ได้ 7,000 ตัน/วัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงเหลือ 900,000 ตัน/ปี และ 5.แผนปฏิบัติการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปัจจุบันในพื้นที่กทม. มีต้นไม้ขนาดใหญ่กว่า 30 ล้านต้น แบ่งเป็นที่กทม.รับผิดชอบ 3 ล้านต้น และหน่วยงานอื่นๆ 27 ล้านต้น ตามแผนปฏิบัติการภายใน 5 ปี จะต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้อีก 23 ล้านต้น คือกทม.6 ล้านต้น และหน่วยงานอื่นๆ 47 ล้านต้น ทั้งนี้ต้นไม้เพียง 1 ต้นสามารถดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 8-10 กิโลกรัม/ตัน/ปี

“ผมอยากเสนอให้ กทม.จัดตั้งองค์กรขึ้นมาแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนโดยเฉพาะเห็นว่าปัจจุบันนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดที่ดูแลการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างชัดเจน มีเพียงสำนักสิ่งแวดล้อมของ กทม.เท่านั้น ขณะเดียวกันควรมีกระบวนการตัวชี้วัดมาประเมินผลการดำเนินการเพราะกทม.มีการทำงานร่วมกันกับองค์กรต่างๆและที่สำคัญเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบความคืบหน้าว่ามาตรการแต่ละด้านสัมฤทธิผลมากน้อยเพียงใด ” ดร.อานนท์ กล่าว

ดร.อานนท์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า แม้จะมีแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนแล้วแต่หากคนไทยรวมถึงทั่วโลกไม่ร่วมกันแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังก็จะทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงเกินกว่า 600 ppm ใน 20-30 ปีข้างหน้า ซึ่ง กทม.จะเกิดภัยพิบัติถี่มากขึ้นโดยเฉพาะพายุที่มาจากทะเลจีนใต้ การเปลี่ยนแปลงทางลมมรสุมแปรปรวนมากขึ้น ซึ่ง กทม.มีปัญหาในเรื่องเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำก็จะยิ่งทำให้ประสบปัญหาภาวะจมน้ำ แต่ทั้งนี้ไม่ได้เป็นการจมแบบถาวรเพราะฝนจะตกหนักเป็นครั้งคราว แม้บางช่วงที่ฝนจะตกหนักเกินกว่าที่ กทม.จะรับมือได้คือเกิน 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่อุณหภูมิและระดับน้ำทะเลยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะปกติจะมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ทั้งนี้ ส่วนตัวรู้สึกกังวลเรื่องเตรียมการรับมือของ กทม.เพราะตนเห็นว่า กทม.ยังมองปัญหาแบบสะเปะสะปะ มองอะไรแบบง่ายเกินไปทั้งที่เรามีความรู้พื้นฐานมากแต่กลับมองแบบแยกส่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น