xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภาห่วง! โลกร้อนทำคนไทยเป็นโรคประสาทมากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกแพทยสภาชี้โลกร้อนจะทำให้คนไทยป่วยเป็นโรคประสาทเพิ่มขึ้น พร้อมโรคที่มาจากสัตว์อย่างไข้สมองอักเสบจากค้างคาว โรคท้องร่วงและอหิวาต์ที่มากับน้ำท่วม ด้านนักวิชาการ ม.มหิดล ปลงปัญหาโลกร้อนสายเกินแก้แล้ว ดีที่สุดทำได้เพียงเตรียมร่างกายให้พร้อม ส่วน กทม.เผยพอใจผลการรณรงค์ลดโลกร้อนตลอดปีที่ผ่านมา สร้างกระแสถุงผ้าแทนถุงพลาสติก

สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท) จัดการประชุมวิชาการประจำปี พ.ศ.2550 เรื่อง "ภาวะโลกร้อน" ขึ้นเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 51 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพฯ โดยมี 25 องค์กรสมาชิกด้านวิชาการและวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นักวิชาการภาครัฐ เอกชน ตลอดจนนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมฟังการบรรยายกว่า 300 คน

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวในหัวข้อโรคภัยที่จะติดตามมากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า เมื่ออุณหภูมิโดยรวมของภูมิอากาศสูงขึ้นจะทำให้ผู้คนเสี่ยงต่อการเกิดโรคประสาทได้มากขึ้นด้วยหากอุณหภูมิภายนอกสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของร่างกายที่ 37.5 องศาเซลเซียส โดยกลุ่มคนจนจะได้รับผลกระทบมากกว่าคนรวย เพราะผู้มีฐานะดีย่อมหลีกเลี่ยงไปอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นด้วยการติดตั้งเครื่องปรับอากาศได้ อย่างไรก็ตามวิธีง่ายๆ ที่ช่วยบรรเทาได้คือ การดื่มน้ำในปริมาณที่มากพอเพื่อช่วยระบายความร้อนจากร่างกาย

นอกจากนี้แล้ว นายกแพทยสภา กล่าวด้วยว่า เมื่ออุณหภูมิโดยรวมที่สูงขึ้นยังชักนำให้เกิดการระบาดของโรคมาลาเรียในวงกว้างด้วย เช่นในทวีปยุโรปที่ปกติจะไม่มีการระบาดของโรค แต่เมื่ออากาศร้อนขึ้น โรคก็แพร่กระจายได้กว้างขวางขึ้น ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเองจะมีปัญหาตามเขตป่าเขาที่มีแหล่งน้ำที่ใสสะอาดเท่านั้น แต่ในเขตเมืองจะไม่มีการระบาดแน่นอนเพราะยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะของโรคมาลาเรียจะไม่สามารถอยู่ในแหล่งน้ำที่มีความสกปรกมากในเขตตัวเมืองได้

ขณะที่โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสนิปาห์ที่มีค้างคาวเป็นพาหะซึ่งพบการระบาดมาก่อนหน้านี้ในประเทศมาเลเซียก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่จะพบการระบาดในเขตเมืองของประเทศไทย หากผลไม้ในเขตป่าเขาที่เป็นแหล่งอาศัยของค้างคาวมีจำนวนลดลง ทำให้ค้างคาวต้องเข้ามาหากินใกล้ตัวเมืองมากขึ้น โดยจากงานวิจัย ค้างคาวในประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสนิปาห์ จึงเชื่อได้ว่าสามารถติดเชื้อดังกล่าวได้ และอาจแพร่กระจายโรคไปยังคนที่อาศัยในเขตเทือกเขาจนทำให้เสียชีวิตแล้ว แต่ยังไม่มีรายงานยืนยันใดๆ ยืนยันออกมา

ศ.นพ.สมศักดิ์ บอกด้วยว่า ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่ติดตามมากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นและการเกิดน้ำท่วม ทำให้ผู้คนมีอาการของโรคทางเดินอาหารอย่างท้องเสีย ท้องร่วง การระบาดของอหิวาตกโรค และยังจะทำให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ซึ่งเป็นพาหะของโรคอื่นๆ เช่น ไข้เลือดออก เป็นต้น

ทั้งนี้ ในการประชุมยังมีการแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับการรับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อนด้วย โดย ผศ.ดร.จิรพล สินธุนาวา นักวิชาการจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า การป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเวลานี้ถือว่าสายจนสุดมือเอื้อมไปกว่า 15 ปีแล้ว ซึ่ง 30 ปีก่อนได้มีการรณรงค์ให้ตระหนักและร่วมกันป้องกันปัญหามาครั้งหนึ่ง เช่น การงดใส่สูท การใช้เครื่องปรับอากาศอย่างประหยัด หรือแม้แต่การขับรถอย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับจากสังคม

อย่างไรก็ดี เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกประมาณร้อยละ 1 ของทั้งโลกก็ไม่สามารถแก้ไขใดๆ ได้แล้ว เพราะอีกร้อยละ 99 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่พ้นขอบเขตที่ไทยจะเข้าไปจัดการได้ แม้ว่าไทยจะพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการหันไปใช้พลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ตาม

ผศ.ดร.จิรพล ยังชี้ด้วยว่า ปัจจุบันชั้นบรรยากาศของไทยมีความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 384 ส่วนจากล้านส่วน (พีพีเอ็ม) แล้ว ซึ่งห่างจากจุดวิกฤติที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ระบุไว้ที่ระดับความเข้มข้น 450 พีพีเอ็มเพียงประมาณ 60 พีพีเอ็มเท่านั้น

ขณะที่รายงานจากองค์การบริหารการบินอวกาศาสหรัฐฯ (นาซา) รายงานว่า จุดวิกฤติที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจริงๆ อาจไม่สูงถึง 450 พีพีเอ็ม แต่อยู่ที่ความเข้มข้นเพียง 350 พีพีเอ็มเท่านั้น โดยหลายประเทศเริ่มซ้อมรับมือกับปัญหาและมีการรายงานสถานะการแตกตัวของน้ำแข็งขั้วโลกเหนือทุกต้นชั่วโมง หรืออย่างในประเทศอังกฤษที่มีการซ้อมอพยพคนออกจากรุงลอนดอน และหมู่เกาะมัลดีฟที่มีการถมเกาะให้สูงขึ้น 4 เมตร

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.จิรพล ชี้ว่า แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นแล้ว แต่สังคมไทยก็ยังคิดว่าตัวเองปลอดภัยและนิ่งนอนใจอยู่ โดยขาดทั้งผู้นำและสื่อมวลชนที่เป็นตัวนำสังคมได้ตระหนักและเกิดการเรียนรู้ แถมบางครั้งการเสนอข่าวของสื่อแทนที่จะสร้างความตระหนักกลับจะสร้างความตระหนกขึ้นแทน ทางรอดที่จะเตรียมรับมือกับผลกระทบได้ดีที่สุดคือการเตรียมร่างกายให้แข็งแรงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ส่วนผลความพึงพอใจต่อมาตรการลดปัญหาภาวะโลกร้อนที่กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเกือบ 1 ปี ตั้งแต่การลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ เมื่อ 9 พ.ค.2550 ซึ่งทำให้เกิดโครงการรณรงค์ต่างๆ ตามมา อาทิ การถือฤกษ์วันที่ 9 ของทุกเดือนเพื่อรณรงค์ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดโลกร้อน เช่น การรณรงค์ใช้ถุงผ้าจ่ายตลาดแทนการใช้ถุงพลาสติก การรณรงค์ปลูกต้นไม้ และการรณรงค์ใช้หลอดตะเกียบ ฯลฯ

นางสุธิศา พรเพิ่มพูน นักวิชาการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การรณรงค์ดังกล่าวได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และจุดประกายให้คนหันมาสนใจปัญหาโลกร้อนมากขึ้น เช่น เกิดกระแสการหันมาใช้ถุงผ้าอย่างแพร่หลายของห้างร้านเอกชน หน่วยงานรัฐ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ซึ่ง 9 ม.ค.51 ที่ผ่านมา ยังได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการไบโอดีเซลเพื่อสังคมไทยสู่เศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากห้างสรรพสินค้าต่างๆ ตลอดจนตลาดสดทั่วกรุงเทพฯ อีกด้วย

ขณะเดียวกัน นางสุธิศา ก็ยอมรับว่า ยังมีคนบางกลุ่มที่จะไม่สนใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลยก็ทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ กับคนกลุ่มนี้
 
ส่วนที่มีคนมองว่ามาตรการต่างๆ ของกรุงเทพมหานครที่ใช้รับมือกับปัญหานี้เป็นการกระทำแบบไฟไหม้ฟาง นักวิชาการสิ่งแวดล้อมรายนี้ชี้ว่าไม่อยากให้มองเช่นนั้น แต่อยากให้มองว่าทุกการรณรงค์ที่ทำไปจะเป็นการจุดประกายให้ประชาชนนำกลับไปปฏิบัติร่วมกันมากกว่า เพราะหากกรุงเทพมหานครไม่ริเริ่มการรณรงค์ใดๆ เลยก็ย่อมจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพียงแต่อย่าให้ทุกอย่างจบลงเมื่อกิจกรรมรรรงค์จบลงไปเท่านั้น

นอกจากนั้น จากการที่กรุงเทพมหานครได้ออกแผนปฏิบัติการว่าด้วยการลดปัญหาภาวะโลกร้อนระยะ 5 ปี (พ.ศ.2550 -2555) โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกลง 15 % นางสุธิศา เชื่อว่า แม้กรุงเทพมหานครจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่แล้ว แผนดังกล่าวก็จะคงอยู่ต่อไปแน่นอน เนื่องจากเป็นแผนที่ดี ต้องทำ และเป็นเสมือนสัญญาที่ไทยมีต่อนานาชาติด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น