ในรอบปี 2550 ภายใต้การบริหารงานกรุงเทพมหานคร (กทม.) ของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ เมืองกรุงคนปัจจุบันที่เหลือระยะเวลาการทำงานในตำแหน่งไม่ถึง 1 ปีต่อจากนี้ กลับไม่หวือหวาเหมือนยุคแรกๆ ที่อาสาเข้ามาทำงานรับใช้ประชาชนคนกรุงเทพฯ
งานที่ประกาศไว้เป็นนโยบายสำคัญก็ยังไม่สำเร็จสะเด็ดน้ำเสียทีเดียว โดยเฉพาะอภิมหาเมกะโปรเจกต์ อย่างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสไปฝั่งธนบุรี และรถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ที อย่างไรก็ตาม ยังพอที่จะมีเรื่องที่น่ายินดีให้กับคนกรุงได้บ้างกับเสาชิงช้าต้นใหม่ที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานประกอบพิธีฉลองเสาชิงช้า ในวันที่ 12 ก.ย.
ย้อนหลังไปปลายปี 2547 กทม.ได้ตรวจพบเสาชิงช้ามีสภาพทรุดโทรมเนื้อไม้ผุกร่อนจนอยู่ในขั้นวิกฤต จึงได้ตัดสินใจบูรณะซ่อมแซมและหาไม้สำคัญมาทดแทนเสาชิงช้าชุดเดิมโดยด่วน ซึ่งได้รับความร่วมมือด้วยดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งในเดือนพฤษภาคมปีต่อมาจึงได้ทำพิธีบวงสรวงเพื่อขอพลีไม้สักทอง 6 ต้นจากเมืองแพร่เพื่อนำไม้สำคัญจากป่ามาสู่เมือง จากนั้นจึงได้เข้าสู่กระบวนการต่างๆ จนสำเร็จเสร็จสิ้น กลายเป็นเสาชิงช้าชุดใหม่ที่ประกอบพิธีบวงสรวงติดตั้งแทนชุดเดิมที่ได้รื้อถอนออกไป โดยนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์กาญจนาภิเษก จ.ปทุมธานี
แต่ที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นการที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเป็นองค์ประธานประกอบพิธีฉลองเสาชิงช้าในวันที่ 12 ก.ย.2550 ซึ่งวันนั้นได้มีคลื่นมหาชนจากทั่วทุกสารทิศที่พร้อมใจกันสวมใส่เสื้อเหลืองตราสัญลักษณ์ร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ จำนวนมาก โดยขณะที่รถยนต์พระที่นั่งแล่นผ่านเหล่าพสกนิกรต่างเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้องด้วยความจงรักภักดี จนกลายเป็นภาพที่ประทับใจของปวงพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ...
หลังจากที่ตอกเสาเข็มเดินหน้าโครงการรถเมล์ด่วนพิเศษไปเมื่อช่วงกลางปี 2550 ดูเหมือนว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะราบรื่นดี แม้จะมีเสียงบอกว่าบีอาร์ทีสายแรก ช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ ไม่ประสบความสำเร็จแน่นอน และที่สร้างก็เพราะกระแสการเมืองมันแรง จากฟากผู้ว่าฯ รฟม. แต่ กทม.ก็หาได้หวั่นไหวไม่ แถมยังตอกกลับได้สุดลิ่มทิ่มประตู ทว่า ไปๆ มาๆ กลับสะดุดขาตัวเองโดยที่ไม่มีใครทำอะไรเมื่อไม่มีเอกชนรายได้มายื่นซองประกวดราคาทั้งๆ ที่มาขอรับเอกสารประมูลถึง 18 ราย ทำให้ประกวดราคาครั้งแรกต้องล้มเลิกไปเหตุเพราะวงเงินจัดซื้อตัวรถต่ำเกินทั้ง 18 รายจึงส่ายหน้าหนี
เรื่องนี้ทำเอา กทม.ต้องตั้งหลักใหม่ แต่ยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการต่อ ไม่ล้มเลิกแน่นอน!!
...การประกวดราคาครั้งที่ 2 ก็เริ่มขึ้นบีอาร์ทีมีหวังอีกครั้งเมื่อเอกชน 2 รายใหม่ร่วมประกวดราคาในทีโออาร์เดิม ซึ่งดูเหมือนฟ้าจะเป็นใจให้ กทม.สุดท้ายก็ได้ผู้รับเหมาจัดหาตัวรถเจ้าปัญหาบีอาร์ทีซะที ก็ได้แต่หวังว่าคงไม่ต้องสะดุดขาตัวเองอีกครั้งและตั้งมานั่งปวดเฮดอีกรอบ!!
ส่วนอภิมหาโปรเจกต์รถไฟฟ้าไปฝั่งธนฯที่จนป่านนี้ก็ยังเปิดให้บริการกับชาวกรุงไม่ได้เพราะติดปัญหาระบบอาณัติสัญญาณว่าจะใช้ของอัลคาเทล หรือซีเมนส์ ดี แต่ในที่สุดตาอยู่อย่าง บ.บอมบาดิเอร์ ประเทศเยอรมนี กลับคาบปลามันชิ้นนี้ไปได้ด้วยการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษเพราะบีทีเอสซีจ้างเอกชนรายนี้เปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณใหม่ของรถไฟฟ้าบีทีเอส กทม.จึงหลีกไม่พ้นที่จะต้องใช้เอกชนรายเดียวกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเชื่อมต่อสัญญาณเดินรถ ก็ได้แต่หวังว่ารถไฟฟ้าสายนี้จะเปิดให้ประชาชนใช้ได้ในปีหน้าจริงๆ?...
โครงการจัดซื้อรถ-เรือ และอุปกรณ์ดับเพลิงของ กทม.มูลค่า 6,687 ล้านบาท ที่จนป่านนี้ก็ยังหาบทสรุปไม่ได้ซักทีมิหนำซ้ำยังต้องจ่ายเงินให้กับ บ.สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ ไปถึง 2 งวดกว่าพันล้านบาทแต่ก็ยังไม่มีปัญญานำสินค้ามาใช้ได้เพราะ กทม.ประกาศชัดจะไม่ตรวจรับจนกว่าคดีนี้จะสิ้นสุด!!
ส่วนการยกเลิกสัญญาการจัดซื้อนั้นยังยกเลิกไม่ได้ เพราะทั้ง อสส.และ คตส.ต่างยืนยันความสมบูรณ์ของสัญญาขณะที่การหาตัวผู้กระทำผิด แม้ คตส.ชุดใหญ่มีมติเห็นเห็นชอบแจ้งข้อกล่าวหา 5 ราย ได้แก่ นายโภคิน พลกุล อดีต มท.1 นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มท. นายสมศักดิ์ คุณเงิน อดีตผู้ช่วยเลขานุการ รมว.มท. นายสมัคร สุนทรเวช อดีต ผว.กทม และพล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีต ผอ.สปภ.กทม.ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ล็อกสเปกบริษัทที่ขายสินค้า ฝ่าฝืนมติ ครม. กำหนดราคาไว้ล่วงหน้า สูงเกินจริง จนก่อให้เกิดความเสียหาย 1,900 ล้านบาท
ล่าสุด คณะอนุฯ คตส.ที่มีนายนาม ยิ้มแย้ม เป็นประธานหลังจากที่ชุดแรกลาออกไปก็ชี้มูลความผิดมาที่ คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน อดีตปลัด กทม.อีกคน ส่วนผู้ว่าฯ กทม.อย่างนายอภิรักษ์นั้นจะเป็นรายที่ 7 หรือไม่คงต้องรอดูกันต่อไปเพราะทาง คตส.ชุดใหญ่สั่งคณะอนุฯคตส.ตรวจสอบประเด็นการเปิด L/C เพิ่มเติมซึ่งกรณีนี้ “อภิรักษ์” ถึงกับตั้งทีมที่ปรึกษาทางกฎหมายที่ช่วยคดียุบพรรคมาดูเลยทีเดียว และกรณี L/C อีกเช่นกันที่ทำให้อดีตผู้บริหารฝ่ายประจำสูงสุดของ กทม.กับผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการเมืองต้องปืนเกลียวกันอีกครั้ง...
เอาเป็นว่ามหากาพย์อย่างคดีรถดับเพลิงคงต้องฉาวโฉ่ไปอีกนาน เพราะคตส.อาจถูกยุบหากไทยรักไทยในคราบพลังประชาชนเป็นรัฐบาลใหม่เรื่องทุกอย่างอาจพลิกผันได้ในชั่วข้ามคืน..!?
ในปี 2550 เกิดเหตุแผ่นดินไหวหลายครั้งทั้งในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศไทย ซึ่งหลายครั้งได้ส่งผลสะเทือนมาถึงกรุงเทพมหานคร เนื่องจากพื้นดินกทม.เป็นดินอ่อน ได้ส่งผลทำให้เกิดความตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตึกสูง 10 ชั้นขึ้นไปที่สร้างก่อน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2540 เพราะยังไม่มีการออกแบบให้รับแรงสั่นสะเทือนขนาดนี้ได้
ทั้งนี้ ทุกฝ่ายได้พยายามผลักดันกทม.และจังหวัดปริมณฑลให้เป็นพื้นที่ที่ต้องควบคุมการก่อสร้างอาคารที่ต้องออกแบบให้รับแรงสั่นสะเทือนเหมือน 10 จังหวัดก่อนหน้านี้ โดยต้องเร่งประกาศเป็นกฎกระทรวงมหาดไทยให้ได้ในเร็วๆ นี้
แต่สิ่งที่รุนแรงและมีปัญหาหนักกว่าเรื่องแผ่นดินไหวเห็นจะหนีไม่พ้น “แฟลตดินแดง” ที่กำลังได้รับความสนใจจากคนทั่วบ้านทั่วเมืองว่าจะทุบหรือไม่ทุบอาคารแฟลตดินแดง 1-8 และอาคาร 21-32 เพราะไม่มีความปลอดภัยต่อการอยู่อาศัยหลังจากที่สถาบันเอไอทีรายงานว่าเสี่ยงถล่มจึงกลายเป็นข่าวเด่นขึ้นมาทันทีเพราะก่อนหน้านี้ก็มีข่าวจะทุบแฟลตดินแดงมาโดยตลอดแต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ทุบซักที...
สุดท้ายหลังจากที่ยื้อกันไปยื้อกันมา ระหว่างการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กับชาวบ้านกลุ่มผู้คัดค้านทุบแฟลตบอร์ด กคช.มีมติเห็นพ้องให้ทุบแฟลตดังกล่าวถึงแม้จะมีรายงาน 3 องค์กรด้านวิศวกรรม บอกว่าซ่อมได้ แต่ท้ายที่สุด กคช.ก็ไม่เอาด้วยแถมยังพ่วงทุบอาคาร 9-20 ไปด้วยรวมทุบ 32 อาคารโดยจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นที่อยู่อาศัยหลายระดับ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ส่วนชาวแฟลตเปิด 4 แนวทางทั้งให้อยู่ที่เดิม-ย้ายชั่วคราวจ่ายเดือนละ 3 พัน- ย้ายถาวรจ่าย 2.5 แสน-นำแฟลตแลกบ้านเอื้ออาทร แต่เห็นที่หนังม้วนนี้จะต้องดูกันอีกนานเพราะอีกไม่กี่วันก็จะได้รัฐบาลชุดใหม่แล้ว.0.มติที่เคยมีอาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
ภาวะโลกร้อนกลายเป็นวาระร้อนแรงที่กทม.ได้ให้ความสำคัญหลังจากที่สหประชาชาติ (UN) และอีกหลายสถาบันศึกษาพบว่าเมืองที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลทั่วโลกกำลังเผชิญอันตรายจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและภัยพิบัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งเมืองที่มีความเสี่ยง หนึ่งในนั้นก็คือกรุงเทพฯ..
ขณะที่ กทม.เองก็เป็นมหานครที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกือบ 40 ล้านตันต่อปี ถือว่าได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ทั่วโลก เหตุจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ไฟฟ้า ขยะ และน้ำเสีย เพราะตัวการเหล่านี้จะทำให้ กทม.พบกับนานาโรคระบาด น้ำเค็มลุกเข้าพื้นที่ขาดแคลนน้ำจืดเพราะน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย เกิดเอลนินโญถี่ขึ้น และอีกสารพันปัญหาจากภาวะโลกร้อนที่ กทม.จะได้รับในอนาคตอันใกล้นี้
ดังนั้น กทม.จึงออกมาตีฆ้องร้องป่าวทั่วบ้านทั่วเมืองชวนประชาชนร่วมมือลดโลกร้อนที่ปัจจุบันกลายเป็นวาระของชาติและของโลก โหมจัดกิจกรรมรณรงค์ต่างรูปแบบแต่จุดประสงค์เดียวทุกวันที่ 9 ของเดือนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทั้งแคมเปญเปลี่ยนหลอดไส้เป็นหลอดตะเกียบ ปลูกต้นไม้ ตั้งจุดคัดแยกขยะ ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติกที่ปลุกกระแสให้ใครหลายคนหันมาใช้ถุงผ้าจนกลายเป็นแฟชั่นถุงผ้าลายต่างๆตามมาทั่วกรุง รวมถึงลงนามปฏิญญาลดปัญหาภาวะโลกร้อนกับ 35 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทำแผนปฏิบัติการลดโลกร้อน ตลอดจนแถลงการณ์ร่วมกับสุดยอดผู้นำเมืองด้านสภาพอากาศในการประชุมที่นิวยอร์ก ถิ่นลุงแซมเพื่อร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจก...
ขณะที่นักวิชาการทั้งไทยและเทศต่างประสานเสียงว่าอีก 50-80 ปี หรืออย่างน้อย 8 ปี น้ำจะท่วม กทม.เพราะผลพวงจากโลกร้อน ซึ่งนักวิชาการเหล่านี้ต่างเสนอให้รีบสร้างเขื่อนปิดปากอ่าว 100-200 กม. และยังได้แก้มลิงเก็บกักน้ำตามแนวพระราชดำริพ่อแห่งแผ่นดินที่จะช่วยป้องกันน้ำท่วมในหลายจังหวัดไม่เฉพาะแต่ กทม.
เรียกว่าสร้างครั้งเดียวได้ประโยชน์หลายอย่าง แต่ก็ไม่รู้ว่าอีกกี่สิบปีเขื่อนมูลค่าแสนล้านจะเกิดขึ้นเพราะหน้าน้ำทีก็ตีปี๊ปทีสงสัยคงต้องรอให้น้ำท่วมทั้ง กทม.ก่อนถึงคิดได้กระมัง ซึ่งก็คงเหมือนกับการสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่มีพระราชประสงค์ให้ช่วยกันคืนความสวยงามให้เจ้าพระยาดั่งเช่นในอดีต ซึ่ง กทม.ได้ร่วมกับ 100 ภาคีประกาศเจตนารมณ์ช่วยกันอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา
...ก็ได้แต่หวังว่าทุกคนทุกฝ่ายจะช่วยกันให้แม่น้ำสายหลักของคนไทยสายนี้กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็วไว แถมยังช่วยลดภาวะโลกร้อนที่มาจากน้ำเสียให้กับ กทม.ได้อีกทาง...