xs
xsm
sm
md
lg

ความเจ็บปวดของคนอีสาน เมื่อรัฐเปลี่ยนน้ำเป็นสินค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากอดีตจวบถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่าคนอีสานมีภูมิปัญญาใน “การจัดการน้ำ” ได้อย่างเป็นระบบ แม้ว่าสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย และดินชั้นล่างเป็นดินร่วนปนดินเหนียว ทำให้อุ้มน้ำและเก็บความชื้นได้น้อย พอถึงฤดูฝนน้ำจึงหลากและไหลลงสู่แหล่งน้ำได้เร็ว จึงเป็นที่มาของในการคิดค้นวิธีการในการจัดการน้ำเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตในลักษณะต่างๆ เช่น ระบบการจัดการน้ำในรูปของฝายดิน ลำไส้ไก่ เหมืองนา และบาราย เพื่อใช้ในการเกษตร การใช้ระหัดวิดน้ำ เพื่อส่งน้ำเข้าสู่แปลงนาที่ใช้ต้นทุนต่ำและไม่ต้องใช้น้ำมัน เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตามการจัดการน้ำด้วยภูมิปัญญาของคนอีสานกำลังถูกทำลาย และถูกลดความสำคัญลงด้วยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐ อาทิ การขุดลอกคูคลอง การทำฝายคอนกรีต รวมถึงการสร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำ…

นโยบายการจัดการน้ำที่ผ่านมาของภาครัฐ ล้วนขาดการวิเคราะห์สภาพทางภูมิศาสตร์ ขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและออกแบบโครงการของชุมชน ทำให้โครงการส่วนใหญ่ของรัฐไม่สามารถตอบสนองและใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง หนำซ้ำยังก่อให้เกิดผลกระทบขนาดใหญ่ต่อระบบนิเวศและระบบชุมชนของคนอีสานเป็นอย่างมาก เช่น โครงการอีสานเขียว, โครงการโขงชีมูล เป็นต้น

ปัจจุบันนี้หน่วยงานรัฐไม่เคยประเมินผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงต่อชุมชน จากนโยบายและโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐในอีสาน แต่ส่วนใหญ่ก็ยังยึดแนวนโยบายเดิมๆ และหน่วยงานที่จัดการทรัพยากรน้ำก็มีความซ้ำซ้อนกันอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น โครงการขุดลอกลำพะเนียง ในจังหวัดหนองบัวลำภูที่มีทั้งกรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำ, หน่วยงานจังหวัดรับผิดชอบโครงการ แต่เมื่อเกิดปัญหาก็หาผู้รับผิดชอบยาก

และเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นสำคัญคือ ร่าง พ.ร.บ.น้ำแห่งชาติ กฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนอีสาน !!!

ภาครัฐที่เป็นหน่วยงานในการดูแล จัดการ อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรน้ำ เห็นว่า ในปี 2549 เกิดภาวะน้ำท่วมขนาดใหญ่ ส่งผลกระทบและความขัดแย้งระหว่างคนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพฯ เพราะการผันน้ำเข้าท่วมที่ทำกินของชาวบ้านในชนบทเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงอย่างมาก ประกอบกับปัญหาการแย่งน้ำในภาคตะวันออกระหว่างชาวบ้านและภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ทำให้กรมทรัพยากรน้ำ ได้เสนอให้เรื่องน้ำ เป็นวาระแห่งชาติที่จะต้องให้ความสำคัญ

โดยเสนอให้มีการออกพระราชบัญญัติน้ำ (พ.ร.บ.น้ำ) ตั้งแต่ปี 2545 เพื่อเป็นกฎหมายหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในประเทศ ซึ่งถูกประชาชนจำนวนมากคัดค้าน เพราะขาดการมีส่วนร่วมและอำนาจหน้าที่ที่แท้จริงของประชาชนในการจัดการทรัพยากรน้ำ

นอกจากนี้ภายในลุ่มน้ำในภาคอีสานก็จะต้องมีการวางระบบเพื่อรองรับการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำอีกเช่นกัน ภายใต้แผนการผันน้ำในระยะที่ 2 ของโครงการ โขง ชี มูลเดิม เพียงแต่เปลี่ยนรูปไปเป็นโครงการผันน้ำระหว่างประเทศลาวกับไทยเท่านั้นเอง

“ความสุขคนอีสาน บนพื้นฐานการจัดการทรัพยากรน้ำ” จึงกลายเป็นประเด็นที่ได้ถูกหยิบยกมาร่วมแลกเปลี่ยนในงานสร้างสุขภาคอีสาน ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียงสู่สังคมอยู่ดีมีสุข” ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดมหาสารคาม โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเจ้าภาพร่วมกับภาคีสร้างเสริมสุขภาพภาคอีสาน 19 จังหวัด เพื่อร่วมกันเสนอรูปธรรมและประสบการณ์ข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ปัญหาที่จะนำไปสู่การสร้างสุขของคนอีสานภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน โดยนำตัวอย่างการจัดการน้ำของชาวลำพะเนียงมาเป็นกรณีศึกษา

ลำพะเนียง เป็นลุ่มน้ำใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญมากต่อชาวหนองบัวลำภู มีระบบนิเวศหลากหลายเหมาะสมกับการอยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลายชนิด

ความสุขของคนลุ่มน้ำลำพะเนียงคือ การจัดการน้ำด้วยฝายดิน มีระบบการส่งน้ำด้วยเหมืองนาและรางน้ำ เป็นการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับคนทุกคนอย่างเหมาะสมและเท่าเทียมกันของคนที่มาช่วยกันสร้างฝายดิน เป็นการจัดการน้ำที่คำนึงถึงความสำคัญของระบบนิเวศและใช้ความแตกต่างของระบบนิเวศเป็นเครื่องมือในการจัดการ ดัดแปลงธรรมชาติให้น้อยที่สุด สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและคนต่างชุมชน ในลักษณะของคนที่มีนาติดกันแม้จะอยู่ต่างบ้านก็ตาม ทำให้เกิดความสามัคคีทั้งคนในหมู่บ้านและระหว่างหมู่บ้าน

อำพัน บู่สุข ชาวบ้านตำแย หมู่ 3 ต.โพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู กล่าวว่า ลำพะเนียงไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนักเพราะไม่มีในแผนที่ เดิมคือผาเนียงแล้วค่อยเพี้ยนไปเป็นลำพะเนียง คือเดิมยอดห้วยอยู่ที่ผาเนียง ไหลลงมาจาก อ.นากลาง ผ่าน อ.นาด้วง จ.เลย ระยะทางความยาว 150 กม. วิถีชีวิตแต่ก่อนมีความสุขเพราะได้อาศัยธรรมชาติ ซึ่งพืชผักต่างๆที่อยู่บนริมฝั่งห้วยบริเวณใกล้เคียง ผักตามธรรมชาติที่ชาวบ้านหาเก็บได้ง่าย ไม่เป็นพิษเป็นภัย ปลอดสารพิษ ชาวบ้านพึ่งพาอาศัยมาโดยตลอด

“หลายสิ่งหลายอย่างของลำพะเนียงได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่ก่อนใช้ระหัดน้ำแต่ปั้มใช้ได้เฉพาะบุคคล เมื่อไม่ทั่วถึงก็จับกลุ่มกันทำฝายดิน กักเก็บน้ำไว้รวมกัน 30-40 คนลงทุนกัน 400-500 บาท และใช้แรงงานเจ้าของเอง ทีนี้ระหัดก็เลิกใช้ไปโดยปริยาย เพราะฝายดินใช้ได้ทั้งหน้าแล้งและหน้าฝน และสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ ปลูกพืชผักต่างๆในฤดูแล้ง ก่อให้เกิดรายได้ เสริมช่วงฤดูแล้ง ฤดูฝนก็ทำนา ทำมาเรื่อยๆ ก็ได้รับประโยชน์ดีจากการทำฝายดินถึง 300-400 ไร่ 1000 ไร่ก็มี แล้วแต่พื้นที่กับทำเลที่สามารถระบายน้ำออกไปได้ ผ่านนาคนข้างบนสู่นาคนข้างล่าง ในการระบายน้ำมีความสุข มีชีวิตที่ดีในการพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ แล้วก็เป็นป่า พันธุ์ปลาหลากหลายชนิดหากินก็ง่าย” อำพันกล่าว

เมื่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของภาครัฐเข้ามา ความสุขของคนลุ่มน้ำพะเนียงก็เริ่มจะหมดไปด้วย นั่นคือ โครงการขุดลอกห้วยลำพะเนียง ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาของรัฐที่ต้องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งในจังหวัดหนองบัวลำภู ภายใต้ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความยากจนของจังหวัด

ทั้งนี้ความเป็นมาโครงการภาครัฐระบุถึงสภาพปัญหาว่า พื้นที่หนองบัวลำภูมีลักษณะภูมิประเทศทั่วไป เป็นที่ราบสูง บางส่วนเป็นพื้นที่ราบสูงสลับที่ราบต่ำ ในฤดูฝนน้ำจะหลากไหลเอ่อท่วมพื้นที่ราบที่อยู่ติดกับลำห้วย  จนเกิดความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนทุกปี โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำลำพะเนียง ซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่มีพื้นที่ใหญ่เกือบ 50% ของจังหวัด ประกอบกับสภาพลุ่มน้ำยาวแต่แคบ มีลำน้ำสาขาสายสั้นๆ มากมาย ทำให้น้ำหลากจากลำน้ำสาขาไหลลงลำน้ำหลักอย่างรวดเร็วและมีปริมาณมาก ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 6 อำเภอ 39 ตำบล ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกเสียหายประมาณ 142,690 ไร่ต่อปี และเพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้รับการเยียวยาแก้ไข จ.หนองบัวลำภูจึงเสนอรัฐบาลให้มีการขุดลอกห้วยลำพะเนียงดังกล่าว

อำพันเล่าถึงผลกระทบว่า “การพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียง ก็มีลำดับมาจาก ฝายดิน ฝายซีเมนต์ ขุดลอกลูกใหม่ โครงการหนึ่งราคาประมาณ 30 ล้าน ทำเป็นฝาย พอหน้าฝนกลายเป็นฝายน้ำล้นหน้าแล้งเป็นฝายน้ำลอด ใช้การใช้งานไม่ได้ เพราะว่าฝาปิดน้ำไม่ชิดพื้น น้ำจึงลอด และยามหน้าแล้งน้ำก็ไม่มี หน้าฝนก็เป็นฝายน้ำล้นหลากออกมาเกิดน้ำท่วมนาประชาชน ยามจะกักเก็บน้ำไว้ใช้ ก็ลอดออกไปหมด เป็นฝายน้ำลอด ยามหน้าแล้งก็คือเก่า (เหมือนเดิม) ไม่ได้เกิดประโยชน์เลยเงิน 30 ล้าน”

ทั้งนี้โครงการที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีการทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เพราะถือว่าไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่ จึงทำเพียงแค่ศึกษาความเหมาะสมและทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นเท่านั้น...

แม่สุนทร ตรีเดช อายุ 49 ปี ชาวบ้าน ต.หนองสวรรค์ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู เล่าว่า เมื่อปี 2546 ทางราชการเข้ามาติดต่อทางผู้ใหญ่บ้าน ว่าจะมีการขุดลอกลำพะเนียงและมีการทำเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วมตัวเมืองหนองบัวลำภู โดยบอกว่าจะทำตัวฝายบริเวณฝายดินเดิมในเขตที่ดินของแม่สุนทร ตนเองคิดว่า โครงการน่าจะดีมีประโยชน์ เพราะเคยเห็นว่าฝายดินที่เคยทำมาแต่ก่อน ได้ผลดีมีประโยชน์ต่อชาวบ้าน และคิดว่างบประมาณ 28 ล้าน เยอะขนาดนี้ คงมีผลประโยชน์ดีกว่า ทว่า ปัจจุบันแม่สุนทรได้เสียที่ดินไปแล้ว 3 ไร่ เหลือที่ดินเพียง 1 งาน ซึ่งเป็นที่ดินที่มีโฉนด ซึ่งยังไม่ได้รับค่าชดเชย แต่ที่เซ็นยินยอมเพราะอยากได้น้ำและถนนเข้านา กลับกลายเป็นว่าเป็นคนที่เสียที่นามากกว่าคนอื่นในหมู่บ้าน

สพรั่ง ขุลิมนต์ อายุ 50 ปี ราษฎรบ้านธาตุ ต.มิ่งขาม อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งสูญเสียที่ดินเช่นกัน เล่าให้ฟังว่า ช่วงที่นาถูกขุดไปรู้สึกเสียใจมาก เป็นความเจ็บปวดในใจที่สูญเสียที่ดิน ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่ก็พอรู้ว่าหมู่บ้านไหนที่เสียที่ดินและได้รับผลกระทบจากโครงการขุดลอกลำพะเนียงบ้าง ช่วงแรกก็ไปยื่นหนังสือเจ้าหน้าที่ในจังหวัดก็ไม่มีการตอบรับใดๆ กลับมา แม้แต่เจ้าหน้าที่ที่ดินก็บอกว่าไม่ได้หรอก เพราะเซ็นยินยอมยกที่ให้เป็นสาธารณะประโยชน์แล้ว แต่จริงๆ แค่อนุญาตให้มีการขุดลำพะเนียงบริเวณที่นาของตนเท่านั้น ไม่ได้ให้เอาดินมาถมที่นาของชาวบ้าน ไม่ได้บอกว่าจะยกที่ดินให้

ปัจจุบันมีชาวบ้านอีก 200 รายที่เสียที่ดินจากการโครงการขุดลอกลำพะเนียง ได้ร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิ์และมีการฟ้องศาลปกครอง อยู่ในขั้นตอนศาลสั่งให้รังวัดที่ดินก่อน แต่ชาวบ้านบางรายยังไม่มีเงินมารังวัดที่ดิน ทำให้ยังไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งนี้ได้มีชาวบ้าน 2 รายที่ชนะคดีในการฟ้องศาลปกครอง จ.ขอนแก่น เพื่อให้กรมชลประทานจ่ายค่าชดเชยที่ดินให้ชาวบ้าน เช่น กรณีนางประนอม บุญป้อง มีที่ดินจำนวนเนื้อที่ 9 -3-73 ไร่ อยู่ติดลำพะเนียงและสูญเสียที่ดินจำนวน 1 – 3 – 70 ไร่ จากการขุดลอกของโครงการดังกล่าว ได้รับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 154,000 บาท (ตารางวาละ 200บาท) และยังมีชาวบ้านอีกประมาณ 200 ราย ที่อยู่ระหว่างดำเนินการในชั้นศาล นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านอีกหลายหมู่บ้านหลายร้อยราย ที่ยังไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาทางออกจากการสูญเสียที่ดินจากโครงการนี้อย่างไร

ซึ่งเป็นความยุติธรรมที่ชาวบ้านลำพะเนียงได้ร่วมกันออกตามหา และชาวบ้านได้เสนอต่อการแก้ไขปัญหาของลุ่มน้ำลำพะเนียง คือ การเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงใจ...

โดยต้องไม่เอาเปรียบประชาชน การเปิดเผยข้อมูลความจริงของโครงการและการมีส่วนร่วมในการออกแบบโครงการที่จะก่อให้เกิดความเหมาะสมต่อสภาพพื้นที่และการใช้ประโยชน์ของชุมชน และการแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงใจของหน่วยงานราชการที่สร้างปัญหาให้กับชาวบ้าน เพราะชาวบ้านเห็นว่า ระบบจัดการน้ำแบบเดิมที่ชาวบ้านเคยทำคือ การทำฝายดิน หรือฝายคอนกรีตแบบที่น้ำสามารถล้นผ่านไปได้ มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และไม่ควรที่จะขุดลอกลำพะเนียงเพื่อขยายลำน้ำ เพราะทำให้ลำน้ำลึก ฝั่งสูง ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการใช้น้ำของชาวบ้านและไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของชุมชน

นอกจากโครงการพัฒนาจัดการลุ่มน้ำของภาครัฐแล้ว ยังมีชาวลำพะเนียงที่ไม่เห็นด้วย กับ พ.ร.บ. น้ำแห่งชาติ เพราะกฎหมายอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอีสาน !!!

เนื่องจากสถานะของน้ำจะถูกเปลี่ยนเป็นของรัฐในทันทีตามที่กำหนดในมาตรา 6(1) และ 6(2) และรัฐจะมีอำนาจในการจัดการน้ำ 3 รูปแบบคือ 1.รูปแบบการพัฒนาแหล่งน้ำ การผันน้ำ การทำลายสิ่งกีดขวางทางในยามน้ำท่วม 2.รูปแบบในการบริหารจัดการหรือการใช้น้ำ เช่น การขออนุญาตใช้น้ำ และ 3. รูปแบบการกำหนดการใช้ที่ดิน เช่น การกำหนดเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ติดกับแหล่งน้ำสาธารณะได้ เป็นต้น

ผศ.ดร ยรรยงค์ อินทร์ม่วง รองคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ ว่า ชาวบ้านจะเกิดความทุกข์ เพราะการจัดการน้ำของคนอีสานจะหายไป น้ำจะกลายเป็นของรัฐทั้งหมด ซึ่งกฏหมายฉบับนี้เป็นการเลียนแบบจากต่างประเทศซึ่งถูกกดดันโดยฝรั่งเศส และประเทศทางยุโรป ที่ต้องการให้ขายน้ำให้กับโรงงาน เกษตรกรรายย่อยจึงได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะรัฐจะเปลี่ยนน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมมาเป็นเพื่อการพาณิชย์ การที่รัฐบาลแยกน้ำออกจากคนนั้นไม่ใช่วิถีไทย ถ้าให้รัฐเป็นผู้บริหารน้ำนั้น เป็นการแย่งน้ำจากภาคเกษตรให้เป็นภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้เปลี่ยนน้ำให้เป็นสินค้า เช่น มีการขุดสระเพื่อขายน้ำ

“แนวทางแก้ไข คือ ต้องยกมาตรารัฐธรรมนูญมาเลยว่าจะให้ชุมชนมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรอย่างไร ทำรัฐธรรมนูญให้เป็นจริง ต้องให้ประชาชนในพื้นที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการซักค้านพรบ.ฉบับนี้ เพราะชาวบ้านที่จนจะอยู่ไม่ได้เลย ปุ๋ยแพงแล้ว ยาแพงแล้ว น้ำแพงอีก ใช้น้ำกี่ทีเสียเงินทุกครั้งทุกข์แน่นอน ต้องยึดหลักการอยู่ร่วมกับน้ำไม่ใช้เอาน้ำแยกออกจากคน ควรให้สิทธิเป็นสองลักษณะ คือ สิทธิโดยส่วนรวมและสิทธิของปัจเจก เช่น ปัจเจกที่ลำพะเนียงจากเคยมี 10 ไร่แล้วเหลือ 2 ไร่ อะไรอย่างนี้จะทำอย่างไร พรบ.ฉบับนี้ไม่พูดถึงของประชาชนพูดถึงแต่ภาครัฐ และควรให้ทำการศึกษาผลกระทบอย่างเป็นระบบของร่างพรบ.ฉบับนี้ เพราะเป็นกฎหมายมหาชนผู้คนจะทุกข์กัน หลายประเทศใกล้บ้านเรายังไม่มีใครทำ ทำไมไทยถึงทำแปลกมากตรงนี้” ผศ.ดร.ยรรยงค์ กล่าว

รัฐจึงควรทบทวนและยับยั้งนโยบาย กฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนอีสาน คือ ร่าง พ.ร.บ. น้ำแห่งชาติ โดยให้ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการตัดสินใจ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยของชาติ ส่วนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรมุ่งเสริมและพัฒนาความรู้ท้องถิ่นให้มีบทบาทในการอนุรักษ์ฟื้นฟูและใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นคำประกาศเจตนารมณ์ “อีสานสร้างสุข ด้วยวิถีพอเพียง” ของเครือข่ายองค์กรประชาชนอีสานที่ได้ร่วมกันเสนอออกมาสู่ภาครัฐ

เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาสังคมไทยให้มุ่งไปสู่การอยู่ดีมีสุขบนแผ่นดินอีสาน ดังเช่นการจัดการน้ำแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นความสุขที่ดำรงอยู่ในความคิดและชุมชนได้หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เช่น กรณีการจัดการน้ำของชุมชนลุ่มน้ำลำพะเนียง ...




กำลังโหลดความคิดเห็น